ดูประชาธิปไตยด้วย!ดัชนีคอร์รัปชั่นไทยร่วง 25 อันดับอยู่ที่ 101-ป.ป.ช. ผิดหวัง
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เผยดัชนีคอร์รัปชั่นปี’59 ร่วง 25 อันดับอยู่ที่ 101 ได้ 35 คะแนน เทียบปี’58 ได้อันดับ 76 มี 38 คะแนน เลขาฯ ป.ป.ช. เผยปีนี้ใช้ข้อมูลประชาธิปไตยวัดด้วย รับผิดหวัง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น Corruption Perceptions Index (CPI) ประจำปี 2559 โดยประเทศไทยได้คะแนน 35 จาก 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101 จาก 176 ประเทศ ซึ่งเป็นอันดับเดียวกับประเทศฟิลิปินส์ เปรู กาบอง ไนเจอร์ ติมอร์-เลสเต และตรินิแดดและโตเบโก
โดยแยกการให้คะแนนจากแหล่งข้อมูล 8 แหล่งข้อมูล โดยแหล่งข้อมูลที่ประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น คือ WJP ได้ 37 คะแนน จากปีที่แล้ว 26 คะแนน ICRG ได้ 32 คะแนน จากปีที่แล้ว 31คะแนน และ IMD ได้ 44 คะแนน จากปีที่แล้ว 38 คะแนน ขณะที่แหล่งข้อมูลที่ประเทศไทยได้คะแนนลดลงลดลง คือ GI ได้ 22 คะแนน จากปีที่แล้ว 42 คะแนน WEF ได้ 37 คะแนน จากปีที่แล้ว 43 คะแนน PERG ได้ 38 คะแนน จากปีที่แล้ว 42 คะแนน EIU ได้ 37 คะแนน จากปีที่แล้ว 38 คะแนน และแหล่งข้อมูลที่ประเทศไทยได้คะแนนเท่าเดิมคือ BF(BTI) 40 คะแนน นอกจากนั้นในปีนี้ยังมีแหล่งข้อมูลใหม่ที่นำมาใช้วัดใน 4 ประเทศ (ไทย ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ กัมพูชา) คือแหล่ง Varities of Democracy Project ซึ่งวัดคอร์รัปชั่นในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ โดยประเทศไทยได้ 24 คะแนน จาก 100 คะแนน
ขณะที่เมื่อปี 2558 ประเทศไทยได้อันดับที่ 76 โดยมีค่าคะแนน 38 คะแนน ส่วนปี 2557 ได้อันดับที่ 85 มีค่าคะแนน 38 คะแนนเช่นกัน
ทั้งนี้ตามเว็บไซต์องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติระบุว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมาไม่มีประเทศใดได้คะแนนใกล้เต็ม 100 ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุด ประเทศที่ได้อันดับหนึ่งได้เพียง 90 คะแนน ประเทศอันดับสุดท้ายได้ 10 คะแนน ส่วนไทยได้ 35 คะแนน คิดเป็น 2 ใน 3 ของประเทศและดินแดนที่อยู่ในการจัดอันดับมีคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นไม่ถึง 50 คะแนน คะแนนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 43 สะท้อนถึงการทุจริตที่แพร่ระบาดในภาครัฐ ผลคะแนนในการจัดอันดับสะท้อนว่า การทุจริตและความไม่เท่าเทียมเป็นปัจจัยของกันและกันที่ทำให้เกิดวงจรชั่วร้ายระหว่างการทุจริต ความไม่เท่าเทียมในการกระจายอำนาจในสังคม และความไม่เท่าเทียมในการกระจายความมั่งคั่ง สองปัจจัยนี้นำมาซึ่งกระแสผู้นำประชานิยมที่รับปากจะทำลายวงจรชั่วร้ายดังกล่าว แต่ดูเหมือนจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง
ส่วน 10 อันดับแรกในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นปี 2559 ได้แก่ อันดับ 1 นิวซีแลนด์และเดนมาร์ก อันดับ 3 ฟินแลนด์ อันดับ 4 สวีเดน อันดับ 5 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 6 นอร์เวย์ อันดับ 7 สิงคโปร์ อันดับ 8 เนเธอร์แลนด์ อันดับ 9 แคนาดา อันดับ 10 เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก และสหราชอาณาจักร
ทั้งนี้นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ประกาศคะแนนดัชนีการจัดอันดับความโปร่งใส ปี 2559 ที่ประเทศไทย ได้ 35 คะแนน อยู่อันดับที่ 101 ของโลกว่า อยู่ระหว่างพิจารณา เนื่องจากมีข้อมูลที่ใช้ในการจัดอันดับเพิ่มเติมขึ้นมาคือ เรื่องของความเป็นประชาธิปไตย แต่ยังไม่ได้วิเคราะห์ เพียงแต่เห็นอันดับก็ตกใจอยู่เหมือนกันว่าทำไมคะแนนตก ซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้จะได้ดูข้อมูลที่ใช้จัดอันดับแต่ละตัวว่า ส่วนไหนคะแนนเพิ่มหรือตกลงเพราะสาเหตุใด ทั้งนี้ดูจากคะแนนและผลการจัดอันดับที่ออกมา ป.ป.ช.ก็ผิดหวัง เพราะเราคาดการณ์ว่าเราจะได้เกินกว่า 38 คะแนน แต่กลับตกมาที่ 35 คะแนน ก็รู้สึกผิดหวัง โดยต้องกลับไปดูอีกทีว่าเกิดอะไรขึ้นกับการประเมินในครั้งนี้
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ฐานเศรษฐกิจ