จับตาลุ่มน้ำปราณฯ เพชรบุรีน่าห่วง ผอ. GISTHAIเตือนเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน
ผอ. GISTHAI คาด ชุมชนแถบลุ่มน้ำปราณฯ ลุ่มน้ำเพชรบุรี ยังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน วอนหน่วยงานเร่งรัฐประเมินสถาการณ์ เผยข้อมูล แจ้งเตือนอพยพชาวบ้านก่อนเกิดเหตุ
ผศ. ดร.สมบัติ อยู่เมือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [ GISTHAI ] เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ถึงการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงในการเกิดภัยน้ำท่วม ว่า ขณะนี้พายุได้ขยับขึ้นบน ซึ่งนอกจากจากลุ่มน้ำบางสะพาน พื้นที่บริเวณลุ่มน้ำที่เหนือประจวบคีรีขันธ์ อย่างลุ่มน้ำปราณบุรี ลุ่มน้ำเพชรบุรี ซึ่งเพิ่งรับน้ำไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ที่น่าจะต้องระมัดระวังน้ำป่าไหลหลากและน้ำปนตะกอนหลากได้แก่ บ้านโคนมพัฒนา บ้านฟ้าปีทาน บ้านห้วยผึ้ง บ้านบึงนคร และ บ้านเขาเจ้า บ้านท่าวังหิน บ้านท่าทุ่ง
ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวว่า วันนี้เราไม่มีหน่วยงานที่มาคำนวนเลยว่า ปริมาณน้ำจากต้นน้ำแถบเทือกเขาตะนาวศรีมีเท่าไร ความเร็วของน้ำ อ่างเก็บน้ำด้านบนจะเต็มหรือยัง จะปล่อยเมื่อไร หรือรอจะปล่อยพร้อมกัน เหมือนปี 2554 ที่สุดท้ายน้ำลงมาพร้อมกันก็ท่วมใหญ่ เสียหายกันไป ฉะนั้นน้ำในอ่างเก็บน้ำตอนบนก็หนักอยู่เเล้วในเชิงปริมาณน้ำ ถ้าตกหนักเกินอีกสามวันก็อยู่ในขั้นอันตราย
"เพชรบุรีส่วนใหญ่เป็นที่ราบค่อนข้างต่ำมาก การผันน้ำออกสู่ทะเลยิ่งลำบาก คาดการณ์แบบเหลวร้ายว่าหากเกิดวิกฤติขึ้นมา ก็จะรุนแรงกว่าบางสะพานหลายเท่า ผมเข้าใจว่าวันนี้เราต้องมีข้อมูลทันที ว่าข้างล่างเสี่ยงมาก ถ้าโชคดีก็ไม่เป็นไร แต่โชคร้ายขึ้นมาจะทำยังไง เพราะเราไม่เตรียมเลย เขื่อนรับน้ำ ปริมาตรเท่าไร”
ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวอีกว่า วันนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องตั้งสมมติฐาน วิเคราะห์เพื่อลดความเสี่ยง เราจะปล่อยตามยถากรรม ลองผิดลองถูกไปเรื่อยไม่ได้ ยิ่งอันตราย วันนี้เราไม่รู้จักพื้นที่ ว่าส่วนไหนล่อแหลม วันนี้ชาวบ้านต้องรู้ได้แล้วว่าบ้านตัวเองตั้งอยู่บนทางน้ำหรือเปล่า อย่างน้อยก็จะระวังตัวเอง เห็นที่ตั้งของตัวเอง อพยพออกก่อนเกิดเหตุ มีหน่วยงานไหนบ้างที่คำนวนในตอนนี้และได้แจ้งในประชาชนทราบหรือยัง
ทั้งนี้ ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวด้วยว่า เรายังติดกับการทำงานแบบเดิม ที่ไม่ยอมเรียนรู้จากอดีต ไม่พัฒนา มองทุกอย่างเป็นปัญหาเฉพาะกิจ น้ำลด เราก็ลืม และรอให้เกิดใหม่ ซึ่งก็จะวนอยู่อย่างนี้ ซึ่งทั้งหมดก็กลับไปที่ผู้นำ ว่าจะจริงจังแค่ไหนในการลงรายละเอียด ถึงตอนนี้เรายังไม่ทำวอร์รูม(war room) ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้แสดงท่าทีอะไรมากไปกว่าการลงพื้นที่แค่ครั้งเดียว ปล่อยให้ภาคพลเมืองจัดการกันเองเสียมากกว่า รัฐต้องจัดศูนย์กลางข้อมูลได้เเล้วเพื่อลดความเสียหาย ลดความเสี่ยง
“หากถามชาวบ้านว่าระหว่างรอการเอาเงินไปช่วย กับการแจ้งเตือนให้พร้อมในการอพยพรักษาชีวิต ผมเชื่อว่าพวกเขาเลือกอย่างหลังมากกว่า” ผศ.ดร.สมบัติกล่าว.
ขอบคุณภาพประกอบจาก
ศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [ GISTHAI ]