- Home
- Isranews
- ข่าว
- ศาลสั่งจำคุก 6 ปี ซี 9 รพช.รับเงินสด 3 ล.ค่าซื้อเก้าอี้ ผอ.ศูนย์ขอนแก่น ไม่ให้ถูกย้าย
ศาลสั่งจำคุก 6 ปี ซี 9 รพช.รับเงินสด 3 ล.ค่าซื้อเก้าอี้ ผอ.ศูนย์ขอนแก่น ไม่ให้ถูกย้าย
ศาลสั่งจำคุก 6 ปี อดีตซี 9 ผอ.กองการเจ้าหน้าที่ รพช. เรียกรับเงินสด 3 ล. ค่าช่วยซื้อเก้าอี้ ผอ.ศูนย์ขอนแก่นไม่ต้องย้ายเข้าส่วนกลาง เบิกจากแบงก์หิ้วใส่กล่องกระดาษไปจ่ายถึงห้องทำงาน ยุค ‘เฉลิม พรหมเลิศ’ เลขาฯ
ปัญหาการเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการโยกย้ายตำแหน่งในการแวดวงข้าราชการในอดีตถูกเปิดเผยอีกครั้ง ล่าสุด กรณีการเรียกรับเงินของข้าราชการระดับสูงใน สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) กระทรวงมหาดไทย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2558 ศาลอาญามีคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายทวี ทวีวงศ์ จำเลย คดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีนายทวีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทสกลนคร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองเจ้าหน้าที่ (ระดับ 9) สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ก รับเงิน 3 ล้านบาทจาก นายประสิทธิ์ วิไลลักษณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทขอนแก่น เพื่อช่วยเหลือมิให้นายประสิทธิ์ถูกโยกย้ายมารักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกอง ระดับ 8 ในส่วนกลาง ศาลมีคำพิพากษาจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 จำคุก 6 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ นายประสิทธิ์ วิไลลักษณ์ ยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหา นายทวี ทวีวงศ์ ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เรียกรับเงินจากนายประสิทธิ์ และข้าราชการอื่นในสังกัด สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ที่ประสงค์จะได้รับการแต่งตั้งและโยกย้ายตำแหน่ง เพื่อช่วยเหลือให้ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยมี นายประวิทย์ อริยกานนท์ เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติ
1.กรณีกล่าวหา นายทวี ทวีวงศ์ เรียกรับเงินจากผู้ร้องเพื่อช่วยผู้ร้องไม่ต้องย้ายไปประจำในท้องที่จังหวัดอื่น จำนวน 3 ล้านบาท เหตุเกิดวันที่ 18 มี.ค. 2540 เป็นความผิดอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 และมาตรา 157 และเป็นความผิดวินัยร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินคดีอาญา และให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการทางวินัย
2.กรณีกล่าวหา นายทวี ทวีวงศ์ กระทำการเรียกและรับเงินจากผู้ร้อง เพื่อช่วยให้ผู้ร้องเลื่อนตำแหน่งจากตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเร่งรัดพัฒนาชนบทขอนแก่น ระดับ 8 เป็นระดับ 9 กระทำการเรียกและรับเงินจากข้าราชการอื่น เพื่อการโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่ง กระทำการกลั่นแกล้งโยกย้ายผู้ร้องออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเร่งรัดพัฒนาชนบทขอนแก่น และดำเนินการทางวินัยกับผู้ร้อง และกล่าวหานายประวิทย์ อริยกานนท์ ว่าสนับสนุนช่วยเหลือนายทวี ทวีวงศ์ เรียกและรับเงินจากผู้ร้องและข้าราชการอื่น นั้น ไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ที่ปรากฏในคำพิพากษา ระบุว่า มีการเบิกเป็นเงินสดจากธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาวิสุทธิกษัตริย์ นำใส่กล่องกระดาษไปจ่ายที่ห้องทำงานที่สำนักงาน รพช.
คำให้การของผู้เสียหายในชั้น ป.ป.ช. ระบุว่าได้จ่ายเงินให้ข้าราชการระดับสูงบางคนรวม 7 ครั้งเกือบ 30 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคนายเฉลิม พรหมเลิศ เป็นเลขาฯ รพช. นายเฉลิมเคยเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และสมาชิกวุฒิสภา จ.สุราษฎร์ธานี ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 36 ปี ในคดีซื้อบริการจากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพักโทษ
ขณะที่ นายประสิทธิ์เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ได้ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ใน 2 กรณี คือ กรณีเงิน 3 ล้านบาท กับ กรณีซื้อขายตำแหน่ง แต่ ป.ป.ช. ชี้มูลเฉพาะกรณี 3 ล้านบาทกรณีเดียว ทั้งที่ กรณีที่สองคณะอนุกรรมการฯ ป.ป.ช.พบหลักฐานทางการเงินในธนาคารของผู้เกี่ยวข้องมีกระแสเงินหมุนเวียนจำนวนนับร้อยล้านบาท แต่ให้ข้อกล่าวหาตกไป