โชว์หนังสือ กสทช.ถาม‘ปลัดดิจิทัล’ ปมเก็บเงินค่าสัมปทานดาวเทียม-ก่อนถูก ม.44
โชว์หนังสือ กสทช. ถาม ‘ปลัดดิจิทัล’ 2 ครั้ง ปมจัดเก็บค่าสิทธิในสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม 8 ป้องกันรัฐเสียหาย ก่อนถูก ‘บิ๊กตู่’ งัด ม.44 เด้งพ้นเก้าอี้ ไปนั่งผู้ตรวจราชการ สำนักนายกฯ
จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ให้นางทรงพร โกมลสุรเดช พ้นจาก ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแทนนั้น
(อ่านประกอบ : ม.44 เด้ง‘ปลัดดิจิทัล’ ปมขยายไฮสปีดเน็ต 1.5 หมื่นล.-สัมปทานไทยคม 8)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ก่อนหน้าที่นางทรงพร จะถูกคำสั่งหัวหน้า คสช. สั่งย้ายตำแหน่งดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคยทำหนังสือถึงนางทรงพร อย่างน้อย 2 ครั้ง (เท่าที่ตรวจสอบพบ) เกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บค่าสิทธิในเอกสารข่ายงานดาวเทียม และค่าสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ช่วยสื่อสารดาวเทียม ในสัมปทานดาวเทียมไทยคม 8 สรุปได้ ดังนี้
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2559 สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือเรียนปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที ขณะนั้น) ระบุว่า ด้วยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการ กสทช. พิจารณามีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2559 เห็นชอบการเพิ่มเติมบริการโครงข่ายดาวเทียม ตามแผนธุรกิจที่บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เสนอในใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่สาม เลขที่ 1ก/55/002 ซึ่งได้รับใบอนุญาตอยู่เดิม โดยมีอายุการอนุญาตเท่าเดิม กล่าวคือ วันที่ 25 มิ.ย. 2575 ทั้งนี้ สิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมและเคลื่อนความถี่ให้เป็นไปตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักเกษณฑ์ ประกาศ ระเบียบ และคำสั่งที่จะมีขึ้นในอนาคต
สำนักงาน กสทช. ขอเรียนว่า ภายหลังจากการที่บริษัท ไทยคมฯ ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่สาม (เพิ่มเติม) ตามที่ประชุม กทค. แล้ว กสทช. ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว กล่าวคือ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงเงื่อนไขในการอนุญาต ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของบริษัท ไทยคมฯ ให้สอดคล้องกับมติที่ประชุม กทค. ดังกล่าว ตลอดจนการพิจารณาจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ค่าธรรมเนียมการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้เป็นไปตามที่กฏหมายบัญญัติ
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก กทค. เป็นผู้อนุญาตให้สิทธิประกอบกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น โดยมีกระทรวงไอซีที (ขณะนั้น) เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งสิทธิในเอกสารช่วยงานดาวเทียม ในฐานะหน่วยงานอำนวยการของไทย ในสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และเป็นผู้มีอำนาจเห็นชอบให้ผู้ประกอบการดาวเทียมให้นำข่ายงานดาวเทียมไปดำเนินการประสานงานความถี่ข่ายสื่อสารดาวเทียมตามกฎข้อบังคับวิทยุคมนาคมของ ITU เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการข่ายงานดาวเทียมดังกล่าว
“ในการนี้ สำนักงาน กสทช. จึงขอเรียนสอบถามมายังกระทรวงไอซีที เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการจัดเก็บค่าสิทธิในเอกสารข่ายงานดาวเทียม และค่าสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ข่ายสื่อสารดาวเทียมว่า ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ทั้งในส่วนที่เป็นโครงข่ายดาวเทียมสื่อสารตำแหน่งวงโคจรไทยคม 8 และตำแหน่งวงโคจรไทยคม 9 เพื่อรักษาผลประโยชน์และป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่รัฐแล้วหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. ต่อไป” สำนักงาน กสทช. ระบุ
ต่อมา สำนักงาน กสทช. มีหนังสือลงวันที่ 11 มี.ค. 2559 ถึงปลัดกระทรวงไอซีที (ขณะนั้น) อีกครั้ง โดยอ้างถึงหนังสือที่กระทรวงไอซีทีแจ้งข้อมูลการดำเนินการของรัฐบาลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายด้านกิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศ รวมทั้งแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการใช้สิทธิในตำแหน่งวงโคจร และใบอนุญาตให้ใช้ความถี่สำหรับสถานีควบคุมดาวเทียม เพื่อให้คณะกรรมการ กสทช. ใช้ประกอบการพิจารณาการอนุญาตให้บริษัท ไทยคมฯ นำดาวเทียมไทยคม 8 ขึ้นสู่วงโคจรนั้น
สำนักงาน กสทช. เรียนว่า ข้อสอบถามที่สำนักงาน กสทช. ได้แจ้งต่อกระทรวงไอซีที เกี่ยวกับการจัดเก็บค่าสิทธิในเอกสารข่ายงานดาวเทียม และค่าสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ข่ายดาวเทียมนั้น ได้หมายความรวมถึงกรณีดาวเทียมไทยคม 8 ด้วยแล้ว ดังนั้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และป้องกันมิให้เกิดความเสียหาย จึงขอให้กระทรวงไอซีทีเร่งรัดพิจารณาดำเนินการกำหนดแนวทางการจัดเก็บค่าสิทธิในเอกสารข่ายงานดาวเทียม และค่าสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ข่ายสื่อสารดาวเทียมด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกเหนือจากหนังสือจาก กสทช. แล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ยังได้ทำหนังสือถึง รมว.ไอซีที (ขณะนั้น) ให้ตรวจสอบกรณีสำนักงานปลัดกระทรวงไอซีที ทำโครงการว่าจ้างดำเนินการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ไฮสปีดอินเทอร์เน็ต) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มูลค่าประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งถูก สตง. ตรวจสอบพบว่า มีปัญหาหลายประการอีกด้วย
อ่านประกอบ : ชำแหละจุดตายไฮสปีดอินเทอร์เน็ตไอซีทีหมื่นล.ฉบับ สตง.! เร่งรีบ-ส่อสูญเปล่า