หลังโดนม.44! กฤษฎีกาชี้สภาฯวลัยลักษณ์ ตั้ง 'สุเมธ' รก.อธิการฯ ไม่ชอบด้วยกม.
กฤษฎีกาตอบข้อหารือ สกอ. ชี้คำสั่งสภาฯ ม.วลัยลักษณ์ แต่งตั้ง 'สุเมธ แย้มนุ่น' รักษาการอธิการบดี ไม่ชอบด้วยกม. ยกเว้นเจ้าตัวมีคุณบัติถูกต้อง ส่วนประเด็นให้เงินเดือนละ 1.8 แสน เหมาะสม
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isrnews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับคำสั่งสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการแต่งตั้ง นายสุเมธ แย้มนุ่น ให้เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) หารือ
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) พิจารณาแล้วเห็นว่า สภามหาวิทยาลัยไม่มีอํานาจแต่งตั้งนายสุเมธ ซึ่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดีได้ คําสั่งสภามหาวิทยาลัยดังกลาวจึงเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการใดๆ ที่นายสุเมธ ได้กระทำไปในระหว่างที่ดํารงตําแหน่งผู้รักษาการแทนอธิการบดี จึงไม่ได้รับผลกระทบเพราะเหตุ ที่คําสั่งสภามหาวิทยาลัยที่แตงตั้งนายสุเมธฯ ให้เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดีเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ร่วมถึงกรณีที่นายสุเมธฯ ออกคําสั่งแต่งตั้ง ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีและผู้รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีได้
อย่างไรก็ตาม คำสั่งที่สภามหาวิทยาลัยฯ แต่งตั้งนายสุเมธ ให้เป็นผู้รักษาการนั้น มีเหตุสืบเนื่องจากการที่นายกีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดี ได้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งตามกฎหมายได้บัญญัติให้รองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีพ้นจากตําแหน่งด้วย การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนอธิการบดี ดังนั้น หากนายสุเมธ เป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แล้ว การที่สภามหาวิทยาลัยได้มีคําสั่งแต่งตั้งนายสุเมธฯให้เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดียอมเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 23 อธิการบดีและรองอธิการบดีต้องมีคุณสมบัติได้รับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเทาจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทําการสอนมาแล้ว ไม่น้อยกว่าห้าปีในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือมีประสบการณ์ด้านการบริหารมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี)
ส่วนการกำหนดอัตราเงินเดือนให้นายสุเมธ จำนวนเดือนละ 180,000 บาท แม้ว่าสภามหาวิทยาลัยจะไม่อาจใช้อํานาจตามประกาศดังกล่าวในการกําหนดอัตราเงินเดือนให้ผู้รักษาการแทนอธิการบดีได้ แต่เมื่อผู้รักษาการแทนอธิการบดีได้ปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ดํารงตําแหน่งอธิการบดี การกําหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งดังกลาวได้รับค่าตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่ง จึงเป็นการดําเนินการตามหลักการปฏิบัติงานโดยทั่วไป
ดังนั้น เมื่อสภามหาวิทยาลัยมีอํานาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัยตามมาตรา 16, 15 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ฯ สภามหาวิทยาลัย จึงย่อมสามารถใช้อํานาจดังกลาวเพื่อกําหนดอัตราค่าตอบแทนให้ผู้รักษาการแทนอธิการบดีได้เพื่อประโยชน์ ในการบริหารงานของมหาวิทยาลัย สําหรับกรณีตามข้อหารือ เห็นว่า การที่สภามหาวิทยาลัยกําหนดอัตราค่าตอบแทนผู้รักษาการแทนอธิการบดีโดยเทียบเคียงกับอัตราเงินเดือนของอธิการบดี ตามประกาศสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรื่อง บัญชีอัตราเงินเดือนเริ่มต้นและสูงสุดตามคุณวุฒิของพนักงานและลูกจ้างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ฯ นั้น เป็นการกําหนดตามอํานาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติและเป็นไปตามหลักการบริหารงานโดยทั่วไป ดังนั้น การที่สภามหาวิทยาลัยมีมติกําหนดค่าตอบแทนให้นายสุเมธฯ ตามอัตราที่สภามหาวิทยาลัยเห็นว่าเหมาะสมจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อหารือดังกล่าว เป็นผลมาสํานักตรวจสอบพิเศษภาค 14 สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้แจ้งผลการตรวจสอบสืบสวนกรณีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เบิกจ่ายค่าตอบแทนให้นายสุเมธ โดยมิชอบ เนื่องจากขณะเกิดเหตุ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งอธิการบดี ซึ่งตามกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะต้องให้รองอธิการบดีเป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดี แต่นายกสภามหาวิทยาลัย (นายวิจิตร ศรีสอาน) ได้มีคําสั่งแต่งตั้งนายสุเมธ ซึ่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดี โดยมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนเดือนละ 180,000 บาท ต่อมานายสุเมธ ได้มีคําสั่งแต่งตั้งบุคคลต่าง ๆ ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีและผู้รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดี ซึ่งจากพฤติการณ์ดังกลาว น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตและเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์สาธารณะ
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้พิจารณาแล้ว เห็นชอบกับรายงานการตรวจสอบสืบสวนและขอให้ยกเลิกคําสั่งแต่งตั้งนายสุเมธ เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดี และให้แต่งตั้งรองอธิการบดีที่มีอยู่เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดีตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ขณะที่นายสุเมธ ถูกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ ม.44 ระงับการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเดือนม.ค.2559
(อ่านประกอบ : ‘บิ๊กตู่’ใช้ ม.44 ปลด ขรก.-นักการเมืองท้องถิ่นกราวรูด 59 คน-พ่วง 7 บอร์ด สสส.)
ดูความเห็นกฎหมายฉบับเต็ม ที่นี่ http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/GetContent?path=comment/comment2/2559/&file=c2_1359_2559&ext=pdf
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก www.banmuang.co.th