ชง รมว.ไอซีทีเบรกขยายไฮสปีดอินเทอร์เน็ตทั่ว ปท.หมื่นล.-สตง.ชี้เสี่ยงสูญเปล่า
สตง. รุดสอบโครงการขยายไฮสปีดอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศไอซีที ใช้งบ 1.5 หมื่นล้าน ชี้อาจเสี่ยงสูญเปล่า เหตุเร่งรีบทำ ไม่ดำเนินการให้รอบคอบ ใช้ TOR ไม่ผ่านการอนุมัติไปทำประชาพิจารณ์-แก้หลายรอบ แนะทำโครงการนำร่องตามรอย กสทช. ก่อน 2 จังหวัด ชง รมว.ไอซีที ชะลอโครงการแล้ว
จากกรณีสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ทำโครงการว่าจ้างดำเนินการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ไฮสปีดอินเทอร์เน็ต) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มูลค่าประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกำลังถูกจับตามองเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงาน ภายหลังมีผู้ร้องเรียนว่า มีลักษณะการดำเนินงานที่คาดว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเข้ามารับงานนั้น
ล่าสุด แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า ได้เข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานโครงการดังกล่าวแล้ว พบข้อเท็จจริงหลายประการว่า โครงการดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงและมีปัญหาในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในโครงการดังกล่าวสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งควรเป็นงบลงทุนที่ควรต้องมีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ แต่สำนักงานปลัดไอซีทีได้รับอนุมัติงบกลางเมื่อกลางปี 2559 ในหมวดรายจ่ายอื่น ทำให้ต้องเร่งรีบก่อหนี้ผูกพันให้ทันภายในเดือน ก.ย. 2559 เพื่อไม่ให้งบประมาณตกไป ทั้งที่มีกำหนดเวลาโครงการไว้ที่ 12 เดือน จึงเกิดการดำเนินงานอย่างเร่งรีบ อาจทำให้เกิดความไม่รอบคอบได้
นอกจากนี้โครงการดังกล่าวอาจทับซ้อนกับโครงการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ระหว่างปี 2555-2559 ที่ได้จัดตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) ไว้แล้ว เป็นเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 34,806 ล้านบาท (ปัจจุบันมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 323 ล้านบาท ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่สั่งให้ชะลอโครงการ และทำข้อตกลงให้กระทรวงการคลังยืมเงินจากกองทุนจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท คงเหลือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท)
แหล่งข่าว ระบุอีกว่า ขณะเดียวกันการดำเนินตามร่างขอบเขตงาน (TOR) ก็ไม่เป็นตามขั้นตอน เนื่องจากมีการนำ TOR ที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากผู้มีอำนาจไปจัดทำประชาพิจารณ์ ต่อมามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้ง ทำให้ TOR แตกต่างกัน ผลประชาพิจารณ์ที่ได้รับจึงไม่อาจนำมาใช้ในการพิจารณาได้
ส่วนประเด็นการติดตั้งก็พบว่า ในการติดตั้ง Free Wi-Fi หมู่บ้านละ 1 จุด แต่ไม่มีการกำหนดจุดที่แน่นอน อาจส่งผลให้โครงการล่าช้า และมีปัญหาการบริหารสินทรัพย์เหมือนการดำเนินโครงการที่ผ่านมา เช่น โครงการศูนย์การเรียนรู้ ICT หรือการเตือนภัยพิบัติของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นหากยังดำเนินการโครงการนี้โดยไม่มีการทบทวนให้รอบคอบ อาจเกิดปัญหาเช่นโครงการที่ผ่าน ๆ มา ที่สำคัญในการติดตั้งโครงข่ายใยแก้วนำแสง ยังใช้ระบบประมวลผลที่ไม่อ่าจบอกระยะทางการวางโครงข่ายได้อย่างแท้จริง หากหมู่บ้านนั้นอยู่ในหุบเขา หรือพื้นที่ไม่อาจติดตั้งได้ อาจทำให้ต้องลงทุนสูงมาก และอาจไม่มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใดให้บริการเพราะไม่คุ้มค่าในเชิงธุรกิจ และไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
แหล่งข่าว ระบุว่า ดังนั้น สตง. เห็นว่า รมว.ไอซีที ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานปลัดไอซีที ควรสั่งการให้พิจารณาชะลอ และทบทวนความพร้อมของการดำเนินการตามแผนงานโครงการดังกล่าว โดยจัดทำเป็นโครงการนำร่องใน จ.พิษณุโลก และ จ.หนองคาย ที่ กสทช. ได้สำรวจพื้นที่แล้ว เพื่อนำประเด็นปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขที่ได้รับจาก 2 จังหวัดนำร่อง มาพิจารณาปรับใช้ต่อไป แม้จะทำให้ไม่สามารถใช้เงินงบประมาณได้ทันตามกำหนด แต่สามารถใช้เงินจากโครงการของ กสทช. ที่มีเงินคงเหลือกว่า 2 หมื่นล้านบาท มาดำเนินการได้ ซึ่งจะทำให้ กสทช. ในฐานะตัวแทนรัฐได้รับความชอบธรรมในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในระยะถัดไป อันจะทำให้รัฐไม่เสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านโทรคมนาคมโดยทั่วถึงต่อไป
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์กระทรวงไอซีทีเผยแพร่ข่าวว่า นายอุตตม สาวนายน รมว.ไอซีที ระบุถึงกรณีนี้ว่า ความคืบหน้าการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศนั้น การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนอาจล่าช้าบ้างแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อความถูกต้องรัดกุม ได้หารือร่วมกับสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เนื่องจากเป็นงบประมาณนับหมื่นล้านบาท จึงต้องดำเนินการทุกอย่างให้รอบคอบเพื่อความโปร่งใสในทุกขั้นตอน โดยมีการจัดทำร่าง TOR เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการอนุมัติให้ดำเนินการตามกระบวนการจัดจ้างต่อไป ซึ่งเจตนารมณ์ของการดำเนินงานโครงการดังกล่าวนี้เพื่อลดช่องว่างการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการบริการ การศึกษา สาธารณสุข ของประชาชนทั่วประเทศให้เกิดความเท่าเทียมกัน ตั้งเป้าหมายว่าเฟสแรกแล้วเสร็จ 10,000 จุดภายในเดือนธันวาคม 2559 (อ่านประกอบ : http://www.mict.go.th/view/1/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%AF/2049/)
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายอุตตม จากเว็บไซต์ ict