เผยผลสอบ สตง.บี้ กทม.ทบทวนซื้อรถดับเพลิง-ไม่เชื่อส่ง ศอตช.เช็คบิล
เผยหนังสือฉบับเต็ม สตง. ถึง ‘หม่อมสุขุมพันธุ์’ จี้ กทม. ทบทวนการจัดซื้อรถดับเพลิงเล็ก 158 ล้าน พบปัญหาเพียบ วิ่งเข้าซอยขนาดเล็กไม่ได้ ขับเคลื่อนใช้เวลาการเกินมาตรฐานกำหนด ชี้อาจก่อความเสียหายต่องบแผ่นดิน-ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ขอให้ทบทวนโดยเร็ว ไม่ทำตามใน 30 วัน ชงเรื่อง ศตอช.-สตช. ดำเนินการ
จากกรณีกรุงเทพมหานครจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็ก (รถดับเพลิง) จำนวน 20 คัน วงเงินงบประมาณ 158 ล้านบาท (เฉลี่ยคันละประมาณ 7.9 ล้านบาท) ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เบื้องต้นพบว่า มีการยกเลิกการประกวดราคาหลายครั้ง แต่ กทม. ยืนยันดำเนินโครงการนี้ต่อ กระทั่งลงนามในสัญญาซื้อสินค้าจากเอกชนอย่างเป็นทางการโดย สตง. ได้เข้าตรวจสอบโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง และมีหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม. (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร) เพื่อยืนยันผลการตรวจสอบว่า รถกู้ภัยขนาดเล็กดังกล่าวไม่อาจใช้งานได้ตามหลักวัตถุประสงค์ รวมถึงมีการแก้ไขสัญญาที่ทำให้ราชการเสียประโยชน์ จึงขอให้ผู้ว่าฯ กทม. ระงับการดำเนินการดังกล่าว และให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง หากมีพฤติการณ์เข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน และหาตัวผู้รับผิดชอบชดใช้ความเสียหายด้วยนั้น
(อ่านประกอบ : ปัญหาเพียบยังดันทุรังซื้อ! สตง.สั่งเช็คเบิลรถดับเพลิงเล็ก-จี้กทม.ฟันวินัยขรก.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า หนังสือของ สตง. ดังกล่าว มีการระบุรายละเอียดถึงการทดสอบรถดับเพลิงขนาดเล็กดังกล่าว รวมถึงข้อสังเกตจาก สตง. หลายประการ สรุปได้ ดังนี้
กทม. จัดทดสอบประสิทธิภาพรถดังกล่าว ตามคำร้องของ สตง. ในพื้นที่ชุมชนวัดเทพากร ซอยจรัญสนิทวงศ์ 68 รวมทั้งหมด 14 ซอยปรากฏข้อเท็จจริงว่า ความกว้างของตัวรถรวมกระจกด้านข้าง 1.99 เมตร แต่ซอยในพื้นที่ชุมชนดังกล่าว มีความกว้างประมาณ 1.06-1.80 เมตร ทำให้รถดับเพลิงขนาดเล็กไม่สามารถเข้าไปในซอยได้จำนวน 9 แห่ง ส่วนอีก 3 แห่ง รถเข้าไปในซอยไม่สะดวกเนื่องจากมีความกว้างประมาณ 2.03-2.25 เมตร และมีสภาพคับแคบ การขับเคลื่อนไม่สะดวก และมี 1 แห่ง ที่รถไม่สามารถเข้าซอยได้ แม้จะมีความกว้างกว่าตัวรถก็ตาม เนื่องจากขนาดความกว้างในซอยไม่เท่ากัน โดยสามารถเข้าไปได้แค่เพียง 1 แห่งเท่านั้น เนื่องจากมีความกว้างประมาณ 3.20 เมตร ซึ่งรถดับเพลิงทั่วไปก็สามารถเข้าถึงได้เช่นกัน (ดูเอกสารประกอบ)
นอกจากนี้จากการตรวจสอบการขับเคลื่อนรถดับเพลิงขนาดเล็กดังกล่าว ที่ใช้สภาพจำลองเหมือนเกิดเหตุการณ์จริง ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 9 นาที 48 วินาที ความเร็วเฉลี่ย 18 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งใช้เวลาเกินกว่ามาตรฐานกำหนด ตามแผนแบบพัฒนาความปลอดภัยด้านอัคคีภัยแห่งชาติ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2558-2562) ที่กำหนดแนวทางให้ไปถึงจุดเกิดเหตุภายใน 8 นาที
สตง. พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการจัดหารถดับเพลิงขนาดเล็กดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้กับสถานที่เกิดเหตุที่เข้าถึงไม่สะดวก เช่น ตรอกซอยขนาดเล็ก ที่เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน แต่ผลการทดสอบการใช้งานของรถกู้ภัยขนาดเล็กดังกล่าว ที่ชุมชมวัดเทพากร จำนวน 14 แห่ง ปรากฏว่า ไม่สามารถเข้าถึงที่เกิดเหตุได้ตามวัตถุประสงค์ของการจัดหา จำนวน 13 แห่ง ใช้งานได้จริงเพียง 1 แห่ง และผลการทดสอบยังใช้เวลาเกินกว่ามาตรฐานกำหนด
“หาก กทม. ยังจะใช้งานรถกู้ภัยดังกล่าวอีกอาจใช้งานไม่สมประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับเงินงบประมาณแผ่นดิน และไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนในชุมชน ซึ่งเครื่องดับเพลิงแบบหาบหามแรงดันสูง สามารถต่อเชื่อมกับหัวจ่ายน้ำดับเพลิงของการประปานครหลวงที่ กทม. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงขอความร่วมมือในการติดตั้งหัวจ่ายน้ำดับเพลิง (ประปาหัวแดง) ตามโครงการชุมชนปลอดภัยของ กทม. และอาจเพิ่มหัวจ่ายน้ำดับเพลิงในชุมชนให้มากขึ้นในซอยที่มีชุมชนหนาแน่นรถไม่สามารถเข้าถึงได้ ประกอบกับถังเคมีดับเพลิงซึ่งมีในทุกชุมชนอยู่แล้ว น่าจะมีความคุ้มค่ากับการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน” หนังสือดังกล่าว ระบุ
หนังสือดังกล่าว ระบุอีกว่า ดังนั้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ และรักษาไว้ซึ่งวินัยการเงินการคลัง จึงขอให้ กทม. ดำเนินการทบทวนการจัดหารถกู้ภัยขนาดเล็กระยะที่ 1 ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชน และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง นอกจากนี้ให้แจ้งผลการดำเนินการให้ สตง. ทราบภายใน 30 วัน เพื่อประกอบการตรวจสอบว่าด้วย พ.ร.บ.สตง. หากพ้นกำหนดนี้ สตง. จำเป็นต้องแจ้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป (ดูเอกสารประกอบ)
หมายเหตุ : ภาพประกอบรถดับเพลิงขนาดเล็กจาก mthai