ร้อง'อบจ.โคราช'เอื้อนักการเมืองหาปย.เงินสะสมขุดคลองร้อยล.-ปธ.สภาฯโต้ไร้ทุจริต!
ร้อง 'อบจ.โคราช' ท้าทาย 'รบ.คสช.' ฉวยโอกาสถลุงเงินสะสมท้องถิ่น 120 ล้าน ตั้งงบขุดคลอง 5 แสน 240 โครงการรวด เอื้อนักการเมืองจับมือผู้รับเหมา เร่ขายงาน-กินหัวคิว ด้านปธ.สภาฯ ลั่นไม่เป็นความจริง ยันมุ่งทำงานโปร่งใสไร้ทุจริต เพื่อสนองตอบนโยบายรัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ประชาชน
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า นับตั้งแต่ช่วงเดือนม.ค.2559 จนถึงปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา ได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมา เข้ามารับงานซ่อมปรับปรุงถนนลาดยาง จำนวน 9 ราย จำนวน 71 สัญญา รวมวงเงินทั้งสิ้น 181,925,788 บาท ขณะที่ผลการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า ผู้รับเหมาบางราย มีทุนจดทะเบียนแค่ 5 แสนบาท จำนวนมานับสิบสัญญา วงเงินว่าจ้างหลายสิบล้านบาท และมีการลงนามในสัญญาว่าจ้างวันเดียวเป็นสิบโครงการ มีผู้รับเหมาอย่างน้อย 2 แห่ง ผู้ถือหุ้นมีนามสกุลเดียวกัน ขณะที่ผู้รับเหมาบางแห่งก็ปรากฎชื่อ 'เจ้าของ' เป็นกำนัน -ผู้ใหญ่บ้าน ในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาด้วย
(อ่านประกอบ : กำนัน-ผญ.บ้านหุ้นใหญ่! เปิดตัว7ผู้รับเหมาอบจ.โคราช ร่วมแบ่งเค้กงานถนน 181ล.,ผู้รับเหมาทุน4ล.คว้างานถนนอบจ.โคราช 61ล้าน-ลงนามวันเดียว 11 สัญญารวด , ทุน5แสน โกยงาน459ล.!ผู้รับเหมาอบจ.โคราชรายใหม่-ซ่อมถนนวันเดียว10สัญญารวด)
อาจเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการว่าจ้างผู้รับเหมาเข้ามารับงานก่อสร้างกับอบจ.โคราช เท่านั้น เพราะล่าสุดกระบวนการว่าจ้างผู้รับเหมาเข้ามารับงานก่อสร้าง ภายใต้นโยบายของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการนำเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นและช่วยเหลือภัยแล้งแก่ประชาชนในพื้นที่กันดารที่ประสบภัยแล้ง ของ อบจ.นครราชสีมา กำลังถูกร้องเรียนถึงความไม่ชอบมาพากล
เนื่องจากปรากฎข้อมูลว่า อบจ.นครราชสีมา ได้จ่ายขาดเงินสะสมจำนวน 120 ล้านบาท ไปขุดคลองทั้งหมด 240 โครงการ และกำหนดมูลค่างานโครงการไว้เท่ากันทั้งหมดโครงการละ 5 แสนบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมืองท้องถิ่นและผู้รับเหมาในเครือข่ายเข้ามารับงาน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มที่ใช้ชื่อว่าเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ในจ.นครราชสีมา ว่า ในช่วงกลางเดือนพ.ค.2559 ที่ผ่านมา อบจ.นครราชสีมา ได้ทำเรื่องเสนอขออนุมัติใช้จ่ายเงินสะสม จำนวน 120 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ทำโครงการขุดลอกคลอง จำนวน 240 โครงการ โดยทุกโครงการมีมูลค่าโครงการละ 5 แสนบาท เท่ากันทุกโครงการ เบื้องต้นที่ประชุมสภาอบจ.สมัยวิสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 1/2559 วันที่ 17 พ.ค.2559 ได้อนุมัติการดำเนินการตามที่ อบจ.นครราชสีมา เสนอ
ในหนังสือร้องเรียนดังกล่าว ระบุว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ภายหลังจากการประชุมสภาอบจ.สมัยวิสามัญ เสร็จสิ้นลง ในวันที่ 17 พ.ค.2559 โครงการเกือบทุกโครงการที่เสนอมา มีการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง เสร็จเรียบร้อยในช่วงวันที่ 19 พ.ค.2559 ระยะเวลาห่างจากที่สภาฯ อนุมัติ 2 วัน และเริ่มเบิกเงินเกือบทุกโครงการในวันที่ 20 พ.ค.2559 ห่างจากวันทำสัญญาว่าจ้างแค่ 1 วันเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหนังสือร้องเรียน ยังกล่าวอ้างด้วยว่า การจัดทำโครงการเพื่อเสนอขอใช้งบประมาณจ่ายเงินสะสมของ อบจ.นครราชสีมาดังกล่าว เป็นการเปิดช่องให้นักการเมืองท้องถิ่นเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ และท้าทายอำนวจของ คสช. กล่าวคือ งานขุดคลองทั้งหมด ถูกกระจายไปอยู่ในมือของนักการเมืองท้องถิ่น แบ่งกันตามอำเภอต่างๆ คนละประมาณ 2-10 ล้านบาท นักการเมืองคนไหนใกล้ชิดกับ อบจ.นครราชสีมา มากก็จะได้รับงานมาก
"มีนักการเมืองบางรายเข้าไปรับงานเอง เบิกเงินเอง บางรายก็ไปให้ผู้รับเหมาในกลุ่มของตนเองเป็นคนทำ ได้ส่วนแบ่ง 30-50% ของราคางบที่ได้รับ หรือผู้รับเหมาบางรายเมื่อได้งานมาแล้ว ก็นำไปขายคืนให้กับคนใน อบจ.ในราคา 20-30% เพื่อให้นำไปทำมาหากำไรต่ออีกทอดหนึ่ง"
"สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการดำเนินงานโครงการลักษณะนี้ คือ เป็นการทำโครงการแก้ภัยแล้ง ที่ซ้ำซ้อนกับโครงการของอบต.และเทศบาลที่ดำเนินการอยู่แล้ว บางคลองมีการขุดลอกซ้ำที่เดิม บางคลองเดียวกันมีการแบ่งเป็นหลายโครงการ และเมื่อได้ผู้รับเหมาทำงานแล้ว บางโครงการมีการทำงานจริงน้อยมาก เพราะต้องแบ่งหัวคิวหลายต่อ และที่เลวร้ายที่สุดคือบางโครงการไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย แต่เบิกเงินว่าจ้างไปทั้งหมด"
หนังสือร้องเรียนฉบับนี้ ยังย้ำด้วยว่า "จำนวนโครงการขุดลอกคลอง ทำไมจะต้องเท่ากันหมดทุุกโครงการ ชี้ให้เห็นว่าอาจมีความเป็นไปได้สูงที่ต้องการจะให้งบประมาณต่อโครงการ อยู่ที่ไม่เกิน 5 แสนบาท เพื่ออบจ.จะได้ใช้วิธีการตกลงราคา แทนการจัดประกวดราคา ง่ายต่อการหาผู้รับเหมาเข้ามารับงาน"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือร้องเรียนเรื่องการใช้งบประมาณจ่ายขาดเงินสะสมของ อบจ.นครราชสีมาดังกล่าว ถูกส่งมาพร้อมกับ เอกสารประกอบการประชุมสภาฯ อบจ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2559 ระบุสถานที่ประชุม คือห้องประชุม สภาฯ อบจ.นครราชสีมา (สำนักการช่าง ต.มะเริง อ.เมืองนครราชสีมา) ซึ่งมีการแนบสำเนารายละเอียดงานขุดลอกคลอง ตามโครงการบัญชีจ่ายขาดเงินสะสม ประจำปีงบประมาณ 2559 จำนวน 120 ล้านบาท พร้อมรายชื่อโครงการขุดคลอง 240 โครงการ มูลค่างานโครงการละ 5 แสนบาท มาเป็นหลักฐานประกอบด้วย (ดูเอกสารบางส่วนประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามติดต่อ ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายกฯ อบจ.นครราชสีมา เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริง แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่า นายกฯ อยู่ระหว่างการประชุมงาน ไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์
ด้านนายสมบัติ กาญจนวัฒนา ประธานสภาอบจ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า สภาฯ อบจ.นครราชสีมา ได้อนุมัติการใช้งบประมาณจ่ายขาดเงินสะสมของ อบจ.นครราชสีมา จำนวน 120 ล้านบาท เพื่อทำโครงการขุดคลอง 240 โครงการ มูลค่างานโครงการละ 5 แสนบาทจริง แต่ขอยืนยันว่าการดำเนินงานไม่มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ ไม่มีการทุจริตตามที่ถูกร้องเรียนอย่างแน่นอน
"การทำโครงการขุดลอกคลองดังกล่าว เป็นการสนองตอบงานตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเงินสะสมที่มาอยู่ในช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ในช่วงที่มีการอนุมัติงบประมาณ เป็นช่วงที่เกิดปัญหาภัยแล้ง ทาง อบจ.จึงต้องรีบดำเนินการเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ทันที"
เมื่อถามว่า จริงหรือไม่ ที่มีการทำสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาเข้ามารับงานภายใน 2 วัน หลังจากที่สภาฯ อนุมัติ และเริ่มเบิกเงินโครงการ หลังทำสัญญาแค่ 1 วัน
นายสมบัติ ตอบว่า "ไม่จริง เป็นความเข้าใจผิดกัน โครงการที่ใช้เงินสะสม หลังได้รับอนุมัติแล้วต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาอีกไม่ต่ำกว่า 10 วัน ถึงจะเริ่มดำเนินการได้ ส่วนโครงการทำสัญญาจ้างผู้รับเหมาในช่วงนั้น เป็นการดำเนินงานโครงการตามงบข้อบัญญัติที่ทำกันอยู่แล้วและมีหลายส่วน"
เมื่อถามว่า ทำไมต้องกำหนดงบประมาณโครงการขุดลอกคลอง 240 โครงการ ไว้ 5 แสนบาท ทุกโครงการ นายสมบัติ ตอบว่า "เป็นการทำงานเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐ ที่ต้องการความรวดเร็วในการดำเนินงาน โดยเฉพาะขั้นตอนการว่าจ้างผู้รับเหมา (วิธีการตกลงราคาสามารถเรียกผู้รับเหมามาต่อรองและทำสัญญาได้ทันที) ถ้าทำวิธีการอื่นจะล่าช้า เพราะต้องผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะทำงานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ไม่ทัน"
เมื่อถามว่า ปัจจุบัน มีการว่าจ้างเอกชนเข้ามารับงานครบทั้ง 240 โครงการ หรือยัง นายสมบัติ ตอบว่า "เท่าที่ทราบยังไม่ครบ แต่ได้ประมาณ 100 กว่าโครงการแล้ว"
เมื่อถามว่า มีผู้รับเหมาในเครือข่ายของ สจ.ในพื้นที่ เข้ามารับงานด้วยหรือไม่ นายสมบัติ ตอบว่า "ไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมด แต่ในข้อเท็จจริง สจ.ส่วนใหญ่ เขาก็รู้จักผู้รับเหมาหลายรายอยู่แล้ว และถ้าผู้รับเหมาที่เขารู้จักเข้ามารับงานด้วย ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องผิดปกติอะไร คงไปว่าเขาไม่ได้ บางคนเขาก็มีธุรกิจของเขา จะห้ามเขาเลยมันก็ไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องดูคือผลงานที่ออกมามีประสิทธิภาพ ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้หรือไม่"
"ผมขอยืนยันว่า โครงการนี้ อบจ.โคราช เราทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันเรามีหมู่บ้านมากกว่า 3 พันแห่ง ยังเกินจำนวนโครงการ ที่มีอยู่ 200 กว่าโครงการ แต่มีเท่าไรเราก็ต้องรีบทำ เพื่อแก้ไขบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชน เพราะในพื้นที่โคราช เสียงของประชาชนในพื้นที่ เป็นเรื่องสำคัญ แค่มีคนเดือนคนเดียวเราก็ต้องรีบช่วยเหลือ" ประธานสภาอบจ.นครราชสีมา ระบุ