'สตง.' สาวไส้สัญญาจีทูจียุค'ปู'! พบตัวแทนบ.ซื้อข้าวจีนแจ้งเลิกกิจการแล้ว
'สตง.' ชำแหละสัญญาระบายข้าวจีทูจี ยุครัฐบาล 'ยิ่งลักษณ์' พบระบบควบคุมมีปัญหาความเสี่ยงเพียบ ผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา ตัวแทนลงนามยกเลิกบริษัทไปแล้ว ทั้งที่ ยังชําระเงินรับมอบข้าวไม่ครบถ้วน จี้ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานด่วน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบการระบายข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2554/55-2556/57 ของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยพบว่า การระบายข้าวด้วยวิธีเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) มีระบบการควบคุม ภายในที่ยังไม่มีความรัดกุม และเพียงพอ จากการตรวจสอบสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐในเทอม Ex-warehouse จํานวน 7 ฉบับปริมาณรวม 18.268 ล้านตัน พบว่า มีความเสี่ยงในการจัดทําสัญญาซื้อขายการส่งมอบข้าวให้กับตัวแทนที่ได้รับมอบอํานาจจากผู้ซื้อการเบิกจ่ายข้าวและการกําหนดคลังสินค้าเพื่อจ่ายข้าวตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขาย
โดยจากการตรวจสอบสถานะนิติบุคคลของบริษัทที่เป็นตัวแทนของผู้ซื้อ จํานวน 4 แห่ง ซึ่งยังดําเนินการชําระเงินและรับมอบข้าวไม่ครบถ้วนตามสัญญาซื้อขาย พบว่า บริษัทที่เป็นตัวแทนของผู้ซื้อจํานวน2 แห่ง ได้เลิกดําเนินกิจการแล้ว โดยบริษัทที่เป็นตัวแทนของ Haikou Liangyunlai Cereals and OilsTrading Co.,Ltd. มีการชําระเงินและรับมอบข้าวแล้วเพียงร้อยละ 5.07 ของปริมาณข้าวตามสัญญาซื้อขาย และบริษัทที่เป็นตัวแทนของ Hainan Land Reclamation Commerce and Trade GroupCo.,Ltd. มีการชําระเงินและรับมอบข้าวแล้วประมาณร้อยละ 78.38 ของปริมาณข้าวตามสัญญาซื้อขาย
ขณะที่จากการตรวจสอบเงื่อนไขสัญญาซื้อขายบางฉบับ พบว่ามีรายละเอียดเงื่อนไขสําคัญในบางรายการแตกต่างจากผลการเจรจาซื้อขายตามที่ประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวได้ให้ความเห็นชอบ กล่าวคือ มีกําหนดเงื่อนไขการส่งออกให้ผู้ซื้อนําข้าวที่ได้รับมอบไปใช้ สําหรับการบริโภคภายในประเทศผู้ซื้อเป็นหลัก และอาจขายหรือบริจาคให้กับประเทศที่สามได้
แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับข้อมูลรายงานการส่งออกข้าวที่ผู้ซื้อรายงานกรมการค้าต่างประเทศภายใต้สัญญาซื้อขายทั้ง 7 ฉบับ จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2557 พบว่า ข้าวที่มีการรับมอบภายใต้สัญญาจํานวนถึง 6 ฉบับ ไม่มีการรายงานการส่งออกไปยังประเทศผู้ซื้อ แต่มีการรายงานการส่งออกไปยังประเทศที่สามเป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นการส่งออกไปยังทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นตลาดข้าวที่สําคัญของประเทศไทยถึงร้อยละ 48.60 ของปริมาณข้าวที่ได้รับมอบและขนย้ายทั้งหมด ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ส่งออกข้าวไทยและการรักษาส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดต่างประเทศ
ขณะที่ กรมการค้าต่างประเทศ ไม่ได้ส่งเอกสารสําคัญแสดงการมอบอํานาจให้ตัวแทนดําเนินการในการรับมอบข้าวแทนของผู้ซื้อให้กับ อคส., อ.ต.ก. โดยจากการตรวจสอบ พบว่า กรมการค้าต่างประเทศมีเพียงหนังสือแจ้งอคส., อ.ต.ก. ให้จ่ายข้าวในคลังสินค้าให้แก่ตัวแทนที่ได้รับมอบอํานาจจากผู้ซื้อโดยไม่มีการจัดส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้งจากผู้ซื้อเช่น หนังสือแต่งตั้งตัวแทนของผู้ซื้อ หนังสือแต่งตั้งผู้แทนนิติบุคคลเพื่อกระทําการแทนบริษัทที่ได้รับแต่งตั้งจากผู้ซื้อ สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน หรือตัวอย่างลายมือชื่อของตัวแทน เพื่อใช้เป็นเอกสารหลักฐานในการยืนยันตัวบุคคลผู้มีอํานาจในการรับมอบและขนย้ายข้าวออกจากคลังสินค้า ทําให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าตัวแทนผู้มารับมอบข้าวเป็นผู้ที่ได้รับมอบอํานาจจริงและถูกต้องหรือไม่
นอกจากนี้ สตง.ยังตรวจสอบพบข้อสังเกตสำคัญ คือ ดอกผลที่เกิดจากการเก็บรักษาเงินรับชําระค่าข้าวจากการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(G to G) ตามโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐบาลยังไม่มีแนวทางดําเนินการนําส่งดอกผลดังกล่าว
จากการตรวจสอบ พบว่ามีดอกผลที่เกิดจากการเก็บรักษาเงินรับชําระค่าข้าวในสมุดบัญชีออมทรัพย์ของกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งยังไม่มีการนําส่งให้กับหน่วยงานใด ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 เป็นเงินประมาณ 85.91 ล้านบาท ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 สําหรับดอกผลที่เกิดขึ้นจากการเก็บรักษาเงินค่าชําระสินค้าตามโครงการ ให้หน่วยงานที่ได้ดําเนินการจําหน่ายสินค้า ได้แก่ อคส. และ อ.ต.ก. ดําเนินการนําส่งดอกผลดังกล่าวเป็นรายได้แผ่นดินทันทีเนื่องจากเป็นโครงการที่รัฐบาลรับภาระ และเป็นรายได้ที่อคส. และ อ.ต.ก. ไม่พึงได้อย่างไรก็ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมในส่วนที่กรมการค้าต่างประเทศได้รับชําระค่าข้าวตามสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(G to G)
เบื้องต้น สตง.ได้นำส่งรายการตรวจสอบฉบับนี้ ให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ รับไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพต่อไปแล้ว