เผยมติคสช.ไฟเขียวราชการจ้าง อผศ. ขุดคลอง หลังรปห.2ด. ก่อนถูกร้องปมหัวคิว
'อิศรา' ลุยตรวจปม อผศ.ถูกร้องเรียน มีคนแอบอ้างชื่อ 'ประวิตร' เรียกรับหัวคิวงานจ้างพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำ พบ มติ คสช. ไฟเขียวราชการจ้างขุดลอกคลองจริง กระทรวงคลังชงเรื่องเสนอ หลังรัฐประหาร 2 เดือน แต่วางเงื่อนไขรัดกุม ห้ามจ้างช่วงงานต่อ ไม่ปฏิบัติตามสั่งระงับสิทธิพิเศษได้
กรณีกลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น นำโดยนายวิวัฒน์ สมบัติหลายประธานกลุ่มฯ ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีที่มีบุคคลแอบอ้างชื่อของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในการเรียกรับผลประโยชน์และเก็บค่าหัวคิวโครงการขุดลอกแหล่งน้ำ ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2558 ที่ผ่านมา
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ขยายผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ โดยสืบค้นข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากเว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พบว่า ภายหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ประมาณ 2 เดือน คือเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2557 คสช.ได้ลงมติรับทราบมติคณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษของหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2557เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2556 ที่ให้ อผศ. ได้รับสิทธิพิเศษประเภทไม่บังคับในการรับจ้างพัฒนาหรือก่อสร้างปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำ งานขุดลอกคูคลอง ลำรางสาธารณะ งานสร้างฝายกั้นน้ำ และงานลอกท่อระบายน้ำ ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
พร้อมระบุว่า ให้ อผศ. ดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเงื่อนไขที่คณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษของหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจกำหนด ตลอดจนขีดความสามารถและความพร้อมของ อผศ. เองด้วย
จากการตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษของหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ ให้เหตุผลในการนำเสนอเรื่องนี้ต่อ คสช. ว่า อผศ.อ้างว่ามีความจำเป็นที่ต้องหารายได้มาสมทบงบประมาณในการสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก และทหารนอกประจำการที่อยู่ในความดูแลซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวน 2 ล้านคนเศษ และอาจจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนใต้เนื่องจากงบประมาณที่ได่รับจากกระทรวงกลาโหมไม่เพียงพอ และมีขีดความสามารถที่จะดำเนินการได้เอง ตลอดจนมีทหารผ่านศึกอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ และการขอรบสิทธิพิเศษครั้งนี้ไม่ได้เป็นการบังคับ ส่วนราชการ รสก.หรือหน่วยงานอื่นของรัฐเลือกที่จะจ้าง อผศ.หรือไม่ก็ได้
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษของหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ กำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่า อผศ.จะต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยมิได้เป็นการประกอบการงานหรือร่วมการงานหรือสมทบกับบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นการค้าหรือการอื่น และกระทรวงการคลัง โดยคณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษฯ มีอำนาจในการระงับสิทธิพิเศษได้ ในกรณีที่ตรวจพบว่า อผศ.นำงานจ้างไปให้เอกชนรับช่วงดำเนินการต่อ
ขณะที่ เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ นายวิวัฒน์ ที่กล่าวอ้างว่า อผศ.ได้รับสิทธิพิเศษในการเป็นผู้รับจ้างเกี่ยวกับการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำ งานขุดลอกคูคลอง โดยไม่ต้องมีการประกวดราคา และได้มีกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร ใช้ชื่อว่า "กลุ่มคุณนายอ." และ "ส.จ.ผู้กว้างขวางในสุพรรณบุรี" ไปเรียกเก็บค่าหัวคิว กับกลุ่มผู้ประกอบและผู้รับเหมาโครงการที่รับงานต่อจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกทั่วประเทศ ร้อยละ 40-50 จากทุกโครงการ โดยเก็บค่าจองโครงการล่วงหน้าร้อยละ 10-15 ส่วนที่เหลือต้องจ่ายให้ครบในวันที่เซ็นสัญญารับงาน ซึ่งคาดว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวเรียกรับเงินไปแล้วกว่า1,000 ล้านบาท โดยพิจารณาจากการเรียกเก็บล่วงหน้าร้อยละ15 ของโครงการ เทียบกับงบประมาณประจำปี 2558 จำนวน 8,000 ล้านบาท และจะไปยื่นเรื่องต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)เพื่อตรวจสอบกรณีที่คสช.ให้สิทธิพิเศษกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในการเป็นคู่สัญญาโดยไม่มีการประกวดราคารวมถึงกรณีที่มีบุคคลแอบอ้างชื่อรองนายกฯ ในการเรียกรับผลประโยชน์ภายในเดือนนี้ด้วย“ (http://www.dailynews.co.th/politics/377732)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในช่วงเช้าวันที่ 8 ก.พ.2559 ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ พล.อ.รณชัย มัญชุสุนทรกุล ผอ.อผส. ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้