สร้างศูนย์แพทย์ ม.วลัยลักษณ์ พ่นพิษ! "วิจิตร -สุเมธ"จ่อบัญชีขรก.ม.44 รอบ3
ปัญหาก่อสร้างศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ 2 พันล้าน! พ่นพิษ "วิจิตร -สุเมธ" ระทึก "สตง." ชงชื่อเข้าที่ประชุม"ศอตช." พิจารณาบรรจุรายชื่อ ขรก.กลุ่มเสี่ยง โดนใช้ ม.44 สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ รอบ 3
กรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สรุปผลการตรวจสอบปัญหาความวุ่นวายใน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ทั้งการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ วงเงิน 2,000 ล้านบาท และการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นั้น
ล่าสุด แหล่งข่าวจากสตง. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ขณะนี้ สตง. ได้ทำเรื่องแจ้งไปพลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ให้รับทราบข้อมูลผลการตรวจสอบของ สตง.เป็นทางการแล้ว และในเร็วๆ นี้ สตง. จะเข้าไปชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกับ ศอตช.เป็นทางการอีกครั้ง
"รายชื่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ถูกระบุว่าเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณี้ จำนวน 2 ราย คือ นายวิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภาฯ และนายสุเมธ แย้มนุ่น รักษาการอธิการบดี จะปรากฎอยู่ในรายชื่อข้าราชการรอบ 3 ที่จะถูกเสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวที่จะมีการประกาศผลออกมาเร็วๆ นี้ หรือไม่ ต้องรอฟังผลการพิจารณาจาก ศอตช.อีกครั้ง"แหล่งข่าวระบุ
ขณะที่ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สตง. ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า กรณีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เท่าที่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ พบว่า มีความวุ่นวายเกิดขึ้นมาก ทั้งงานก่อสร้างศูนย์การแพทย์ วงเงิน 2,000 ล้านบาท ที่ปรากฎข้อมูลว่าหนึ่งในผู้รับเหมาที่ได้รับงาน มีการนำหลักประกันสัญญาที่ไม่ใช่ของจริงมาใช้ ขณะที่การตั้งแต่บุคคลขึ้นมารักษาการก็มีความขัดแย้งกัน ซึ่งพอมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารใหม่ กลุ่มผู้บริหารชุดใหม่ ก็ไปสั่งยกเลิกสัญญาจ้างผู้รับเหมารายเดิม เพื่อหาผู้รับเหมารายใหม่เข้ามาแทน จึงทำให้มีปัญหาความขัดแย้งเกิดมากขึ้นไปอีก
"เรื่องภายใน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขณะมันวุ่นวายมาก ทาง สตง. จึงเห็นควรเสนอเรื่องไปถึง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คนใหม่ ให้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ด้วย โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งในการแต่งตั้งบุคคลขึ้นมารักษาการในตำแหน่งอธิการบดี เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบถึงการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ที่จะมีผลกระทบไปถึงตัวนักศึกษาด้วย " นายพิศิษฐ์ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ สตง.ในพื้นที่ได้ตรวจสอบ พบประเด็นแรก คือ การก่อสร้างศูนย์การแพทย์ มีผู้รับจ้างเป็นในลักษณะบริษัทค้าร่วม มีบริษัทหนึ่งในนั้นใช้เอกสารไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้นำหลักประกันจากธนาคารที่แท้จริงมาประกอบ ผู้รับจ้างที่เป็นบริษัทหลักจึงดำเนินคดีกับบริษัทค้าร่วมนั้น และขอให้ธนาคารออกหลักประกันให้ใหม่ เมื่อมีหลักประกันสมบูรณ์แล้วสัญญาก็เดินหน้าต่อ แต่กลับมีการเร่งดำเนินการบอกเลิกสัญญา ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้ามาจนถึงปัจจุบัน ส่วนประเด็นที่สอง ปัญหาการแต่งตั้งนายสุเมธ แย้มนุ่น เป็นรักษาการอธิการบดี ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ต้องให้รองอธิการบดี เป็นผู้มีอำนาจในการรักษาการ ทั้ง 2 ประเด็นเป็นข้อพิรุธที่บ่งบอกว่า ต้องการให้รักษาการอธิการบดีใหม่มาเกี่ยวข้องกับการรับผิดชอบในเรื่องของการดำเนินการสัญญาก่อสร้าง
นายพิศิษฐ์กล่าวอีกว่า จากการตรวจของเจ้าหน้าที่ สตง. ชี้ได้ว่าพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับอธิการบดีเดิม รักษาการอธิการบดีและสภามหาวิทยาลัย ต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบ ดังนั้น สตง.ได้สรุปข้อเท็จจริงทั้งหมดแจ้งไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ สตง.จึงทำหนังสือแจ้งไปยัง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และปลัดกระทรวงการคลัง ให้ดำเนินการกับผู้กระทำผิด 2 คน คือ นายวิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภา มวล. นายสุเมธ แย้มนุ่น รักษาการอธิการบดี
ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวอีกว่า ระหว่างนี้ มวล. มีการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ หวังว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้งานก่อสร้างศูนย์การแพทย์เดินหน้าได้เร็ว ส่วนผู้รับเหมารายเดิมจะกลับมาได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าสภามหาวิทยาลัยจะแก้ไข้ปัญหานี้อย่างไร ไม่ได้บอกว่าต้องนำรายเก่ากลับมา แต่เป็นห่วงเรื่องความล่าช้า หากจะนำผู้รับเหมารายใหม่ สตง.ต้องติดตามว่าความเป็นมาดำเนินการโดยใช้วิธีการอย่างไร ความล่าช้าที่เสียไปยังไม่อาจประเมินได้ การบอกเลิกสัญญาครั้งนี้พวกค่าเสียหายส่วนต่างๆ หรือค่าก่อสร้างที่แพงขึ้น จะเรียกร้องกับผู้รับเหมาได้หรือไม่ เพราะว่าผู้รับเหมาจะอ้างได้ว่ามีหลักประกันใหม่แล้ว แต่คุณไม่เอา ความล่าช้าที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่ความผิดของผู้รับเหมา
(อ้างอิงข้อมูลข่าวจากไทยรัฐ : ผู้ว่า สตง. ขอให้ รมว.ศึกษา เอาผิดนายกสภา-อธิการ ม.วลัยลักษณ์)