สายลับดีเอสไอหมดท่า! ชงกฤษฎีกาตีความ มท.ไม่ปลอมบัตร ปชช.-เปิดบัญชีแฝงไม่ได้
สายลับดีเอสไอหมดท่า! มหาดไทยไม่ยอมปลอมบัตรประชาชน-แบงก์ไม่ยอมเปิดบัญชีแฝง เพื่อสืบสวนคดี กฤษฎีกาตีความ ให้ รมต.ยุติธรรม หารือ รมต.มหาดไทย หาทางออกยึดตาม ม.27 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยข้อซักถามของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีขอส่งเจ้าหน้าที่ไปเปิดบัญชีธนาคารโดยใช้ชื่อแฝง และขอให้กระทรวงมหาดไทยออกบัตรประจำตัวประชาชนปลอม ตามมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนผู้กระทำความผิดรายหนึ่ง ที่มีพฤติการณ์ประกอบธุรกิจที่เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 แต่ธนาคาร และกระทรวงมหาดไทย ไม่สามารถดำเนินการตามที่ดีเอสไอเสนอมาได้ เนื่องจากขัดต่อข้อกฎหมาย
ล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ได้พิจารณาข้อหารือของดีเอสไอ โดยมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม (ดีเอสไอ) และผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ ได้จัดตั้งดีเอสไอขึ้นเพื่อรับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับคดีอาญาบางประเภทที่กำหนดให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอ โดยการดำเนินการดังกล่าว กฎหมายได้ให้อำนาจอธิบดีหรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจให้บุคคลใดจัดทำเอกสารหรือหลักฐานใดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนตามมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในคดีพิเศษมีประสิทธิภาพ
การที่อธิบดีดีเอสไอหรือผู้ได้รับมอบหมายขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารโดยใช้ชื่อแฝงหรือจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนโดยอำพรางสถานะที่แท้จริงให้กับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเพื่อสมัครเป็นสมาชิกนิติบุคคลที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด จึงเป็นวิธีการที่กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจอธิบดีเป็นกรณีพิเศษ และเป็นการเฉพาะในการให้หน่วยงานหรือบุคคลใดจัดทำเอกสารหรือหลักฐานขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน ดังนั้นหน่วยงานหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำเอกสารหรือหลักฐานเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนตามมาตรา 27 ดังกล่าว จึงมีอำนาจกระทำได้ เพราะเป็นการกระทำที่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้ใด หากแต่เป็นเรื่องระหว่างหน่วยงานของรัฐที่จะต้องร่วมมือกัน
และเมื่อการกระทำดังกล่าวเป็นวิธีการพิเศษและเป็นกรณีเฉพาะที่กฎหมายให้อำนาจเพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ หน่วยงานหรือบุคคลที่กระทำการดังกล่าว จึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 27 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า การจัดทำเอกสารหรือหลักฐานใดเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวน ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบ
อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังคำชี้แจงของผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไดข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่า แต่ละหน่วยงานเห็นว่าประเด็นปัญหาสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่การออกบัตรประจำตัวประชาชน โดยการอำพรางสถานะที่แท้จริง ซึ่งหากสามารถกระทำได้ ปัญหาข้อหารือกรณีอื่นก็จะหมดไป
ทั้งปรากฏว่า การออกบัตรประจำตัวประชาชนโดยใช้ชื่อแฝงนั้น กรมการปกครองเคยออกให้แก่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอมาก่อนแล้ว แต่ได้ยกเลิกไปเมื่อมีการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบเอนกประสงค์ เนื่องจากเกิดความไม่แน่ใจว่าหากกระทำการดังกล่าวแล้วจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย แม้มาตรา 27 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า การจัดทำเอกสารหรือหลักฐานใดเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวน ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบก็ตาม
ในเรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) เห็นว่า ดีเอสไออาจพิจารณาเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นผู้รักษาการ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ ประสานงานกับรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำตามมาตรา 27 เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้รักษาการกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน หรือกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร ในการแสวงหาแนวทางการปฏิบัติเรื่องนี้ร่วมกัน เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ในการออกบัตรประจำตัวประชาชนมีความมั่นใจว่า การปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ จะต้องไม่รับผิดในทางใด ๆ ไม่ว่าทางวินัยทางปกครอง ทางแพ่ง หรืออาญา