ก.ศป.ออกระเบียบเปิดช่องตุลาการศาลปค.สูงสุด เป็นกก.สอบคดี"หัสวุฒิ" ได้
แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากร เป็น กก. สอบคดี ปธ.ศาลปค. ก.ศป. ออกระเบียบใหม่ ให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดช่วยทำหน้าที่ได้ ราชกิจจาฯ เผยแพร่ระเบียบเป็นทางการแล้ว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2558 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ระเบียบ ก.ศป.ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2558
ระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อให้การกำหนดตำแหน่งของตุลาการศาลปกครองที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวนมีความเหมาะสมยิ่งขึ้นอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๔ วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก.ศป. โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความใน (๔) ของข้อ ๖ แห่งระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๔๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๔) ในกรณีที่ประธานศาลปกครองสูงสุดถูกกล่าวหา ให้คณะกรรมการสอบสวนประกอบด้วยตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุดที่ ก.ศป.แต่งตั้งคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุดที่ ก.ศป. แต่งตั้งจำนวนสามคนและกรรมการข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนจำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ เว้นแต่ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุดเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการครบตามจำนวน หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้หรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ทำให้การสอบสวนไม่อาจดำเนินการได้ ให้ ก.ศป. แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการ
ศาลปกครองสูงสุดตามที่ ก.ศป. เห็นสมควร เป็นกรรมการแทนตามจำนวนที่ขาด”
ข้อ ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๖/๑ แห่งระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๔๔
“ข้อ ๖/๑ เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ ๕ วรรคสอง ประกอบข้อ ๖ แล้วหากกรรมการสอบสวนที่ดำรงตำแหน่งตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น หรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณี พ้นจากตำแหน่ง หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ทำให้การสอบสวนไม่อาจดำเนินการได้ ให้ ก.ศป. มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงกรรมการสอบสวนได้ โดยแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น หรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี ตามที่ ก.ศป.
เห็นสมควรเป็นกรรมการแทน และให้แจ้งคำสั่งตามวิธีการในข้อ ๗
การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการสอบสวน หรือการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหรืออาวุโสของบุคคลดังกล่าว ไม่กระทบกระเทือนถึงการสอบสวนที่ได้กระทำไปแล้วหรือการแต่งตั้ง แล้วแต่กรณี”
ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
ปิยะ ปะตังทา
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่แทน
ประธานศาลปกครองสูงสุด
ประธานกรรมการตุลาการศาลปกครอง
(ดูประกาศฉบับเต็มที่นี่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/084/31.PDF)
แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลปกครอง เปิดเผยว่า เหตุผลที่ ก.ศป. ต้องออกระเบียบฉบับนี้มา เนื่องจากที่ผ่านมา ประธานศาลปกครองสูงสุด ถูกตั้งกรรมการสอบสวนหลายเรื่อง ขณะที่บุคลากรที่จะรองรับการสอบสวนคดีไม่เพียงพอ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุดมีจำนวน 4-5 คน บางคนก็ทำหน้าเป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริงไปแล้ว ไม่สามารถมาเป็นกรรมการสอบสวนวินัยได้ จึงจำเป็นต้องออกระเบียบขึ้นมาเพื่อเปิดช่องให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเข้ามาทำหน้าที่แทนได้
ตามที่กำหนดใน (๔) ว่า "เว้นแต่ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุดเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการครบตามจำนวน หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้หรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ทำให้การสอบสวนไม่อาจดำเนินการได้ ให้ ก.ศป. แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดตามที่ ก.ศป. เห็นสมควร เป็นกรรมการแทนตามจำนวนที่ขาด”