ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมซื้อมันเส้นจีทูจียุค“ปู”-“บุญทรง-วีระวุฒิ-มนัส”เอี่ยวด้วย
ป.ป.ช. ตั้งอนุฯลุยไต่สวนปมซื้อมันสะปะหลังจีทูจียุค “ยิ่งลักษณ์” ส่อเก๊-เอื้อเอกชน พบ “บุญทรง-วีระวุฒิ-มนัส” เอี่ยวด้วย "บิ๊กกรมการค้าต่างประเทศ" ไม่รอด “เอกชนไทย-จีน”โดนเพียบ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2558 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติไต่สวนข้อเท็จจริง และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกรวม 31 ราย กรณีการซื้อขายมันสำปะหลัง (มันเส้น) ในรูปแบบสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) หรือไม่
โดยกรณีนี้สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการทำสัญญา ซื้อขายมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จำนวนรวม 7 สัญญา ปริมาณรวม 4,790,000 ตัน จำนวนเงินรวม 30,642,500,000 บาท ได้แก่
โครงการฯ ปี 2554/2555 จำนวน 4 สัญญา แบ่งเป็น
สัญญาที่ 1/2012 กับบริษัท Hainan Province Grain and oil Trading Company ระบาย มันสำปะหลังเส้น ปริมาณ 1,000,000 ตัน จำนวนเงิน 5,200,000,000 บาท
สัญญาที่ 2/2012 กับบริษัท Hainan Grain Warehousing Industrial Corporation ระบาย มันสำปะหลังเส้น ปริมาณ 500,000 ตัน จำนวนเงิน 2,625,000,000 บาท
สัญญาที่ 3/2012 กับบริษัท Hainan Grain Warehousing Industrial Corporation ระบาย แป้งมันสำปะหลัง ปริมาณ 500,000 ตัน จำนวนเงิน 5,200,000,000 บาท
สัญญาที่ 4/2012 กับบริษัท Hainan Grain and Oil Industrial Trading Company ระบาย มันสำปะหลังเส้น ปริมาณ 700,000 ตัน จำนวนเงิน 3,675,000,000 บาท
โครงการฯ ปี 2555/2556 จำนวน 3 สัญญา
สัญญาที่ 1/2013 กับบริษัท Hainan Grain Warehousing Industrial Corporation ระบาย มันสำปะหลังเส้น ปริมาณ 1,350,000 ตัน จำนวนเงิน 6,885,000,000 บาท
สัญญาที่ 2/2013 กับบริษัท Hainan Grain Warehousing Industrial Corporation ระบาย มันสำปะหลังเส้น (โครงการฯ 2551/2552) ปริมาณ 150,000 ตัน จำนวนเงิน 420,000,000 บาท
สัญญาที่ 3/2013 กับบริษัท Hainan Province Grain and Oil Trading Company ระบาย แป้งมันสำปะหลัง ปริมาณ 590,000 ตัน จำนวนเงิน 6,637,500,000 บาท
อย่างไรก็ดีบริษัทที่เข้ามาทำสัญญาซื้อขายกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะตัวแทนของราชอาณาจักรไทย ไม่ใช่บริษัทที่ได้รับมอบหมายหรือรับมอบอำนาจจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยการกระทำนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะเอื้ออำนวยหรือช่วยเหลือให้บริษัทดังกล่าวได้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งหมายหรือหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ประกอบกับการพิจารณาให้ความเห็นชอบในเรื่องของราคาที่ซื้อขาย
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้ให้ความเห็นชอบในราคาตามข้อเสนอของบริษัท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าข้อเสนอของฝ่ายไทย เว้นแต่สัญญาที่ 2/2013 ซึ่งเสนอราคาเท่ากันทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน การกระทำดังกล่าวจึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และประเทศชาติอย่างร้ายแรง
กรณีจึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า
กลุ่มที่ 1 ผู้เจรจา ผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ ผู้ลงนามในสัญญา และผู้เกี่ยวข้องกับซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ ได้แก่
(1) นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
(2) พันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
(3) นายมนัส สร้อยพลอย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
(4) นางปราณี ศิริพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
(5) นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
(6) บริษัท Hainan Province Grain and oil Trading Company
(7) Mr. Chen Houpeng ผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท Hainan Province Grain and oil Trading Company
(8) บริษัท Hainan Grain Warehousing Industrial Corporation
(9) Mr. Xing Gucun ผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท Hainan Province Grain and oil Trading Company
(10) บริษัท Hainan Grain and Oil Industrial Trading Company
(11) Mr. Lin Haihui ผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท Hainan Grain and Oil Industrial Trading Company
กลุ่มที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจ ผู้แทนนิติบุคคลของผู้รับมอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากบริษัทที่เข้ามาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ เจ้าของเงินที่เกี่ยวข้องกับการชำระค่ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผู้มีส่วนร่วมในการกระทำดังกล่าว ได้แก่
(1) บริษัท เอลัช (ประเทศไทย) จำกัด
(2) นายชู หมิง เช็น เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท เอลัช (ประเทศไทย) จำกัด
(3) นางสาวลิอุ ยุก หมิง ไอลีน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท เอลัช (ประเทศไทย) จำกัด
(4) นายชู หมิง คิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท เอลัช (ประเทศไทย) จำกัด
(5) นายสุธี เชื่อมไธสง
(6) Miss Chen Yifan
(7) บริษัท พี เอส ซี สตาร์ช โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)
(8) นางสาวอารยา กำปั่นแก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท พี เอส ซี สตาร์ช โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)
(9) นายสุมนต์ เสรีธรณกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท พี เอส ซี สตาร์ช โปรดักส์ จำกัด (มหาชน
(10) นายสรัญ เสรีธรณกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท พี เอส ซี สตาร์ช โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)
(11) นายสิรินทร์ เสรีธรณกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท พี เอส ซี สตาร์ช โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)
(12) นายสราวุธ เสรีธรณกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท พี เอส ซี สตาร์ช โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)
(13) นางสาวเรณู รักแม่
(14) Ms. Liang Jinmei
(15) บริษัท เอส บี พรีเมียร์ โปรดักส์ จำกัด
(16) นายสมบูรณ์ วัฒนวานิชย์กุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทเอสบี พรีเมียร์ โปรดักส์ จำกัด
(17) นายลิตร พอใจ
(18) บริษัทสุวรรณเกลียวทอง จำกัด
(19) นายจักรพงศ์ ปิติพรสัมฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทสุวรรณเกลียวทอง จำกัด
(20) นายสมคิด เอื้อนสุภา
ร่วมกันกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
จึงมีมติให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามหมวด 4 ว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ซึ่งมีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน