อธิบดี บพ.แจงปม บ.กลุ่มเดียวกวาดรถดับเพลิง 941 ล.ตรวจตามระเบียบ-ไม่ดูเชิงลึก
อธิบดีกรมการบินพลเรือน แจงปมจัดซื้อรถดับเพลิง 941 ล้าน ยันตรวจสอบตามระเบียบ ไม่ได้ดูสัมพันธ์เชิงลึก ไม่มีเกณฑ์ห้ามกรรมการเอกชนไปทำธุรกิจร่วมกัน ทำเกินระเบียบไม่ได้ ชี้ต้องแก้ที่ระบบ ระบุข้อห้ามให้ชัด
นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org กรณีสำนักข่าวตรวจสอบพบว่าการจัดซื้อรถดับเพลิงของกรมการบินพลเรือน (บพ.) จำนวน 7 สัญญา เกือบ1,000 ล้านบาท จากบริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด โดยในขั้นตอนการประกวดราคานั้น มีบริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท ดี แอลเอ็ม โซลูชั่น ซุึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ บริษัท เชสฯ จำกัด เข้าร่วมเป็นคู่แข่งด้วยขณะที่เครือข่ายเอกชนกลุ่มนี้ยังคว้างานหลายโครงการจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยงานรัฐรวมนับหมื่นล้านบาท ( อ่านประกอบ : บ.เชสฯยึดเรียบรถดับเพลิงกรมการบินฯ 44 คัน 1,047 ล.-2 บ.เครือข่ายเป็น“คู่แข่ง” )
เมื่อผูุ้สื่อข่าวถามว่า บริษัท วีม่าฯ และบริษัทดีแอลเอ็มฯ ที่ร่วมเสนอราคาและบริษัทเชส ฯ ที่ชนะประมูล มีความสัมพันธ์กัน เป็นเครืออข่ายกันเนื่องจากกรรมการบริษัทไปเปิดบริษัททำธุรกิจร่วมกัน ในฐานะอธิบดีจะตรวจสอบหรือดำเนินการอย่างไรในกรณีนี้หรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า เจ้าหน้าที่รายงานว่าในขั้นตอนการตรวจสอบ มีการตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่และหนังสือบริคนห์สนธิและเท่าที่ดูไม่มีรายชื่อที่จะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน
"เนื่องจากคณะกรรมการและผู้ตรวจสอบเขารายงานว่า ตามระเบียบสำนักนายกฯ ต้องดูว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีรายชื่อไขว้กันรือเปล่า เขาดูรายชื่อทั้งหมดแล้ว เขาก็แจ้งว่า เขาตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือรายชื่อไขว้กันตามระเบียบ”นายสมชายกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีกรรมการบริษัท ดีแอลเอ็ม, วีม่า, และเชสฯ ไปร่วมกันก่อตั้ง บริษัทอื่นๆ อาทิ เปิดบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และเปิดบริษัทบัญชี เหล่านี้ถือเป็นข้อเท็จจริงว่าบริษัททั้งสามแห่งมีความสัมพันธ์กันหรือไม่
นายสมชายกล่าวว่าความสัมพันธ์กันในรูปแบบไหนล่ะ ถ้าเราห้ามเขา ไม่ให้ไปประกอบการร่วมกันได้หรือเปล่า เพราะว่า ณ ขณะที่คณะกรรมการเขาดำเนินการสอบราคา เขาก็คงจะต้องดูว่าผู้เสนอราคาแต่ละราย เขามีหุ้นส่วน หรือกรรมการเดียวกันหรือเปล่าเท่านั้น แต่ถ้าจะให้เขาตรวจสอบว่า เขาไปเปิดบริษัทร่วมกันหรือไม่ ก็เป็นการทำเกินระเบียบฯ กว่าที่คณะกรรมการตรวจสอบจะทำได้ แล้วการที่เขาไปเปิดบริษัทร่วมกันนั่นคือความสัมพันธ์เชิงลึกหรือเปล่า
นายสมชายกล่าวว่าด้วยข้อเท็จจริงเพียงเท่านั้นคงจะไปชี้ไม่ได้ เพราะไม่ว่าบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เขาก็มีเสรีภาพในการที่จะเข้าร่วมประกอบการอะไรกันก็ได้ ดังนั้น ถ้าเขาไปประกอบการร่วมกันแล้วเราจะมองว่านี่แหละเป็นความสัมพันธ์เชิงลึก ในการมาร่วมกันเสนอราคา มันก็อาจจะยังไม่ใช่หลักฐาน ที่จะดำเนินการอย่างนั้น มันก็ก็น่าจะมีอะไร ที่ชัดเจนกว่านั้น เพราะตามรายงาน เจ้าหน้าที่เขาก็แจ้งว่า ในปี 2554-2557 เขาก็ตรวจสอบดูแล้ว ซึ่งระยะเวลาในการพิจารณาคุณสมบัติผู้เสนอราคามันมีระยะเวลาที่ไม่มากมายเท่าไหร่นัก ในการดำเนินการแต่ละขั้นตอน คณะกรรมการเขาก็ทำได้เพียงตรวจสอบบริคนห์สนธิ เมื่อตรวจสอบ แล้วคณะกรรมการเขาก็ไม่มีเวลาไปลงลึกอีก
“เพราะฉะนั้น มันอาจจะต้องมีกระบวนการหรือวิธีการอื่น ที่จะแสดงให้เห็นว่า 3-4 บริษัทที่จะเข้าไปร่วมเสนอราคานี้ ไม่เช่นนั้นก็ต้องมีเกณฑ์ออกมาให้ชัดเจน ว่าห้ามผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัท ไปเปิดบริษัทร่วมกัน มันต้องมีเกณฑ์ออกมาให้ชัด” นายสมชายระบุ
นายสมชายกล่าวด้วยว่าได้ให้เจ้าหน้าที่เขาตรวจสอบเรื่องและทำรายงานข้อเท็จจริงมาให้ เบื้องต้นทราบว่าในรอบปี 5 ปี นั้น ปรากฏว่ามีทั้งหมด 6 โครงการที่บ.เชสฯ ได้งานจากกรมการบินพลเรือน รวมเป็นเงิน 941 ล้านบาทเศษ คือปี 2554 มีรถดับเพลิงขนาดกลาง 4 คัน บริษัทเชส เป็นผู้ชนะการประมูล ในวงเงินประมาณ 81 ล้านสี่แสนบาท, ปี 55 มีการซื้อรถดับเพลิงอากาศยาน 16 คัน บริษัทเชส เป็นผู้ชนะการประมูล ในวงเงิน 411.1 ล้านบาทเศษ
"ปี 56 มีการซื้อรถดับเพลิง 7 คัน บริษัทเชส ก็เป็นผู้ชนะการประมูล ในวงเงิน 180 ล้านบาทเศษ, ปี 57 มีการซื้อรถกู้ภัยอากาศยาน 1 คัน บริษัทเชส ก็เป็นผู้ชนะประมูล ในวงเงิน 8 ล้านบาทเศษ, ปี 57 อีกเช่นกัน มีการซื้อรถบรรทุกน้ำ 9 คัน เชสเป็นผู้ชนะการประมูล ในวงเงิน 96.9 ล.บาทเศษและปี 57 ที่ผ่านมาอีก ก็มีการซื้อรถดับเพลิง 6 คัน เชส ชนะ 154.1 ล้านบาทเศษ นี่คือ 6 สัญญา ในรอบ 5 ปี รวม 941 ล้านบาท ที่บริษัทเชสเป็นผู้ชนะการประมูล นี่ก็เป็นข้อเท็จจริง” นายสมชายระบุ
ก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่าในเดือน ก.พ. 48-มิ.ย.57 บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด ได้รับการว่าจ้างจัดซื้อรถดับเพลิงและแผ่นปูพื้น จากกรมการบินพลเรือน รวมจำนวน 9 โครงการ รถ 44 คัน รวม 1,015,827,740 บาท
1. จัดซื้อแผ่นปูพื้น Polyeester เสริม Carbon Compositeยี่ห้อ DESCHAMPS รุ่น TOW-MAT ผลิตจากประเทศฝรั่งเศส จำนวน 1 ชุด วงเงิน 13,880,040 บาท เมื่อ 28 ก.พ. 48
2.จัดซื้อแผ่นปูพื้น Polyester เสริม Carbon Compositeยี่ห้อ DESCHAMPS รุ่น TOW-MAT ผลิตจากประเทศฝรั่งเศส จำนวน 2 ชุด วงเงิน 27,885,000 บาท เมื่อ 16 ม.ค. 49
3.จัดซื้อรถยนต์กู้ภัยอากาศยานพร้อมอุปกรณ์ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ วงเงิน 32,170,000 บาท เมื่อ 14 ต.ค. 52
4.จัดซื้อรถดับเพลิงขนาดกลาง ยี่ห้อ Volvo รุ่น FM D13 44R Wheel Drive FM 44R B3-CD ผลิตจากประเทศสวีเดน จำนวน 4 คัน วงเงิน 81,491,200 บาท เมื่อ 31 ม.ค. 54
5.จัดซื้อรถดับเพลิงอากาศยานยี่ห้อ VOLVO จำนวน 16 คัน วงเงิน 411,120,000 บาท เมื่อ 20 ก.ค. 55
6.จัดซื้อรถดับเพลิงอากาศยาน จำนวน 7 คัน วงเงิน 180,075,000 บาท เมื่อ 29 มี.ค. 56
7. จัดซื้อรถกู้ภัยอากาศยานพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 1 คัน วงเงิน 18,030,000 บาท เมื่อ 14 พ.ค. 57
8. จัดซื้อรถบรรทุกน้ำดับเพลิง จำนวน 9 คัน วงเงิน 96,988,500 บาท เมื่อ 30 พ.ค. 57
9. จัดซื้อรถดับเพลิงอากาศยาน จำนวน 6 คัน วงเงิน 154,188,000 บาท เมื่อ 30 มิ.ย. 57
จากการตรวจสอบพบว่า เฉพาะการจัดซื้อรถดับเพลิง 7 โครงการรวม 44 คัน (รายการที่3-9) ในจำนวนนี้ 3 โครงการ (รายการที่ 6-8) มีบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเชื่อมโยงกับบริษัท เชสฯ ผู้ชนะการจัดซื้อ เข้าร่วมประกวดราคาด้วย ได้แก่
รายการที่ 6 จัดซื้อรถดับเพลิงอากาศยาน จำนวน 7 คัน วงเงิน 180,075,000 บาท มีผู้ร่วมเสนอราคา 3 รายคือ บริษัท เชสฯ บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท ขอนแก่น ช.ทวี (1993) จำกัด
รายการที่ 7 จัดซื้อรถกู้ภัยอากาศยานพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 1 คัน วงเงิน 18,030,000 บาท มีผู้เสนราคา 2 ราย คือ บริษัท เชสฯ กับ บริษัท ดี แอล เอ็ม โซลูชั่นส์ จำกัด
รายการที่ 8 จัดซื้อรถบรรทุกน้ำดับเพลิง จำนวน 9 คัน วงเงิน 96,988,500 บาท มีผู้เสนอราคา 3 รายคือ บริษัท เชสฯ บริษัท มารีน่าไทย เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด และ บริษัท ดี แอล เอ็ม โซลูชั่นส์ จำกัด
ส่วนรายการที่ 9 จัดซื้อรถดับเพลิงอากาศยาน จำนวน 6 คัน วงเงิน 154,188,000 บาท บริษัท มารีน่าไทย เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ร่วมเสนอราคากับ บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัดเพียง 2 รายเท่านั้น
ภาพประกอบจาก : portal.aviation.go.th, www.google.co.th