กตป.ลุยสอบ "กสทช."จ้างงาน "สจล." 276ล. แต่ไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ
กตป.จ่อชง คตร.สอบหลายโครงการที่ กสทช. ลงนามจ้างสถาบันการศึกษาทำรายงาน-วิจัย พบข้อมูล "สจล." คว้างานสูงสุดรวม 276 ล. ปี 56 ปีเดียวได้งาน 195 ล.-ชี้ หลายโครงการอาจเกินขอบเขตอำนาจ กสทช.
นายประเสริฐ อภิปุญญา คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. ( กตป. ) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่าเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 กตป.ได้แจ้งไปยังสำนักงาน กสทช. เพื่อขอข้อมูลเอกสารสัญญาจัดซื้อจัดจ้างและเอกสารที่เกี่ยวข้องของโครงการที่สำนักงาน กสทช.ลงนามว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล.เนื่องจาก กตป.พบประเด็นข้อน่าสังเกตในส่วนสัญญาจ้างช่วงปี 2555-2557 ว่า สำนักงาน กสทช.ทำสัญญาว่าจ้าง สจล. เป็นวงเงินรวม 276 ล้านบาท แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีการเปิดเผยรายงาน ตามพระราชบัญญัติองค์กร มาตรา 59 ( 5 ) โดย กตป.มีมติให้กรอบเวลาสำนักงาน กสทช.ส่งข้อมูลเอกสารที่ร้องขอไปภายใน 7 วัน หากไม่ได้รับข้อมูล กตป.จะนำข้อมูลเท่าที่มีและข้อสังเกตต่อการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวยื่นต่อ พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ให้ตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป
นายประเสริฐกล่าวว่า เนื่องจาก กตป.ต้องสรุปรายงานการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ แต่เมื่อ กตป.ตรวจสอบดูในส่วนโครงการที่สำนักงาน กสทช. ทำสัญญากับสถาบันการศึกษา มีข้อสังเกตว่า พ.ร.บ.องค์กร ตาม มาตรา 59 วรรค 5 ที่บัญญัติว่าให้ กสทช. เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ให้ประชาชนทราบทางระบบเครือข่ายสารสนเทศหรือวิธีการอื่นที่สมควร โดยในวรรค 5 ของมาตราดังกล่าวระบุให้การเปิดเผยข้อมูลรวมถึงผลการศึกษาวิจัยและผลงานอื่นๆ ที่ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการนั้น กตป. กลับไม่พบ กสทช.เปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณะ
“โดรงการศึกษาวิจัยเหล่านี้ โดยปกติ ข้อมูลต้องมีการเปิดเผย แต่ปัจจุบันบนเว็บไซต์ของ สำนักงาน กสทช. หาข้อมูลเหล่านี้ได้ยากมาก เมื่อ กตป.สงสัย เราก็ไปตรวจสอบจากข้อมูลรายงานจัดซื้ออจัดจ้าง ไล่ดูตั้งแต่ ปี 2556-2557 เมื่อเราสุ่มดูจากสถาบันการศึกษาหลักคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,นิด้า (สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์) มหาวิทยาลัยบูรพา และ สจล.(สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังแล้ว) เราก็พบว่าการได้งานของ สจล.เป็นตัวเลขที่น่าสนใจ เพราะเมื่อเราตรวจดูช่วงปี 2555-2557 พบว่าการได้ของ สจล. มีความเคลื่อนไหวที่หวือหวามาก ในปี 2555 ได้งานวงเงินเพียง 1 ล้านบาท แต่ปี 56 วงเงิน 195 ล้านบาท และปี57 อีก 80 ล้านบาท เราพยายามดูด้วยความเป็น กลาง หลายๆ ด้าน แต่ก็พบเห็นตัวเลขที่สูงผิดปกติ ใน ปี 56-57 เมื่อเราดูลึกลงไปว่าการทำสัญญาจ้างมีโครงการอะไรที่น่าสนใจ ก็พบว่า มี 5 โครงการ ที่มีข้อสังเกตควรเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม” นายประเสริฐระบุ
นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ในจำนวน 5 โครงการของ สจล. ที่ กตป. มีข้อสังเกตและขอเอกสารจาก สำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบเชิงลึกได้แก่
โครงการจัดจ้างที่ปรึกษาความมั่นคงข้อมูลการเข้ารหัสลับ ( Encryption ) แบบ A5/1 และ A5/2 ในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM สัญาเลขที่ พย. (ป)(พท.)135/56 ลงนามสัญญาวันที่ 5 ก.ย.56 จำนวนเงิน 7,952,910.40 บาท
สัญญาจ้างพัฒนาระบบบริหารการเงินการบัญชี ระบบการจัดการรายได้และระบบบริหารสินทรัพย์และการพัสดุ สัญญาเลขที่ พย.(จ)(ทย.) 214/2556 วันที่ 26 ธ.ค.2556 จำนวนเงิน 49,900,000.00 บาท
สัญญาจ้างพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล สัญญาเลขที่ พย.(จ)(ทย.)221/2556 วันที่ 27 ธ.ค.2556 จำนวนเงิน 49,910,000.00 บาท
สัญญาจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาแนวทางกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะโทรคมนาคมในประเทศไทยสัญญาเลขที่ พย.(ป)(ทย.)13/2557 วันที่ 3 มี.ค.57 จำนวนเงิน 19,975,000.00 บาท
สัญญาจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาการใช้ไอพี รุ่นที่ 6 ( IPV6) เพื่อนำมาใช้ในสำนักงาน กสทช. สัญญาเลขที่ พย.(ป)(ทย.) 13/2557 วันที่ 3 มี.ค. 2557 จำนวนเงิน 14,970,000.00 บาท
นายประเสริฐกล่าวว่า 5 โครงการนี้ เมื่อดูจากชื่อโครงการแล้ว พบว่าน่าสนใจ เช่น โครงการจัดจ้างที่ปรึกษาความมั่นคงข้อมูลการเข้ารหัสลับ พัฒนาระบบบริหารการเงินการบัญชี พัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล และการศึกษาการใช้ไอพี รุ่นที่ 6 หรือ IPV6
“โครงการเหล่านี้ กตป.ตั้งข้อสังเกตว่าตรงตาม หน้าที่ ตาม พ.ร.บ.องค์กรมาตราที่ 27 ที่ กสทช. สามารถทำได้หรือเปล่า ซึ่งเมื่อเราขอข้อมูลไปแล้ว กตป. มีมติว่า ภายใน 7 วัน ถ้าหากเราไม่ได้รับข้อมูล เราจะส่งเรื่อง ให้ คตร. ตรวจสอบต่อไป ซึ่งรายงานในโครงการเหล่านี้ ควรจะแล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว เพราะเสร็จสิ้นไปแล้วและเราต้องประเมินว่าผลงาน รายงานวิจัยเหล่านี้ เมื่อจัดทำแล้วเสร็จ คุณนำไปใช้ให้ เกิดประโยชน์อะไรหรือไม่”
นายประเสริฐกล่าวด้วยว่า ข้อมูลที่ต้องการจากสำนักงาน กสทช. ประกอบด้วยผลรายงานแต่ละโครงการที่มีการจัดจ้างว่าเมื่อรายงานแล้วเสร็จแล้ว มีการนำไปปฏิบัติอย่างไร รวมถึงเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อกำหนดคุณลักษณะทางวิชาการ หรือทีโออาร์
“กตป. มุ่งเน้นใน 2 มิติหลัก มิติที่ 1 คือดูว่ารายงานเสร็จเรียบร้อยหรือยังและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ กสทช. หรือไม่ และมิติที่ 2 คือในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง มีประเด็นอะไรที่ส่อทุจริตหรือไม่”
นายประเสริฐกล่าวว่า ในกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือในการส่งมอบเอกสารต่างๆ จากสำนักงาน กสทช. จะยื่นหนังสือต่อ คตร.ให้เข้ามาตรวจสอบเชิงลึก ภายในวันที่ 15 มีนาคมนี้ ส่วนในการตรวจสอบระยะยาว กตป.อาจเชิญผู้วิจัยจาก สจล.มาให้ข้อมูลถึงแนวทางการทำงานในรายงานการวิจัยโครงการต่างๆ ที่ กตป.มีข้อสังเกต
ภาพประกอบจาก :www.tsae.asia, www.nbtc.go.th