ศาลฎีกาฯยกคำร้องขอปล่อยทรัพย์บ้าน 30 ล. “รักเกียรติ”-อำพราง “ขาย” ให้นอมินี
ศาลฎีกาฯยกคำร้องขอปล่อยทรัพย์ บ้านพร้อมที่ดิน 30 ล้าน “รักเกียรติ สุขธนะ”อดีต รมว.สาธารณสุขยาฉาว ในชื่อ“วิไล งามศิริสมสกุล”นอมินี พบจดทะเบียนธุรกรรมซื้อขายอำพรางแค่ 15 ล้านหนีถูกบังคับคดีขายตลาด คดียึดทรัพย์ 233.8 ล้าน เอกสารมีพิรุธเพียบ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ.58 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษายกคำร้องในคดีที่นางวิไล งามศิริสมสกุล ผู้ร้องยื่นคำร้องขอปล่อยทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 1632 แขวงทุ่งสองห้อง เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และ ที่ดินโฉนดเลขที่ 68851 แขวงสองห้อง เขตบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพฯพร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีชื่อนางวิไลเป็นผู้ครอบครอง (ผู้ขอปล่อยทรัพย์) ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ถูกยึดทรัพย์และต้องเข้าสู่กระบวนการนำทรัพย์ขายทอดตลาดตามคำพิพากษาในคดีนายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกยึดทรัพย์ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ 233.8 ล้านบาท โดยนางวิไลอ้างว่าทรัพย์สินดังกล่าวนางวิไลได้ซื้อต่อจากนายรักเกียรติในราคา 15 ล้านบาทจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์วันที่ 10 พ.ค.45 แต่ศาลเชื่อว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของนายรักเกียรติจึงมีคำสั่งยกคำร้องของนางวิไล (คดีหมายเลขแดงที่ อม.ข.1/2558)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ยึดทรัพย์ นายรักเกียรติ สุขธนะ เป็นเงินจำนวน 233,880,000 บาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยมีทรัพย์สินหลายรายการรวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 1632 แขวงทุ่งสองห้อง เขตดอนเมือง และที่ดินโฉนดเลขที่ 68851 แขวงสองห้อง เขตบางเขน(ตลาดขวัญ) พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีนางวิไล งามศิริสกุล ผู้ขอปล่อยทรัพย์เป็นผู้ครอบครอง ขณะที่นางวิไลอ้างว่าได้ซื้อต่อมาจากนายรักเกียรติและนางสุรกัญญา สุขธนะ (ผู้คัดค้านที่ 1 และ 2 ) มาในราคา 15 ล้าน บาท โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนแล้วตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2545
ขณะที่อัยการสูงสุดเห็นว่า นางวิไลรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากนายรักเกียรติและภรรยา หลังจากนายรักเกียรติถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีร่ำรวยผิดปกติ เมื่อสมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 4 เดือน และนางวิไลซื้อที่ดินดังกล่าวในราคาเต็มพร้อมทั้งชำระด้วยเงินสด ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ หลังจากนั้นได้จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้แก่นายพงษ์ศักดิ์ สุขธนะ บุตรที่เกิดจากตนและนายเทียม สุขธนะ บิดาของนายรักเกียรติ อีกทอด
อัยการมีความเห็นว่า นางวิไลและนายรักเกียรติกับภรรยามีเจตนาโอนและรับโอนที่ดินพิพาทเพื่อขัดขวาง หลบหลีกมิให้มีการบังคับคดี เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตโดยสมยอม
คดีนี้ศาลตั้งประเด็นวินิจฉัยว่า ที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นทรัพย์สินของนายรักเกียรติหรือไม่
เมื่อประมาณปี 2545 ที่นางวิไลนำพยานเข้าไต่สวนอ้างว่า นายรักเกียรติและภรรยาเริ่มมีภาระหนี้สิน เดือนพฤษภาคม 2545 นายรักเกียรติขอกู้ยืมเงินจากนางวิไลหลายครั้ง รวมเป็นเงิน 15 ล้านบาท โดยนำโฉนดที่ดินทั้งสองให้นางวิไลไว้เป็นประกัน
ศาลไม่เชื่อเพราะบันทึกการกู้ยืมเงินจำนวน 15 ล้านบาทที่นำมาแสดง ไม่มีลายมือชื่อของนายรักเกียรติและภรรยาในฐานะลูกหนี้ผู้กู้ นับเป็นการผิดวิสัยของเจ้าหนี้ พยานหลักฐานในส่วนนี้จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่น่าเชื่อถือ
เมื่อพิเคราะห์ฐานะการเงินของนางวิไลจากการชำระภาษีเงินได้ในช่วงปี 2542 - 2548 เห็นได้ว่ามีรายได้เฉลี่ยปีละไม่เกิน 2 ล้านบาท ไม่น่าเชื่อว่านางวิไลมีรายได้หรือมีฐานะทางการเงินดีพอที่จะให้นายรักเกียติและภรรยากู้ยืมในจำนวนที่สูงได้
ส่วนการซื้อขายที่ดินดังกล่าวนั้น ได้ความจากทางไต่สวนว่า นายรักเกียรติและภรรยาซื้อที่ดินมาจากนางสาวอนงค์นาฏ รัตนกุล เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2540 ในราคา 26.5 ล้านบาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินและสำเนาโฉนดที่ดิน ขณะที่ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้าง
ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 นายรักเกียรติและภรรยาขายที่ดินให้แก่นางวิไลในราคา 15 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเดี่ยวสองชั้น เลขที่ 71/9 หลังจากนั้นอีก 2 เดือน นางวิไลได้จดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นประกันหนี้แก่นายพงษ์ศักดิ์ สุขธนะ ในวงเงิน 20 ล้านบาท
ขณะที่ นายรักเกียรติเบิกความว่าบ้านดังกล่าวเป็นบ้านของตน สร้างบนที่ดินสองแปลง มูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท จากหลักฐานจึงเชื่อได้ว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมีราคาสูงกว่าราคาทั้งสองฝ่ายตกลงซื้อขายกัน 15 ล้านบาท การที่นางวิไลอ้างว่าซื้อขายเพียงราคา 15 ล้าน บาทจึงเป็นการซื้อขายในราคาต่ำเกินสมควรและไม่สมเหตุสมผล
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนจึงฟังไม่ได้ว่านายรักรักเกียรติและภรรยาขายที่ดินดังกล่าวให้นางวิไล แสดงให้เห็นว่านางวิไลและนายรักเกียรติกับภรรยาไม่มีเจตนาซื้อกันที่ดินกันจริง
ศาลเห็นว่าเมื่อเป็นเช่นนี้นางวิไลย่อมไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่แท้จริง การแสดงเจตนาของนายรักเกียรติและภรรยากับนางวิไลในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมกันเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายรักเกียรติ
ศาลมีความเห็นว่า เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินของนายรักเกียติตกเป็นของแผ่นดิน ผู้ร้อง (อัยการสูงสุด) ย่อมมีสิทธิยึดที่ดินพิพาททั้งสองแปลง เพื่อดำเนินการบังคับคดีชดใช้ทรัพย์สินของผู้คัดค้าน (นายรักเกียรติ) ตกเป็นของแผ่นดินได้
จึงพิพากษายกคำร้องขอปล่อยทรัพย์
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ไทยรัฐ