อดีตอาจารย์สาว มรภ.นครสวรรค์เปิดศึกฟ้อง“อธิการ-คณบดี”ไม่จัดตารางให้สอน
อดีตอาจารย์ช่วยราชการ มรภ.นครวสวรรค์ เปิดศึกษาฟ้องอธิการฯ – คณบดี กรณีไม่จัดชั่วโมงให้สอน อ้างทั้งที่ยังเหลืออีก 64 คาบ ด้าน “บัญญัติ”พลิกข้อ กม.สู้อ้าง ผู้ฟ้องพ้นหน้าที่ไปแล้ว
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดนครสวรรค์ นัดไต่สวนมูลฟ้องคดีที่ นางปณิชา ศรีจักร์ อดีตข้าราชการครู สังกัดวิทยาลัยชุมชน พิจิตร ช่วยราชการอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ (มรภ.นครสวรรค์) ได้ยื่นฟ้อง ผศ.นิตยา ชนินทยุทธวงศ์ คณบดี คณะวิทยาการจัดการ มรภ.นครสวรรค์ ซึ่งผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบกิจการงานของคณะวิชาในมหาวิทยาลัย (จำเลยที่ 1) และ ผศ.บัญญัติ ชำนาญกิจ อธิการบดี มรภ.นครสวรรค์ เป็นผู้บัญชาการสูงสุดและรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย (จำเลยที่ 2) ในข้อหา เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 83
ทั้งนี้ เนื้อหาคำฟ้องของโจทก์เมื่อ 13 พ.ย.57 ระบุใจความว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดต่อโจทก์ โดยได้ใช้ดุลพินิจเสนอความเห็นตามบันทึกข้อความช่วยราชการของโจทก์ เพื่อเสนอต่อจำเลยที่ 2 ว่า “ในภาคเรียนที่ 1/2557 มีชั่วโมงสอนเพียงพอที่จะให้ช่วยราชการได้ แต่ในภาคเรียนที่ 2/2557 ชั่วโมงสอนที่จะจัดให้อาจมีไม่พอเพียงพอที่จะจัดสอนได้ จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาตามแต่มหาวิทยาลัยเห็นสมควร” ซึ่งไม่ตรงต่อความเป็นจริง
ทั้งนี้ จำเลยที่ 2 ในฐานะอธิการบดีได้มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ว่า
“1.ยินดีให้ช่วยปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้สอนถึงเดือนธันวาคม 2557 2.ในภาคเรียนที่ 2/2557 ไม่มีชั่วโมงสอนที่เพียงพอ เนื่องจากอาจารย์ประจำมีจำนวนมาก มหาวิทยาลัยไม่อาจให้สอนได้ หาก สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สคอ.) จะให้ช่วยราชการต่อก็จะต้องช่วยเหลืองานสนับสนุน 3.มอบฝ่ายธุรการแจ้ง สคอ.”
ซึ่งความเป็นจริงแล้วชั่วโมงสอนในภาคเรียนที่ 2/2557 ยังคงเหลืออีกจำนวน 50 คาบสอน โดยก่อนที่จำเลยที่ 1 จะใช้ดุลพินิจเสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดชั่วโมงสอนดังกล่าวของตน ต่อจำเลยที่ 2 เพื่อมีคำสั่งนั้น หากจำเลยที่ 1 มีข้อสงสัยในการจัดชั่วโมงสอน ก็สามารถที่จะเรียกตนไปสอบถาม หรือจัดทำตารางสรุปรายการสอนประจำภาคเรียน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสอน และดำเนินการจัดชั่วโมงการสอนให้เหมาะสมได้ แต่ทางจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีการติดต่อมาเพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด แต่กลับบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยได้ใช้ดุลพินิจเสนอความเห็นที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริงและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยได้เสนอความเห็นต่อจำเลยที่ 2 ว่าในภาคเรียนที่ 2/2557 ชั่วโมงสอนที่จะจัดให้อาจไม่พอให้สอนได้ โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้เสนอชื่อหรือมอบหมายให้โจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการและอาจารย์
อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังได้ดำเนินการจ้างบุคคลภายนอก เข้ามาร่วมสอนในรายวิชาของคณะฯ อีก 2 คน และในตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีในการรับราชการที่ผ่านมา ในการจัดทำแบบฟอร์มสรุปรายการสอน ประจำภาคเรียนนั้น จะต้องมีการจัดทำก่อนถึงภาคเรียนเสมอ และในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 ก็เช่นเดียวกันที่จะต้องมีการจัดทำขึ้นก่อนถึงภาคเรียน เพื่อจะได้ไม่กระทบกับผู้สอนและนักศึกษา และยังไม่มีเคยการเปลี่ยนแปลงบุคลากรเลย
ทั้งนี้บุคคลที่จำเลยที่ 1 ได้จ้างมาสอนนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับคุณสมบัติของโจทก์รวมทั้งประสบการณ์สอนสาขาวิชาการบัญชีเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ของโจทก์แล้วไม่ได้แตกต่างกัน
การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยส่งผลให้โจทก์ซึ่งมีหน้าที่หลักในการสอน กลับไม่ได้รับหน้าที่ในการสอนในภาคเรียนที่ 2/2557 โดยให้ไปช่วยงานราชการสนับสนุนอื่น ทำให้ขาดการพัฒนาการสอนอย่างต่อเนื่อง อันจะส่งผลต่อการที่ตนจะเสนอผลงานเพื่อขอวิทยาฐานะที่สูงขึ้น เนื่องจากหลักเกณฑ์ในการขอต้องมีประสบการณ์ในการสอนต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปี
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สถานะของโจทก์ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สอนต่ำลง และจะส่งผลต่อการเรียนการสอนโดยเฉพาะส่วนของนักศึกษาที่เคยสอนมาแล้วในภาคเรียนแรก
ในทางกลับกันหากจำเลยทั้งสองมอบหมายให้โจทก์มีหน้าที่สอนตามปกติ จะทำให้มหาวิทยาลัยไม่ต้องเสียเงินจ้างบุคคลภายนอกมาสอนแทน โดยการกระทำของจำเลยทั้งสองมิได้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน เป็น พ.ศ.2553 มาตรา 3/1 และพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 มาตรา 6)
ในส่วนของจำเลยที่ 2 ในฐานะอธิการบดี มีหน้าที่บริหารและเป็นผู้บัญชาสูงสุดและรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย จะต้องพินิจพิเคราะห์ในข้อเท็จจริงในคำสั่งต่างๆก่อน โดยที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชาเสนอมาเพื่อสอบข้อเท็จจริงต่างๆที่ได้รับมาก่อนจะมีคำสั่ง นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ดำเนินกำกับดูแลการบริหารงานของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับของทางราชการและทางมหาวิทยาลัย แต่จำเลยที่ 2 กลับพิจารณาและมีคำสั่งตามที่จำเลยที่ 1 เสนอมาโดยปราศจากการทักท้วงหรือเหตุขัดข้องในการบริหารจัดการแต่อย่างใด
ก่อนที่โจทก์จะได้ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล ได้ดำเนินการเพื่อให้จำเลยทั้งสองทบทวนคำสั่ง โดยได้จัดทำบันทึกเสนอต่อจำเลยที่ 2 โดยผ่านจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ยังได้เสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง เพื่อเสนอต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2557 ว่า “วิชาภาษีอากร 1 และวิชาการสอบบัญชี เป็นวิชาที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการโดยเฉพาะ”
โดยจำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งในบันทึกข้อความดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 ว่า “ทราบรวม มอบคณบดีคณะวิทยาการจัดการ” ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสองยังคงยืนยันในคำสั่งเดิม โดยเป็นการกระทำโดยใช้ดุลพินิจในการเสนอความเห็นที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
ซึ่งผลการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงส่งผลให้โจทก์ซึ่งมีหน้าที่หลัก คือการสอน กลับไม่มีรายชื่อเป็นอาจารย์ผู้สอน และไม่ได้รับชั่วโมงสอนในภาคเรียนที่ 2/2557 ทั้งที่ยังเหลือชั่วโมงที่ต้องสอนอีก 64 คาบ โดยโจทก์ไม่ได้ดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพราะต้องการที่จะดำเนินคดีด้วยตนเอง
ผศ.บัญญัติ ชำนาญกิจ อธิการบดี มรภ. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราก่อนหน้านี้ว่าพร้อมต่อสู้ในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยต้องดูว่าขณะที่ฟ้องร้องต้องดูว่าผู้ฟ้องได้พ้นจากการช่วยราชการอาจารย์ที่ มรภ.นครสวรร์ไปแล้วหรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มรภ.นครสรรค์ได้ตกเป็นข่าวกรณีอธิการบดีตั้งกรรมการสอบสวนคณบดีและรองคณบดีถูกกล่าวหาลอกงานวิจัย
(อ่านประกอบ:อธิการฯมรภ.นครสวรรค์ตั้งกก.สอบ“คณบดี-รอง”ปมลอกงานวิจัย รับ 4 หมื่น)