สตง.จี้ กสทช.ดำเนินคดี 2 เอกชน ชิงแจกใบปลิวกล่องดิจิตอลก่อนอนุมัติ
สตง.จี้กสทช.ดำเนินคดีตามกม. "วินเนอร์ ดิจิตอล-การศึกษาก้าวไกล" ชิงแจกใบปลิวจองสิทธิใช้คูปองแลกกล่องทีวีดิจิตอล ก่อนอนุมัติ เผยสั่ง จนท.เกาะติดการดำเนินงานในภาพรวม หลังพบวิธีการส่อมีปัญหาเพียบเปิดช่องทุจริต เสนอแนะวิธีแก้ไขไปแล้ว ประหยัดงบ แต่ไม่ฟัง
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่าภายหลังจากที่เกิดกรณี บริษัท วินเนอร์ ดิจิตอล และบริษัท การศึกษาก้าวไกล ผู้แทนจำหน่ายกล่องดิจิตอล ได้ทำการแจกใบปลิวให้กับประชาชนกว่า 3 แสนราย ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนนำสำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้านมาจองสิทธิในการใช้คูปองนำมาแลกรับกล่องวินเนอร์ได้ ทั้ง ๆ ที่ กสท. ยังไม่ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการกล่องรายใดเข้าร่วมโครงการ และทางสำนักงาน กสทช.ได้มีการตัดสิทธิ์ ทั้ง 2 บริษัท ไม่ให้เข้าร่วมโครงการแล้ว สตง.เห็นว่า กสทช.ควรจะมีการดำเนินการตามกฎหมายกับทั้ง 2 บริษัทด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต
"วิธีการแจกคูปอง จากเหตุการณ์กรณี บริษัท วินเนอร์ ดิจิตอล และบริษัท การศึกษาก้าวไกล ผู้แทนจำหน่ายกล่องดิจิตอล ที่มีข่าวว่าได้มีการแจกใบปลิวให้กับประชาชนกว่า 3 แสนราย ทั้ง ๆ ที่ กสท. ยังไม่ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการกล่องรายใดเข้าร่วมโครงการ ทำให้เห็นว่าวิธีการแจกคูปองอาจไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมอีกต่อไป หากสำนักงาน กสทช. ไม่สามารถหาวิธีการควบคุมและป้องกันที่มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน วิธีการแจกคูปองจะเป็นช่องทางการทุจริตได้ง่ายดังข่าวที่ปรากฏ ซึ่งอาจทำให้รัฐสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลโดยผลประโยชน์ไม่ตกไปสู่ประชาชนผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง หากกสทช.เอาจริงเอาจริงกับเรื่องนี้ ควรจะมีการสั่งดำเนินคดีทางกฎหมายกับบริษัทเอกชนทั้งสองราย"
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า เกี่ยวกับการแจกคูปองทีวี ดิจิทัล ของกสทช. สตง.เคยเสนอแนะไปแล้วว่า ขอให้ กสทช. พิจารณาทบทวนมติในเรื่องการกำหนดมูลค่าคูปองด้วยความรอบคอบ เพราะหากกำหนดมูลค่าที่สูงเกินข้อเท็จจริง นอกจากจะทำให้เกิดการบิดเบือนราคาตลาดทำให้ผู้ประกอบการหรือร้านค้าได้รับกำไรที่สูงเกินความเป็นจริงยังทำให้รัฐต้องสูญเสียเงินงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ สตง.เข้าไปตรวจสอบติดตามประเมินผลการดำเนินงานปัจจุบันแล้ว
สำหรับวิธีการแจกคูปอง สตง.เห็นว่า หากดำเนินการแจกคูปองทุกครัวเรือนอาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้โดยง่าย จึงควรให้มีการลงทะเบียนใช้สิทธิ ทั้งนี้เพื่อให้การสนับสนุนถึงมือผู้มีสิทธิและเป็นผู้ต้องการใช้สิทธิ ซึ่งวิธีการที่ สตง.ให้ความเห็นไว้ นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อตัดวิธีการแจกคูปองซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 900 ล้านบาท โดยเมื่อประชาชนมาขอใช้สิทธิและกรมการปกครองตรวจสอบสิทธิถูกต้องแล้ว ให้มีการออกใบรับรองการใช้สิทธินั้น เจตนารมณ์ของ สตง. เพื่อต้องการให้มีการใช้ใบรับรองการใช้สิทธินั้นแทนคูปอง
โดยสำนักงาน กสทช. ก็ไม่จำเป็นต้องจัดพิมพ์คูปองเพื่อส่งไปให้ประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณในส่วนของค่าใช้จ่ายในการพิมพ์คูปองและค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง พร้อมทั้งลดขั้นตอนในการดำเนินการ เพียงแต่สำนักงาน กสทช. ต้องออกแบบวิธีการควบคุมการตรวจสอบสิทธิ และการออกใบรับรองการใช้สิทธิร่วมกับกรมการปกครอง ซึ่งมีระบบสารสนเทศทั่วประเทศอยู่แล้ว โดยให้ออกใบรับรองการใช้สิทธิจากระบบและป้องกันการออกใบรับรองสิทธิซ้ำจากระบบคอมพิวเตอร์