ปธ.บอร์ดไทยพีบีเอส-ปธ.สภาการ นสพ.เรียกร้ององค์กรสื่อป้อง“ณาตยา”
ปธ.บอร์ดไทยพีบีเอส-ปธ.สภาการหนังสือพิมพ์ ประสานเสียงเรียกร้ององค์กรสื่อปกป้อง"ณาตยา แวววีรคุปต์" จักร์กฤษ จี้ไทยพีบีเอสป้องนักข่าว สำนักข่าวไทยพีบีเอส ออกแถลงการณ์ยุติการแทรกแซงคุกคามการทำหน้าที่สื่อมวลชน
จากกรณีที่นายทหารกลุ่มหนึ่ง เดินทางมาพบผู้บริหารไทยพีบีเอสขอให้ยุติการนำเสนอรายการเสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป หลังไม่พอใจการทำหน้าที่ของผู้ดำเนินรายการคือ น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ ที่พาดพิงการรัฐประหาร ในเทปที่มีการออกอากาศเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2557 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) เมื่อวันที่ 14 พ.ย.57 ถอดนางสาวณาตยาจากการเป็นผู้ดำเนินรายการดังกล่าว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2557 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สัมภาษณ์นายศิริชัย สาครรัตนกุล ประธานกรรมการนโยบายองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยหรือไทยพีบีเอสถึงกรณีที่ผลการประชุมของผู้บริหารไทยพีบีเอสวานนี้ ที่ถอดผู้ดำเนินรายการคือนางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ ซึ่งอาจทำให้เกิดคำถามว่าไทยพีบีเอสแสดงจุดยืนไม่ชัดเจนพอต่อการปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในองค์กรหรือไม่
นายศิริชัยกล่าวว่าการประชุมของกรรมการนโยบายฯ ที่มีขึ้นวานนี้ มีฝ่ายจัดการซึ่งหมายถึงคณะกรรมการบริหารไทยพีบีเอสที่มีผู้อำนวยการเป็นประธานคณะกรรมการตามกฎหมาย และรองผู้อำนวยการทั้งสามคนและกรรมการบริหารอีก 3 คน รายงานให้กรรมการนโยบายฯทราบ ซึ่งรายละเอียดของรายงาน ตนไม่ขอเล่า เพราะเราก็รับทราบรายงานจากฝ่ายจัดการอีกทีหนึ่ง เราได้แต่เพียงรับทราบในสิ่งที่เขาปรึกษากันแล้ว แต่ก็ยืนยันตามแถลงการณ์ที่ออกไป 3 ข้อวานนี้ โดยประเด็นหนึ่งในแถลงการณ์คือยืนยันไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงผังรายการของไทยพีบีเอส เพราะรายการเสียงประชาชนที่ต้องฟังก่อนการปฏิรูปนี้เป็นรายการที่มีประโยชน์กับประชาชน และมีองค์กรร่วมจัด 12 องค์กร และมีเครือข่ายภาคประชาชนอีกจำนวนมาก
“ส่วนแถลงการณ์ข้อสาม ที่มีการเปลี่ยนผู้ดำเนินรายการ เราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเปลี่ยนไปแล้ว แต่เราก็ยอมรับว่าคุณณาตยาทำงานดี เราก็ชื่นชม” นายศิริชัยระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทราบว่ามีการหารือในการประชุมว่ามีความจำเป็นต้องถอด น.ส.ณาตยา ออกจากการเป็นผู้ดำเนินรายการดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยของครอบครัว จริงหรือไม่
นายศิริชัยกล่าวว่าคณะกรรมการนโยบายฯ ก็ได้ยินได้ฟังฟังจากฝ่ายจัดการที่เขามารายงาน
"แต่เราก็ไม่ได้ ไปถามคุณณาตยาโดยตรง เพราะฝ่ายจัดการก็ไม่ได้พาคุณณาตยามาด้วย แต่ที่เรายืนยันก็คือเหมือนในแถลงการณ์ข้อสามที่ชื่อชมคุณณาตยา"
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีการรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. 2557 นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสก็ถูกนายทหารเชิญตัวไปเนื่องจากนายวันชัยไม่ยับยั้งการถ่ายทอดสถานการณ์วันรัฐประหารที่มีนางสาวณัฎฐา โกมลวาทิน เป็นผู้ดำเนินรายการ จนมาถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ที่ไทยพีบีเอสถูกกดันให้เปลี่ยนตัวนางสาวณาตยา สถานการณ์เหล่านี้สะท้อนอะไร และไทยพีบีเอสควรแสดงจุดยืนมากกว่านี้หรือไม่
นายศิริชัยกล่าวว่า เราก็ทำหน้าที่ของเราเต็มที่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็สะท้อน ให้สาธารณะได้เห็น ยืนยันว่าเราก็จะต้องรักษาจุดยืนของเราอย่างมั่นคง
"และขอเรียกร้ององค์กรสื่อรวมทั้ง สถาบันอิศราก็ดีและองค์กรสื่อต่างๆ ที่มีหน้าที่ตรงนี้โดยตรง ช่วยปกป้องกระบวนการทำงานของสื่อด้วย ซึ่งผมก็ชื่นชม ที่วานนี้มีแถลงการณ์จากหลายองค์กร และก็ได้ยินว่าวันนี้จะมีแถลงการณ์เพิ่มขึ้นจากองค์กรสื่อต่างๆ" นางศิริชัยระบุ
ด้านนายจักร์กฤษ เพิ่มพูน ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่าตามปกติแล้วเมื่อมีประเด็นเรื่องที่กระทบสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน จะต้องเป็นบทบาทของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งกรณีที่เกิดกับไทยพีบีเอสขณะนี้คือเรื่องของการลิดรอน สิทธิเสรีภาพสื่อ ดังนั้น ก็ควรจะเป็นหน้าที่โดยตรงของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมสื่อวิทยุโทรทัศน์ไทย ซึ่งยังไม่ได้รับรู้เป็นทางการว่าทั้งสองสมาคมจะมีท่าทีอะไรแต่ก็ทราบว่าเขาคุยกันอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่าประเด็นเรื่องการคุกคามสื่อที่เกิดขึ้นกับนางสาวณาตยา นายจักร์กฤษในฐานะนายกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน มีมุมมองอย่างไร นายจักร์กฤษกล่าวว่าพูดได้ในแง่ส่วนตัว เนื่องจากสภาการหนังสือพิมพ์ ไม่ควรจะมีบทบาทนำในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นบทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อที่เกี่ยวข้อง แต่สำหรับองค์กรสื่อหลักทั้งสี่องค์กร เห็นว่าควรมีท่าทีร่วมกันถึงการแสดงจุดยืนต่อกรณีนี้
“เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นกับไทยพีบีเอสครั้งนี้ เป็นการใช้อำนาจรัฐคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในขณะที่เรากำลังมีการปฏิรูปประเทศไทย แล้วมีคนบางกลุ่มไปกดดัน ทำให้ผู้บริหารสถานีต้อง เปลี่ยนแปลงพิธีกรที่ทำงานรายการที่เกี่ยวกับการปฏิรูปของภาคประชาชน ผมเห็นว่านี่เป็นเรื่องร้ายแรง ในการที่อำนาจรัฐหรือกลไกของรัฐเข้าไปมีอิทธิพลหรือทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในองค์กรสื่อ ที่เราเชื่อว่าเป็นองค์กรสื่อเดียวในขณะนี้ ที่ควรจะมีอิสระมากที่สุด” นายจักร์กฤษระบุและกล่าวด้วยว่านี่เป็นโอกาสสำคัญของกรรมการนโยบายฯและผู้บริหารไทยพีบีเอสที่ต้องแสดงจุดยืนในการทำงานตามหลักวิชาชีพอย่างตรงไปตรงมา และต้องปกป้อง น.ส.ณาตยาอย่างเต็มที่ โดยที่ไม่มีเงื่อนไข ใดๆ ทั้งสิ้น แม้ผู้มีอำนาจจะอ้างว่าใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก แต่ในเมื่อเวลานี้ ประเทศมีรัฐบาล มีสภาฯแล้ว ก็ควรเข้าสู่กลไกปกติ
"ไม่ใช่ใช้อำนาจนอกระบบไปใช้กับสื่อ ทั้งที่เขาทำหน้าที่ตามวิชาชีพ แบบนี้ไม่ควร" นายจักร์กฤษระบุ
ล่าสุดในช่วงเย็นวันที่ 15 พ.ย.2557 สำนักข่าวไทยพีบีเอส ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการแทรกแซงและคุกตามต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชน และยืนยันจะรักษาไว้ซึ่งความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการเพื่อปกป้องเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารอย่างรอบด้านของประชาชน
(ดูแถลงการณ์ประกอบ)
อ่านประกอบ :
ส.นักข่าวจ่อชงเลิกประกาศคสช.จำกัดสิทธิสื่อ-ชี้ปม“ณาตยา”รุนแรงยอมไม่ได้
แง้มห้องประชุมไทยพีบีเอส! ล้วงเหตุผลเปลี่ยนตัวพิธีกรปกป้อง"ณาตยา"
บอร์ดไทยพีบีเอส อ้างหนุน"ณาตยา"ทำหน้าที่สื่อ แต่ยอมเปลี่ยนตัว "พิธีกร"
"พันเอก"อ้างคำสั่ง"นาย"ตบเท้าบีบThaiPBSถอด "ณาตยา-รายการเสียงปชช."
เบื้องหลัง!บทสนทนา "ทหาร"บีบผู้บริหารไทยพีบีเอสสะดุ้ง-"ณาตยา"ถอนตัว!
ภาพประกอบจาก :www.thaipbs.or.th,www.mediainsideout.net,www.naewna.com