สนช.มีมติยืนตามกมธ.ผ่านร่างพ.ร.บ. ศาลปค.-คงสภาพกศป.อยู่ต่อ
มติ สนช. 169 ต่อ 1 ผ่านร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ เห็นด้วยตามการพิจารณาของ กมธ.เสียงข้างมาก แก้ไขเพียบ ตัดทิ้งม.12 ไม่ต้องเลือก กก.ผู้ทรงคุณวุฒิ คงสภาพ กศป. ไว้ตามเดิม “วิชัย” โต้ กศป. ทำหน้าที่ต่อไปเพราะสภาให้อำนาจ ไม่ใช่การเลือกตั้ง “กล้านรงค์” สวนแก้ไขไม่ต่างจากร่างเดิม
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2557 ที่รัฐสภา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในวาระที่ 2 โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มีนายกล้านรงค์ จันทิก สนช. พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ประธาน สนช.
โดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯดังกล่าว กมธ.เสียงข้างมากมีมติแก้ไขทั้งสิ้น 9 มาตรา คือมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 14 โดยเสียง สนช. ส่วนใหญ่ต่างลงมติเห็นด้วยตามความเห็นของคณะกรรมาธิการฯเสียงข้างมาก
ท้ายสุด สนช. มีมติเสียงข้างมาก ให้ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยเสียง 169 เสียง ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 178 เสียง
ทั้งนี้มาตราสำคัญที่นายวิชัย ชื่นชมพูนุท กมธ.เสียงข้างน้อยสงวนความเห็นแปรญัตติมีอยู่ 3 มาตราคือ มาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 14
โดยในมาตรา 12 มีสาระสำคัญคือ การตั้ง กศป. ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งกมธ.เสียงข้างมาก มีมติว่า สมควรตัดทิ้ง ขณะที่นายวิชัย เห็นว่า สมควรคงไว้
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ แบบเดิมก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯนั้นคือให้ยกเลิกกรรมการตุลาการศาลปกครอง (กศป.) ทั้งหมดและให้มีการตั้งขึ้นใหม่ โดยระหว่างยกเลิกนั้น ให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดปฏิบัติหน้าที่แทน ซึ่ง กมธ. เองได้มองถึงจุดนี้ ฉะนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่า เรายังคงให้ กศป. ชุดนี้ดำรงอยู่ต่อไป จนกว่าจะครบวาระในวันที่ 19 เมษายน 2558 ขณะที่ปัญหาต่อมาคือ ถ้าหากมี กศป. พ้นจากตำแหน่งจะทำอย่างไร เราก็เขียนในมาตรา 13 แล้วว่า ถ้าพ้นก่อนครบวาระระหว่างที่รัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสุดลงจนถึง พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้ ก็ให้ประธานศาลปกครองสูงสุด เลือกตั้งซ่อม กศป. มาได้ ซึ่งเราก็ได้แก้ไขปัญหาในจุดนี้แล้ว ที่สำคัญเราต้องพิจารณามาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 14 รวมกัน นี่คือหลักการและเหตุผลของ กมธ. ที่ต้องเรียนให้ที่ประชุมใหญ่
ด้านนายวิชัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 และรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ต่างกัน กศป. ในปี 2549 นั้นไม่มีการยกประเด็นว่า กศป. อยู่หรือไม่ในช่วงที่รัฐธรรมนูญปี 2540 สิ้นสุดลง องค์ประกอบของ กศป. มีครบทั้ง 13 คน ซึ่งตนเข้าใจโดยสุจริตว่า กศป. กับกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) มีลักษณะกฎหมายเหมือนกัน ทีนี้พอนำกฎหมายมาอ่านเลยทราบว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ไม่ได้เขียนองค์ประกอบของ กศป. ไว้ ดังนั้นแม้จะเหมือนเดิม แต่ก็ต้องบัญญัติขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ เป็นการบัญญัติองค์ประกอบขึ้นมาใหม่ โดยประเพณีทั่วไปแล้ว ไม่ให้มีการเลือกตั้ง ตนเป็นเสียงข้างน้อยจึงไม่เห็นด้วย จึงมีความเห็นว่าองค์ประกอบถูกบัญญัติขึ้นมาครั้งแรก จึงควรให้มีการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ที่ประชุม สนช. มีมติเห็นด้วย 151 เสียงต่อ 14 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ให้ตัดมาตรา 12 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จากที่ประชุม 177 คน
ส่วนในมาตรา 13 มีสาระสำคัญคือ การได้มาซึ่ง กศป. ในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสภาพ ซึ่งกมธ.เสียงข้างมากมีมติให้ กศป. ยังอยู่ตามสภาพเดิมและดำรงตำแหน่งจนครบวาะในวันที่ 19 เมษายน 2558 ขณะที่ นายวิชัย กมธ.เสียงข้างน้อย ต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่
นายวิชัย กล่าวว่า หากอ่านมาตรา 13 ที่ กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขไว้ จะมีการรับรองให้ กศป. ในส่วนที่ได้รับเลือกตั้งจากตุลาการมีผลทำหน้าที่ต่อไปหลังจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้แล้ว ตามที่ กมธ.เสียงข้างมาก และสภาแห่งนี้กำหนด ดังนั้น กศป. ที่ทำหน้าที่ต่อไปได้เพราะสภาแห่งนี้ให้อำนาจ ไม่ได้เกิดจากการเลือกตั้งของตุลาการ อีกประการหนึ่งคือ การเลือกตั้งลักษณะอย่างนี้ตามมาตรา 13 ต้องมีการเขียนบทเฉพาะกาลว่า กรรมการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ร่วมกับ กศป. ซึ่งสถาปนาโดยสภาแห่งนี้ เท่ากับว่าไม่ได้มาตฐานของกฎหมายทั่วไป หากไม่มีมาตรา 12 มาตรา 12 ก็คงจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งซ่อมก็มีใน พ.ร.บ.ฉบับนี้แต่ต้น ที่ส่วนไหนไม่ครบก็เลือกได้ แต่ใน พ.ร.บ.ฉบับผ่านความเห็น กมธ. เป็นการเลือกตั้งซ่อมกรณีพิเศษ เลือกตั้งใหม่ให้ทำหน้าที่ผสมกับ กศป. เดิมที่มีอยู่ ทั้งนี้ที่มีการพูดกันว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปล้ม กศป. ความจริงกฎหมายที่ล้ม กศป. คือรัฐธรรมนูญที่สิ้นสุดลง การตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงไม่ใช่เป็นการตัดทอนของ กศป.
ด้านนายกล้างนรงค์ กล่าวว่า ถ้าเราดูการแปรญญัติของ กมธ.เสียงข้างน้อย จะเห็นได้ว่า มาตรา 12 ที่ขอสงวนไว้นั้นได้ตัดไปแล้ว ส่วนมาตรา 13 ที่ขอแปรญัตติ ถ้าอ่านให้ดี ก็ไม่ไกลกับร่างที่ กมธ. แก้ไขนัก ดังนั้นจึงขอมีมติยืนตามการพิจารณาของ กมธ.เสียงข้างมาก
ทั้งนี้ที่ประชุม สนช. มีมติเห็นด้วย 145 เสียง ต่อ 17 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ให้ กศป. ยังอยู่ตามสภาพเดิม จากที่ประชุมทั้งหมด 177 คน
ต่อมาในมาตรา 14 สาระสำคัญคือ การให้ความเห็นชอบของ กศป. หลังรัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสุดลง ซึ่งกมธ.เสียงข้างมากมีมติให้แก้ไข ส่วนนายวิชัย กมธ.เสียงข้างน้อย เห็นว่าควรให้คงไว้ตามเดิม ซึ่งในมาตรานี้ไม่มีบุคคลใดอภิปราย
ทั้งนี้ที่ประชุม สนช. มีมติเห็นด้วย 162 เสียงต่อ 5 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ให้แก้ไขในมาตรา 14 ของร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ
อ่านร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ฉบับคณะกรรมาธิการวิสามัญ : http://bit.ly/1vLqpSx
อ่านประกอบ :
กมธ.เทเสียง หนุนร่าง พ.ร.บ.ศาล ปค.แก้ไขให้ "ก.ศป." คงอยู่ต่อ
กมธ.จ่อลงมติร่าง พ.ร.บ.ศาลปกครอง ปม ก.ศป.อยู่หรือไป 3 ต.ค.
สนช.รับหลักการร่างกม.จัดตั้งศาลปค.-"ครูหยุย"ซัดละเมิดสิทธิ ก.ศป.
เปิดละเอียดคำชี้แจงตุลาการ ยื่นปธ.สนช. คัดค้านร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปค.
เบื้องหลัง! มติวิป สนช.ฉบับเต็ม เข็นร่างกม.จัดตั้งศาลปค. เข้าวาระ 7 วันที่ 18 ก.ย.นี้