เหยื่อสะพาน 200 ปี ถล่ม ร้อง “อิศรา” ผู้มีส่วนรับผิดชอบ ยังลอยนวล
พ่อเด็กหญิงวัย 10 ขวบ ที่เสียชีวิต จากเหตุการณ์สะพานถล่ม 2 ปีก่อน ร้อง "อิศรา" ช่วยติดตามความคืบหน้า พ้อผู้มีส่วนรับผิดชอบยังลอยนวล ทั้งที่ ตร.มีหมายจับ แต่อัยการยังไม่ส่งฟ้องศาล โวย "มหาดไทย-กรมโยธาธิการ" ไร้บทลงโทษทางวินัย ขรก.บกพร่องต่อหน้าที่
เมื่อเร็วๆ นี้ นายอนุนาท เสือสมิง บิดาของเด็กหญิง พิริยาภรณ์ เสือสมิงวัย 10 ขวบ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สะพาน 200 ปี ของเทศบาลตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถล่ม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2556 ได้เข้าร้องเรียนต่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์สะพานถล่ม ทำให้บุตรสาวเสียชีวิต ได้ตัดสินใจไปแจ้งความดำเนินคดีอาญากับผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบสะพานทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วิศวกรผู้ออกแบบและบริษัทผู้รับเหมาและพวก ทั้งที่ตำรวจออกหมายจับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว แต่อัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ยังไม่ส่งฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดี อีกทั้งหน่วยงานราชการ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ก็ไม่มีคำสั่งลงโทษทางวินัยกับข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือควรต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สะพานถล่มในครั้งนี้
“เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2556 ผมไปแจ้งความต่อนายกเทศมนตรี ,เทศบาล ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เพราะเหตุเกิดที่นี่ รวมทั้งบริษัทรับเหมาและพวก จากนั้น วันที่ 8 ส.ค. 2558 ตำรวจก็แจ้งความคืบหน้าในการสอบสวนว่ามีการออกหมายเรียกผู้รับเหมา, นายกเทศมนตรี, บริษัทผู้รับเหมาแล้ว คือผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ ของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง บกพร่องทั้งหมด การตั้งกรรมการตรวจก็เอาผู้ที่ไม่มีความรู้มาเป็นกรรมการ
“รวมทั้งผู้ออกแบบสะพานสมโภชน์ 200 ปี ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่เป็นผู้มีรายชื่อถูกออกหมายจับ ผมก็ร้องเรียนไปที่กรมโยธาธิการและผังเมืองด้วย แต่วิศวกรรายนี้เขาลาออกก่อนกำหนดเกษียณอายุ ซึ่งอธิบดีกรมโยธาธิการก็มีหนังสือตอบกลับมา และมีส่วนที่ระบุว่ากรณีผู้ออกแบบรายนี้ได้รับเงินบำนาญนั้น เหมาะสมแล้ว ทั้งที่เราแจ้งความเพื่อให้เป็นคดีอาญา เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง มีส่วนทำให้สะพานชำรุดและลูกเราเสียชีวิต แต่อธิบดีกรมโยธาธิการฯไม่ระงับยับยั้งการขอลาออกของเขา ทั้งที่ เราขอให้ลงโทษทางวินัยโดยขอให้มีคำสั่งให้เขาถูกไล่ออก แต่กลับกลายเป็นว่าทุกวันนี้ ผู้ออกแบบสะพานสมโภชน์ 200 ปีนี้ เขาก็ยังได้เงินบำนาญซึ่งเป็นเงินจากภาษีประชน”
นายอนุนาท กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงยังไม่มีความคืบหน้าในการติดตามบุคคลตามหมายจับจากเหตุการณ์นี้ ทั้งที่กรณีผู้ที่มีหมายจับ ก็เป็นผู้ที่ได้รับเงินบำนาญ มีเลขฐานบัตรประชาชน มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ที่ยังได้รับเงินบำนาญทุกเดือน จึงสงสัยว่าทำไมยังจับไม่ได้ ถ้ามีความจริงจังก็ไม่น่าจะใช้เวลานานขนาดนี้
นายอนุนาทกล่าวด้วยว่า กรณีขอให้มีการลงโทษทางวินัยกับนายกเทศมนตรี เมื่อทวงถามถึงการตั้งกรรมการสอบสวน โดยขอใช้สิทธิ์ ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร ที่มีสิทธิ์โดยชอบธรรมในฐานะประชาชนและเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เขาก็ไม่ให้ผลสอบ นอกจากนี้ ก็ยื่นหนังสือร้องเรียนไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ( นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ ) ด้วย เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนความบกพร่องต่อหน้าที่ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และทั้งที่เห็นว่าสะพานชำรุดและเอียง แต่ไม่มีการสั่งระงับการใช้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นถือว่ากระทบต่อสิทธิของประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจในการถอนนายกเทศมนตรี แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น
“เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กันยายน ( 2557 ) ที่ผ่านมา ผมก็ไปติดตามเรื่องผลสอบของกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็พบว่าไม่มีใครได้รับโทษทางวินัย เป็นไปได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งคดีอาญา ทั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหมายจับแล้ว เรื่องก็ยังค้างอยู่ที่อัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังไม่มีการส่งฟ้องศาล” นายอนุนาทระบุ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2556 สถานีตำรวจภูธรท่าเรือ มีหนังสือที่ ตช 0016.65 / 4766 แจ้งนายอนุนาท ให้ทราบถึงความคืบหน้าในการติดตามคดี
หนังสือดังกล่าว มีใจความสำคัญระบุว่า ตามที่นายอนุนาทได้แจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับนายเชษฐา ปทุมรังสี นายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง และนายมนตรี เคหนาดี กรรมการผู้จัดการบริษัทกับพวก ที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิด ฐานกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ คดีที่ 548/2556 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2556 และพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษไว้แล้วนั้น ความคืบหน้าผลดำเนินการของพนักงานสอบสวนได้รับผลการทดสอบแรงดึงของลวดสลิง จากพิสูจน์หลักฐานกลาง กรุงเทพมหานครไว้แล้ว ทางคดีความชัดเจนว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิดในคดีนี้ และคณะสอบสวนได้ดำเนินการออกหมายเรียกผู้ต้องหาแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ต้องหาที่พนักงานสอบสวนระบุ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 บริษัทดีไนซ์ ( 2009 ) จำกัด และนายมนตรี เคหนาดี
กลุ่มที่ 2 วิศวกรผู้ควบคุมงาน 2 ราย ได้แก่ นายอนุวัติ วิชัยโย และนายสันติธรรม ศรีนวลสกุลณี
กลุ่มที่ 3 คณะกรรมการตรวจการจ้าง 6 ราย ได้แก่ นายพิลึก ชัชวงษ์ นายมานพ ธูปทอง นายรชต ชาติพรหม น.ส.กานต์พิชา ชาติพรหม นายชาญ คงชาตรี และนางศิริพร หวังศิระกร
กลุ่มที่ 4 เทศบาลตำบลท่าหลวง และนายเชษฐ่า ปทุมรังสี นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าหลวง (ขณะนั้น )
กลุ่มที่ 5 นายวรพจน์ นุชิต อดีตหัวหน้ากลุ่มงานวิชาการโยธาธิการ วิศวกรชำนาญการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สำหรับ บริษัท ดีไนซ์ (2009 ) จำกัด ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่าได้เปลี่ยนชื่อ เป็น บริษัท ที.เอ็ม.ไอ.ดริล แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555
ขณะที่ข้อมูลบริษัท ที.เอ็ม.ไอ.ดริล. แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด จดทะเบียน เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ทะเบียนเลขที่ 0105552057863 ทุนจดทะเบียน 12 ล้านบาท กรรมการบริษัทคือ นายมนตรี เคหนาดี และนายจำเริญ วิโรจนาภา สำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่ 10/11 หมู่ที่ 3 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่
ภาพประกอบจาก : http://news.sanook.com