พล.อ.ไพบูลย์ลั่นไม่เป็นเครื่องมือใคร ขอศึกษาปมจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ
รมว.ยุติธรรม ขอเวลาศึกษาข้อมูล ปมจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ ยันไม่เป็นเครื่องมือใคร ด้านอดีต ผอ.กองคลัง กรมราชทัณฑ์ แจงปมยุค"ประชา"เสนอ ครม.ก่อนถูกตีกลับ หันมาใช้วิธีกรณีพิเศษ จาก อคส. อ.ต.ก.ชสท.องค์การตลาดฯ
จากกรณีที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เปิดเผยข้อมูลหนังสือที่นายประชา พรหมนอก ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอต่อ เลขาธิการ ครม. ให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการจัดหาอาหารดิบ ( อาหารดิบเป็นรายสิ่ง ) สำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 กับองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย โดยวิธีกรณีพิเศษ ก่อนที่ในเวลาต่อมา วันที่ 7 ธันวาคม 2555 รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะตีกลับข้อเสนอดังกล่าว โดยขอให้กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการเสนอเรื่องนี้ ให้คณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ พิจารณา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี
( อ่านประกอบ : กางหลักฐาน ครม.ไม่รับข้อเสนอ"ประชา"จัดซื้ออาหารดิบโดยวิธี “กรณีพิเศษ” )
ล่าสุด ผู้สื่อข่าว ได้รับการเปิดเผยจาก พ.ต.อ. ศุภกร ศุภศิณเจริญ อดีตผู้อำนวยการกองคลัง กรมราชทัณฑ์ ถึงความเป็นมาของข้อเสนอดังกล่าวว่า แนวคิดในข้อเสนอมาจาก พล.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ขณะนั้น ต้องการที่จะประหยัดงบประมาณเนื่องจากงบประมาณที่ทุกรัฐบาลให้มา ไม่เคยให้กรมราชทัณฑ์เต็ม ตามจำนวนผู้ต้องขังปกติที่มีอยู่ตามหมายศาล
“รัฐบาลทุกรัฐบาลจะให้งบประมาณมาสำหรับนักโทษประมาณหนึ่งแสนหกหมื่นกว่าคนทุกครั้งทั้งที่ผู้ต้องขังมีประมาณ 2-3 แสนคน จึงเป็นเหตุให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ต้องของบกลางจากรัฐบาลทุกครั้ง จึงเป็นเหตุให้ ท่านสุชาติเรียนท่านประชาว่าจะมีใครสนใจไหม ที่จะใช้วิธีเหมาเลย คืองบที่รัฐบาลให้มา ยอดเงินสำหรับเป็นค่าจัดหาอาหารดิบสำหรับแสนหกหมื่นกว่าคน ก็เอาไปทั้งหมดเลย แล้วไปเลี้ยงคน 3 แสนกว่าคนให้ได้ ไปคิดกำไร ขาดทุนเอาเอง มีใครทำได้ไหม แต่เรื่องนี้ ก็เป็นเพียงแนวคิด แต่ว่าทำไม่ทัน เรื่องนี้ก็เลยตกไป เรื่องที่คุณถามมานี่แหละ คือการเหมาจ่าย คือเป็นแนวคิดที่ถามว่ามีใครสนใจไหม เอาไปทั้งสัญญญาเลย แต่มีเงื่อนไข ว่าคุณต้องทำให้คนของเราพอกินนะ” อดีต ผอ.กองคลังรายนี้ ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุที่เรื่องนี้ ตกไป เพราะอะไร พล.ต.อ.ศุภกรตอบว่า เพราะแนวคิดนี้ ทำให้ต้องขอยกเว้นวิธีการตามระเบียบพัสดุ เมื่อยกเว้นแล้วก็ต้องนำไปเข้าหารือต่อคณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษ ถ้าคณะกรรมการชุดนี้เห็นขอบ จึงจะนำเข้าคณะรัฐมนตรีได้
พ.ต.อ.ศุภกรกล่าวว่า ในครั้งนั้น ขอยกเว้นการจัดหาด้วยวิธีการตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ ซึ่งตามปกติ หน่วยงานของรัฐ ต้องใช้ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุที่มีอยู่ 6 วิธี
"แต่ใครจะทำได้บ้าง เพราะทุกอธิบดีฯก็ต้องของบกลางร่ำไป แล้วการเพิ่มค่าอาหารต่อหัว มันไม่ได้แก้ปัญหา เพราะแม้ราคาต่อหัวเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ แก้ปัญหาการของบกลาง ดังนั้น เราจึงคิดวิธีการหาว่าใครจะกล้ามาเหมาเรื่องนี้บ้าง เพราะกระบวนการมันใช้เวลานาน แล้วตอนนั้น ใกล้กับปีงบประมาณใหม่ แล้ว ข้อเสนอนี้ไม่ทัน ก็เลยตกไป”
พ.ต.อ.ศุภกร กล่าวว่า เมื่อข้อเสนอดังกล่าวตกไป ปี 2556 กรมราชทัณฑ์จึงใช้วิธีกรณีพิเศษ เนื่องจากวิธีนี้มีอยู่ในระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุอยู่แล้ว จึงนำมาสู่การจัดซื้ออาหารดิบ กับ 4 หน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษ คือ องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย องค์การคลังสินค้า องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และชุมนุมสหกรณ์การเกษตร แห่งประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อครั้งข้อเสนอถูกตีตก ไม่ผ่านการรับรอง ของ ครม. เหตุใด พล.ต.อ.ประชา จึงเห็นควรจัดซื้ออาหารดิบกับองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย
พ.ต.อ. ศุภกร กล่าวว่าเพราะโดยภาพรวมแล้ว องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย มีธุรกรรม กับ กรมราชทัณฑ์มามาก
“ความน่าเชื่อถือก็พอสมควร แต่เรื่องนี้ก็ตกไปแล้ว เพราะเงินที่รัฐให้มาแค่สำหรับผู้ต้องขังแสนกว่าคน ก็คงไม่มีใครรับงานนี้ หรอก องค์การตลาดก็คงไม่ไหวเหทือนกัน มันเป็นแค่วิธีคิด ขบวนการมันยังไม่เสร็จ ถึงขั้นที่เรื่องจะเข้าไปสู่คณะรัฐมนตรี แล้วเรื่องอาหารรออไม่ได้ มันไม่ทัน จึงนำมาสู่วิธีกรณีพิเศษ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ให้นโยบายอะไรมาบ้าง สำหรับ การจัดซื้ออาหารดิบผู้ต้องขัง และปีงบประมาณใหม่นี้ กรมราชทัณฑ์ ใช้วิธีใดในการจัดซื้ออาหารดิบผู้ต้องขัง
พ.ต.อ.ศุภกร ตอบว่าไม่ทราบ เพราะไม่ได้ทำหน้าที่ ผอ.กองคลังแล้ว พ้นหน้าที่ตรงนั้นมาแล้ว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา สอบถามพลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่า จะตรวจสอบกรณีการจัดซื้ออาหารดิบผู้ต้องขัง กรมราชทัณฑ์ ที่ใช้วิธีกรณีพิเศษ ตามที่สำนักข่าวอิศรารายงานเรื่องร้องเรียนว่า อาจมีการผูกขาดและเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ค้าบางกลุ่ม หรือไม่ และจะยกเลิกวิธีการดังกล่าว และหันไปใช้ วิธีการเสนอราคา หรือเปิดประมูล แบบอีอ๊อกชั่นหรือไม่
พลเอกไพบูลย์ กล่าวว่า ขอเวลาศึกษารายละเอียดดังกล่าวเสียก่อน และขอให้สำนักข่าวอิศราส่งข้อมูลดังกล่าวให้ได้หรือไม่ เมื่อได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดแล้ว จะนำเข้าหารือในที่ประชุม แต่ขอย้ำว่า ตนไม่ใช่เครื่องมือของใคร ทั้งนี้ ในเบื้องต้นต้องดูที่ประโยชน์ ความเหมาะสม และเจตนารมณ์ของการใช้วิธีกรณีพิเศษด้วยว่าเป็นไปเพื่อต้องการแก้ไขปัญหา อุปสรรคใดในการจัดหาอาหารดิบเลี้ยงผู้ต้องขังหรือไม่ ส่วนกระบวนการ ปัญหาต่างๆ ที่ผู้สื่อข่าวกล่าวมานั้น จะขอศึกษาข้อมูลก่อนว่าเป็นอย่างไร