อดีตนายกฯป่าไผ่ ปัดได้ประโยชน์สัญญาซื้อน้ำเอกชน 30 ปี ชี้ถูกใส่ร้าย
"ธนวัฒน์ เคหา" อดีตนายกเทศมนตรีตำบลป่าไผ่ ปัดได้ผลประโยชน์ลงนามสัญญาซื้อขายน้ำเอกชนยาวนาน 30 ปี วงเงิน 810 ล้าน ยันเป็นความร่วมมือสองฝ่าย บริษัทเข้ามาลงทุนให้ 100 % ก่อนโอนทรัพย์สินต่อเป็นของหลวงภายหลัง ไม่ใช่สัญญาทาส กระบวนการขั้นตอนถูกต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ โอดถูกฝ่ายตรงข้ามใส่ร้าย ทั้งที่ช่วยชาวบ้านมีน้ำใช้ เผยมีเทศบาลอีก 6-7 แห่ง เข้าร่วมด้วย
จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างการสอบสวนกรณีการจัดทำสัญญาซื้อขายน้ำประปาเพื่อสำนักงานเทศบาลตำบลป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ จากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เป็นระยะเวลา 30 ปี วงเงินรวม 810,000,000 บาท ตามสัญญาเลขที่ HYDRO - PP 03/2012 ลว. 19 ก.ย. 55 โดยไม่ผ่านการพิจารณาของสภาเทศบาลฯ และไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ เป็นเหตุให้เทศบาลตำบลป่าไผ่
โดยผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ มีจำนวน 1 ราย คือ นายธนวัฒน์ เคหา อดีตนายกเทศมนตรีตำบลป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ นั้น
(อ่านประกอบ: ป.ป.ช.ลุยสอบ"อดีตนายกฯป่าไผ่"ทำสัญญาทาสซื้อน้ำเอกชน 30 ปี 800 ล.)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ส.ค.57 นายธนวัฒน์ เคหา อดีตนายกเทศมนตรีตำบลป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ว่า การทำสัญญาซื้อขายน้ำระหว่างเทศบาลตำบลป่าไผ่ กับบริษัทเอกชนรายหนึ่ง เป็นระยะเวลา 30 ปี ดังกล่าว ไม่ได้ทำให้เทศบาลเสียหายแต่อย่างใด ตามที่ปรากฎเป็นข่าวแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามเทศบาลฯและประชาชนในพื้นที่ตำบลป่าไผ่ ยังจะได้รับประโยชน์จากการมีน้ำประปาใช้ไม่ขาดแคลนเหมือนในอดีต
"บริษัทเขาเสนอตัวที่จะมาลงทุนก่อสร้างและทำระบบน้ำประปาให้เทศบาลฯ เขาลงทุนให้หมด 100% เมื่อครบเวลาตามสัญญา 30 ปี ก็จะโอนทรัพย์สินทั้งหมดมาให้ทางเทศบาลดูแลต่อ เหมือนกับกรณีการให้สัมปทานทางด่วนอะไรแบบนั้น ขณะที่ตัวสัญญาที่ลงกันไว้ก็เหมือนเป็นการทำข้อตกลงร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้มีผลผูกมัดอะไร ในทางที่จะทำให้เทศบาล เสียเปรียบ"
นายธนวัฒน์ ยังระบุด้วยว่า เทศบาลตำบลป่าไฝ่ มีแผนที่จะทำระบบประปาให้บริการประชาชนเอง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดต่อปัญหาเรื่องการลงทุน
"เทศบาลเราเคยเสนอแผนไปตามขั้นตอน แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ จะไปขอกู้เงินมาลงทุนก็ไม่ได้ เพราะติดปัญหาเรื่องรายได้ของเทศบาลที่มีน้อย เมื่อแผนเราพับไป และมีเอกชนรายมาเสนอที่จะลงทุนให้ มูลค่าเกือบ 100 ล้าน เราก็ตัดสินใจตอบรับ เพราะเห็นว่าเทศบาลไม่ต้องลงทุนอะไร ประชาชนในพื้นที่ก็ได้รับประโยชน์ด้วย"
เมื่อถามว่า ในข้อกล่าวหาระบุว่า การทำสัญญากับเอกชน ไม่ผ่านการพิจารณาของสภาเทศบาลฯ นายธนวัฒน์ ตอบว่า "ไม่เป็นความจริง การทำงานทุกอย่างมันต้องมีแบบมีแผน ต้องผ่านการพิจารณาจากสภาเทศฯ ทั้งหมด อยู่แล้ว และเรื่องนี้ก็ชี้แจงกับทาง ป.ป.ช.ไปแล้ว "
เมื่อถามว่า ในสัญญาระบุเงื่อนไขว่า หากบริษัทเอกชนขายน้ำได้ไม่ถึงวันละ 7,500 ลิตร หรือประมาณ 75,000 บาท เทศบาล จะต้องรับผิดชอบส่วนต่างที่เกิดขึ้นให้บริษัทฯ นายธนวัตน์ ตอบว่า "ไม่เป็นความจริง ในสัญญาไม่ได้ระบุอะไรแบบนั้น บริษัทฯ เขากำหนดว่าชาวบ้านใช้น้ำเท่าไรก็จ่ายเท่านั้น เทศบาลไม่ต้องรับผิดชอบอะไร"
"ความร่วมมือเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เอกชนขอเสนอมาลงทุนช่วยเทศบาล ช่วยชาวบ้านให้มีน้ำใช้ ส่วนเทศบาลก็ทำหน้าที่เป็นไปรษณีย์ค่อยเก็บค่าน้ำให้เท่านั้น และถ้ามีรายได้ส่วนใดเพิ่มขึ้นมาเงินก็จะถูกส่งเข้าหมด จะเก็บก็ต่อเมื่อมีการเปิดใช้น้ำ แต่สิ่งสำคัญก็คือ ชาวบ้านต้องได้น้ำสะอาดไว้ใช้"
นายธนวัตน์ ยังระบุด้วยว่า การที่มีคนไปร้องกับป.ป.ช. ในเรื่องนี้ เป็นความพยายามของกลุ่มตรงข้าม ที่ต้องการจะใส่ร้ายป้ายสี ทำให้ตนเสียหาย ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เล่นกันให้ถึงตาย เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว ตนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้เลย ชาวบ้านคือผู้ได้รับประโยชน์ตัวจริง และปัจจุบันโครงการนี้ มีหลายเทศบาลในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมกับบริษัทและเริ่มดำเนินการไปแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่มีความสุขกันเพราะจะมีน้ำใช้ ตอนนี้มีเพียงแค่ในส่วนของเทศบาลป่าไผ่ ที่ไม่ได้ทำ เพราะภายหลังจากที่มีการร้องเรียนเรื่องนี้เกิดขึ้น บริษัทก็ปฏิเสธที่จะทำโครงการด้วยแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดายเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อถามว่า มีเทศบาลใดบ้างที่เข้าร่วมโครงการกับบริษัท และรูปแบบการดำเนินการเป็นอย่างไร นายธนวัฒน์ ตอบว่า "มีประมาณ 6-7 แห่ง รูปแบบการดำเนินงานก็เหมือนกับข้อตกลง ที่ทำไว้กับเทศบาลป่าไผ่ ทุกอย่าง และบริษัทฯ เริ่มไปลงทุนก่อสร้างโรงผลิตกันแล้ว ตอนนี้จะมีเพียงก็แต่ที่เทศบาลป่าไผ่เท่านั้น ที่ไม่ได้ทำเหมือนกับเทศบาลอื่น"
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากchiangmainews.co.th