ก.ต.ไล่-ให้ออกรวด 4 คน อดีตรอง ปธ.ฎีกา-อดีต ปธ.อุทธรณ์-2 หน.พ ฎีกา
ก.ต.เข้ม ลงมติไล่ออก-ให้ออก อดีตรองประธานศาลสูง หน.คณะในศาลฎีกา อดีตประธานอุทธรณ์ รวม4 นาย งดขึ้นเงินเดือน-ภาคทัณฑ์ 3 ผู้พิพากษาศาลฎีกา-อุทธรณ์ให้กระกันจำเลยคดีข่มขืน-ยาเสพติดไม่ชอบ
แหล่งข่าวจากศาลยุติธรรมเปิดเผย สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.)เมื่อเร็วๆนี้ ได้พิจารณาลงโทษทางวินัยผู้พิพากษาชั้นใหญ 7 นาย ที่ถูกกล่าวหาว่าให้ประกันตัวจำเลยในคดีข่มขืนกระทำชำเรา และคดียาเสพติดผิดระเบียบและกฎหมาย ซึ่งก.ต.มีมติให้ลงโทษผู้พิพากษาแต่ละรายดังนี้
1.ให้ นายองอาจ โรจนสุพจน์ ผู้พิพากษาอาวุโส อดีตรองประธานศาลฎีกา,นายสิงห์พล ละอองมณี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา พ้นจากตำแหน่ง(ไล่ออก)ตาม พ.ร.บ.ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 32(7)
2.ให้ นายอดิศักดิ์ ทิมมาศย์ ผู้พิพากษาอาวุโส อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ,นายสิทธิชัย พรหมศร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา พ้นจากตำแหน่ง(ให้ออก)ตาม พ.ร.บ.ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 32 (7)
3.ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือน ผู้พิพากษาศาลฎีกา 2 นาย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 76 (4)
4.ให้ภาคทัณฑ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1(อดีตรองอธฺบดีศาลอาญา)ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 76 (5)
แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้พิพากษากลุ่มนี้ ประธานศาลฎีกาได้สั่งให้พักราชการนายองอาจ โรจนสุพจน์ อดีตรองประธานศาลฎีกา,นายสิงห์พล ละอองมณี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งเป็นอำนาจของปรธานศาลฎีกา ตาม พ.ร.บ.ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมมาตรา74 ที่ระบุว่า เมื่อข้าราชการตุลาการผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา ถ้า ก.ต. เห็นว่าจะให้อยู่ในหน้าที่ราชการระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้พักราชการก็ได้
แหล่งข่าวกล่าวว่า การให้ไล่ออก-ให้ออกผู้พิพากษาจากการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ถือเป็นการลงโทษทางวินัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งและเป็นผู้พิพากษาที่มีตำแหน่งสูงซึ่งศาลยุติธรรมมีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้ซึ่งจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าทีของศาลยุติธรรมมากขึ้นว่า เป็นไปอย่างซื่อสัตย์สุจริต เป็นไปตามระเบียบแบบแผนและรอบคอบ
"หลังจกที่ ก.ต.มีมติให้ไล่ออกนายสมศักดิ์ จันทกุล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ซึ่งถูกกล่าวหาในทำนองเดียวกัน ในเรื่องการให้ประกันตัวจำเลย ก็เริ่มมีการสอบสวนข้อเท็จจริงผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องเรื่อยมา"แหล่งข่าวกล่าว
อนึ่ง สำหรับการลงโทษให้ผู้พิพากษาพ้นจากตำแหน่งมีรายละเอียดดังนี้
มาตรา 77 การไล่ออกนั้น ประธานศาลฎีกาจะสั่งลงโทษได้ เมื่อข้าราชการตุลาการผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ
(2) กระทำความผิดอาญาและต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดย
ประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(3) ไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของทางราชการและจริยธรรมของข้าราชการ
ตุลาการ และการไม่ถือและปฏิบัตินั้นเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
(4) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือ
(5) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
มาตรา 78 การปลดออกนั้น ประธานศาลฎีกาจะสั่งลงโทษได้ เมื่อข้าราชการตุลาการผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงแต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องถูกไล่ออกจากราชการ หรือถึงขั้นที่จะต้องไล่ออกแต่มีเหตุอันควรลดหย่อน หรือต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย
มาตรา 79 การให้ออกนั้น ประธานศาลฎีกาจะสั่งลงโทษได้ เมื่อข้าราชการตุลาการผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงแต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องถูกปลดออก หรือถึงขั้นที่จะต้องปลดออกแต่มีเหตุอันควรลดหย่อนข้าราชการตุลาการผู้ใดถูกสั่งให้ออกตามมาตรานี้ให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญเสมือนว่าผู้นั้นลาออกจากราชการ