เรียกประชุมใหญ่ตุลาการศาล ปค.สูงสุดด่วน 4 มิ.ย.หารือ สถานะ ก.ศป.
ศาลปกครองยังป่วนไม่เลิก เรียกประชุมใหญ่ตุลาการศาลศาลสูงด่วน ขอหารือสถานะของ ก.ศป.ว่า สิ้นสภาพตามรัฐธรรมนูญหรือยัง หลังจากที่ ที่ประชุม ก.ศป.มีมติให้ทำหนังสือถึง คสช. แต่โดนวิพากษ์หนัก
จากกรณีที่นายหัสวุฒิ วิทิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุดในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการศาลปกครองสูงสุด( ก.ศ.ป.)อ้างว่า ไม่สามารถเปิดประชุม ก.ศป.ได้เพราะสิ้นสภาพแล้ว หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.)ประกาศให้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 สิ้นสุดลง ทำให้ ก.ศป.ต้องสิ้นสภาพไปด้วย เพราะการจัดตั้ง ก.ศป.เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 226 ซึ่งในการประชุม ก.ศป.เมื่อวันพุธที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็น ก.ศป. อาทิ นายนพดล เฮงเจริญ นายชาญชัย แสวงศักดิ์ และ นางสิริกาญจน์ พานพิทักษ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ยืนยันว่า ก.ศป.ยังคงอยู่และสามารถทำตามอำนาจหน้าที่ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองเช่นเดียวกับหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ที่มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม นายหัสวุฒิและ ก.ศป.บางคนก็ยังยืนยันให้สำนักงานศาลปกครองทำหนังสือถึง คสช.หารือและแจ้งข้อขัดข้องถึงสถานะของ ก.ศป. จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ตุลาการอย่างกว้างขวางนั้น
(อ่านประกอบ : ศาลปค.ป่วน อ้าง ก.ศป.หมดสภาพตาม รธน ต้องหารือ คสช.- ดองเรื่องสอบ "จม.น้อย")
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า จนกระทั่งวันที่ 2 มิถุนายน สำนักงานศาลปกครองยังไม่ได้ส่งหนังสือถึง คสช.ตามความเห็นของนายหัสวุฒิเพราะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่ใช้วิธีการเรียกประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 คนเป็นการด่วนในเวลา 9.00 น. ในวันพุธที่ 4 มิถุนายน โดยกำหนดว่า พิจารณาเรื่องสถานะของ ก.ศป.ซึ่ง ก.ศป.มีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย
โดยฝ่ายนายหัสวุฒิเห็นว่า สิ้นสภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่อาจทำงานได้และยังมีองค์ประกอบไม่ครบเพราะขาดในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจาก ครม.และวุฒิสภา จากจำนวน ก.ศป.ทั้งหมด 13 คน ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า ก.ศป.ยังคงสภาพและทำงานได้ในจำนวน ก.ศป.ที่เหลืออยู่ และให้สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาเพิ่มเติมภายหลัง
ตุลาการรายหนึ่งกล่าวว่า หลังจากเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จึงมีการเรียกประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด จึงเกรงว่าจะใช้กลไกของที่ประชุมใหญ่เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการส่งเรื่องให้ คสช.พิจารณา แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง จะกระทบต่อศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือของศาลปกครองมากขึ้นเพราะไม่สามารถวินิจฉัยสถานะของตนเองได้ ทั้งๆที่เต็มไปด้วยนักกฎหมายที่มีความรู้จำนวนมาก