บ.เดินรถคู่กรณี"กลุ่มคนรักแม่ฮ่องสอน" ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตั้งแต่ปี54
พบข้อมูล "บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด" คู่กรณี "กลุ่มคนรักแม่ฮ่องสอน" ที่ถูกระบุผูกขาดการเดินรถรายเดียวมากว่า 40 ปี ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตั้งแต่ปลายปี 54
จากกรณีกลุ่มคนรักแม่ฮ่องสอน ได้เข้าไปสร้างแคมเปญรณรงค์ประชาชนเข้าชื่อสนับสนุน ให้กระทรวงคมนาคมตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานรถและการบริการของบริษัทที่ให้บริการรถโดยสารสาธารณะเส้นทางแม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่ ในเว็บไซต์ www.change.org อันเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์อุบัติเหตุรถเมล์โดยสารของบริษัทเปรมประชาขนส่งจำกัด ซึ่งออกจาก อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน มุ่งหน้าไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ได้เกิดอุบัติเหตุชนกับรถจักรยานยนต์ที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 รายและบาดเจ็บ 61 คน
(อ่านประกอบ:คนรักแม่ฮ่องสอน จี้ "ชัชชาติ"สอบบริษัทเดินรถในจ.-ผูกขาดรายเดียว 40 ปี)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2513 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 84 ถนนชนบท ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัด แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งโดยสารรถยนต์ – บริการ
ปรากฎชื่อ นาย บุญชู ไชยเลิศ และนางสาวกรปรียาณัฐ กาณฑ์พัชรกัญญ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
โดยนางสาวกรปรียาณัฐ กาณฑ์พัชรกัญญ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด 3,009 หุ้น มูลค่า 3,009,000 บาท
อย่างไรก็ตาม สถานะปัจจุบันของบริษัท ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หลังจาก ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.8923/2554 ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2554
ทั้งนี้ บริษัท นำส่งงบดุลแสดงผลประกอบการ ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ล่าสุด ในปี 2553 ระบุว่ามี รายได้จากการขายและบริการ 41,251,401 บาท แต่มี กำไรสุทธิ 983,100.98 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่มคนรักแม่ฮ่องสอน ออกมาระบุว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีผู้ให้บริการรถโดยสารประจำทางเพียงรายเดียว คือบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ซึ่งให้บริการมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี สภาพรถที่ให้บริการทรุดโทรมมากอายุการใช้งานเกิน 20 ปีและไม่มีความปลอดภัย ชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนพบปัญหารถโดยสารของบริษัทเสียกลางทางบ่อยครั้ง และทุกครั้ง บริษัทตอบสนองช้ามาก และขาดความรับผิดชอบ เช่น ไม่จัดหารถมารับช่วงต่อโดยเร็ว ผู้โดยสารต้องรอนานสามถึงสี่ชั่วโมง ไม่คืนค่าโดยสาร นอกจากนั้น ไม่มีการควบคุมพฤติกรรมการขับรถของพนักงานขับรถ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อผู้โดยสาร และทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง