“จำรูญ”ปัดตอบปมแอร์พอร์ตลิงค์ถูกทวงหนี้ 2 ล.-เผยโฉมพยานลงนามสัญญา
"จำรูญ"ไม่ตอบ ปมแอร์พอร์ตลิงค์ ถูกทวงหนี้กว่า 2 ล. -"ประภัสร์"หวั่นกระทบภาพลักษณ์จี้เร่งเคลี่ยร์ -เผยโฉม "มิสเตอร์อเล็กซานเดอร์"พยานลงนามสัญญาเจียรรางแทน "แอลแอนด์เอสฯ"
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เปิดเผยข้อมูลบริษัท แอล แอนด์ เอส เรลเวย์ แมนเทนเนนซ์ (L&S Railway Maintenance หรือ L&S ) มอบอำนาจให้ทนายความส่งจดหมายเร่งรัดให้ชำระหนี้ไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด โดยขอให้การรถไฟฯ และ รฟฟท. ในฐานะผู้ว่าจ้างบริษัทแอลแอนด์เอสฯ ให้เข้ามาเจียรรางและตรวจสอบราง ชำระหนี้ค่าว่าจ้างเป็นเงินจำนวน 2,551,853.70 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้โทรศัพท์สัมภาษณ์นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานคณะกรรมการ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ต เรล ลิงค์) ในประเด็นการชำระหนี้กว่า 2 ล้านบาท รวมถึงกรณีเซ็นสัญญากับบริษัท แอลแอนด์เอสฯ ที่รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของแผนกตรวจสอบของ บริษัทฯ ชี้ว่า นายจำรูญ ขณะดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้ว่าจ้างแอลแอนด์เอสฯ เข้ามาทำการเจียรและตรวจสอบราง โดยไม่มีเอกสารเสนอราคาตามแบบฟอร์มของบริษัทฯ และไม่มีการลงนามของผู้ที่ได้รับใบสั่งงานหรือผู้รับจ้าง โดยนายจำรูญปฎิเสธที่จะตอบคำถาม กล่าวเพียงว่า ขอไม่ตอบ รายงานเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่อยากชี้แจงอะไร เดี๋ยวบริษัทจะเสียหาย และกล่าวด้วยว่าจริงๆ แล้ว เรื่องนี้ก็มีการส่งเรื่องร้องเรียนไปหลายกระทรวง มีผลสอบข้อเท็จจริงออกมาแล้ว และมีการรายงานผลสอบนี้ไปถึงกระทรวงคมนาคมแล้ว
“ถ้าผมผิดจริงผมก็ต้องออกไปแล้วล่ะครับ ดังนั้น ผมคงไม่จำเป็นต้องไปชี้แจงว่าผมผิดตรงไหน ยังไง” นายจำรูญระบุ
ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา กรณีบริษัทแอลแอนด์เอสส่งจดหมายติดตามทวงหนี้กว่า 2 ล้านบาท โดยระบุถึง รฟฟท. และการรถไฟแห่งประเทศไทยว่ารับทราบปัญหาแล้ว จากที่ก่อนหน้านี้ทราบเพียงว่ามีการสั่งเจียรรางแต่ไม่ทราบเรื่องการทวงถามเงินจำนวนดังกล่าว เพิ่งเห็นรายงานเมื่อวันที่ 25 เมษายนนี้ จึงได้สั่งการให้การรถไฟฯ ทำหนังสือถึงแอร์พอร์ต ลิงค์ ว่าให้รีบดำเนินการให้เรียบร้อย เนื่องจากเรื่องนี้ ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของการรถไฟด้วยเช่นกัน
“เรื่องการว่าจ้างบริษัทแอลแอนด์เอสเข้ามาเจียรรางเกิดขึ้นก่อนที่ผมจะเข้ามาเป็นผู้ว่าการรถไฟ แต่ตอนนี้ เพิ่งทราบเรื่องที่มีการทวงถามเงิน เพราะมีคนส่งสำเนามาให้ดู เมื่อทราบแล้วการรถไฟก็ทำหนังสือเร่งไปยังแอร์พอร์ต ลิงค์ ให้ดำเนินการจ่ายเงินจำนวนนี้ ” นายประภัสร์ระบุ
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวถามนายประภัสร์ถึงกรณีที่สำนักข่าวอิศรา เปิดเผยผลรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ชี้ว่านายจำรูญแต่งตั้งญาติขึ้นมาดำรงตำแหน่งในบริษัทฯ โดยไม่ผ่านกระบวนการคัดเลือกและแข่งขันอย่างโปร่งใส การรถไฟฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท จะดำเนินการอย่างไรต่อกรณีดังกล่าวหรือไม่ นายประภัสร์กล่าวว่า ไม่ทราบเพราะถือเป็นเรื่องภายในของบริษัท
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รายงานสรุปผลการตรวจสอบภายในบริษัทฯ เกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการเซ็นสัญญาว่าจ้างบริษัทแอลแอนด์เอสฯ เข้ามาทำการเจียร และตรวจสอบราง ปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่มีเอกสารเสนอราคาตามแบบฟอร์มของบริษัทฯ มีเพียงแบบฟอร์มเปล่าที่มีข้อความเขียนแนะนำ โดยระบุวันที่และราคาใน Post-it และมีเพียงเอกสารสนองรับราคาและแจ้งทำสัญญา จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
1. เอกสารเลขที่ SRTET/SCM/PRO/047/2556 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 ลงนามโดยนายจอน พรมถา ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการแผนกจัดซื้อในขณะนั้น
2. หนังสือที่ รฟฟท.031301/2556 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2556 ลงนามโดย นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ
รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง ระบุด้วยว่าใบสั่งงานเลขที่ รฟจ 56001 ไม่มีการลงวันที่ระบุเพียงแค่เดือน กุมภาพันธ์ 2556 ขณะที่แอลแอนด์เอสฯ เริ่มงานวันที่22 กุมภาพันธ์ 2556 ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2556 แต่หนังสือที่ รฟฟท.031301/2556 ซึ่งลงนามโดย นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ กลับลงวันที่ 13 มีนาคม 2556
“ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเอกสาร หนังสือที่ รฟฟท.031301/2556 มีการลงวันที่หลังจากงานเสร็จสิ้นแล้วทำไมถึงมีการออกเอกสารอีก ทั้งที่การลงนามในเอกสารสำคัญ ผู้ลงนามต้องตรวจสอบรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อนที่จะลงนาม ซึ่งเอกสารนี้ไม่ระบุวันที่ของวันทำใบสั่งงาน ผู้รับจ้างยังมิได้ลงนามในใบสั่งงาน แต่ผู้มีอำนาจจ้าง ผู้จ้าง และพยานกลับลงนามก่อนแล้ว” รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง ระบุ
ผู้ตรวจสอบตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การว่าจ้างครั้งนี้ มีการลงนามของผู้มีอำนาจจ้าง คือ นายจำรูญ ที่ในขณะนั้น ดำรงตำแหน่ง รักษาการรกรรมการผู้อำนวยการใหญ่, พยานฝ่ายผู้จ้าง คือ ดร.กฤษ อนุรักษ์กมลกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ในขณะนั้น และพยานฝ่ายผู้รับจ้าง Mr.Alexander Schlegel แต่ไม่มีการลงนามของผู้ที่ได้รับใบสั่งงานหรือผู้รับจ้างแต่อย่างใด และเมื่อตรวจเอกสารทั้งหมดแล้วไม่พบสัญญาจ้าง ดังนั้น การว่าจ้างครั้งนี้ จึงไม่ผ่านกระบวนการระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง จึงถือว่าผิดปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของนาย Alexander Schlegel ที่ปรากฏชื่อเป็นพยานของบริษัทแอลแอนด์เอสฯ พบว่า นายอเล็กส์ซานเดอร์ ดำรงตำแหน่ง Technical Director ในบริษัท L&S Railway Maintenance Co.,Ltd. โดยเริ่มเข้าทำงานเมื่อเดือน มกราคม 2556
( อ่านประกอบ : บริษัทคู่สัญญารฟท.ร่อนหนังสือทวงหนี้แอร์พอร์ตลิงค์กว่า 2 ล้าน )
( อ่านประกอบ : เปิดผลสอบข้อเท็จจริงปม ปธ.บอร์ดแอร์พอร์ตลิงค์"จัดซื้อ-ตั้งญาติ"เข้าทำงาน )
( อ่านประกอบ : เปิดหนังสือ"สตง.-ฝ่ายตรวจสอบ"ปมคุณสมบัติ"บิ๊ก"แอร์พอร์ตลิงค์ )
ภาพประกอบจาก http://th.linkedin.com/pub/alexander-schlegel, www.srtet.co.th , www.innnews.co.th