ป.ป.ช.จ่อแจ้งข้อหา "เทพเทือก" คดีสั่งสลายม็อบแดง ปี 53
ป.ป.ช.เตรียมแจ้งข้อหาบิ๊ก ศอฉ. พ่วง "เทพเทือก" กรณีสั่งสลายม็อบเสื้อแดง ปี 53
(สุเทพ เทือกสุบรรณ - ภาพจากเว็บไซต์กระปุกดอทคอม)
เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2556 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยมิชอบเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก กล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนคดีดังกล่าว ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างนำคำสั่งของศาลในคดีไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวแต่ละกรณีมาศึกษา อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมี 2 คดีที่ชัดเจนว่า ไม่ได้เกิดจากการใช้อาวุธยิงปะทะกัน ได้แก่คดีของนายพัน คำกอง และคดีของ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรืออีซา ซึ่งผู้สั่งการในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จะต้องรับผิดชอบ เพราะตามคำสั่งของ ศอฉ.ระบุว่าจะใช้อาวุธได้ก็ต่อเมื่อมีการยิงปะทะกัน ดังนั้นใน 2 กรณีนี้ อนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.จะแจ้งข้อกล่าวหากับผู้เกี่ยวข้องใน ศอฉ. ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และก่อนหน้านี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. ก็ประกาศว่าจะอ้าแขนรับผิดชอบ แต่ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะให้โอกาส ศอฉ.นำเอกสารที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ว่าในการออกคำสั่งมีความรอบคอบหรือไม่เรื่องการใช้อาวุธในกรณีที่ไม่มีเหตุยิงปะทะกัน
“นอกจากนี้ จะต้องดูว่ามีกรรมการ ศอฉ.รายใดเกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งดังกล่าว เพราะ ศอฉ.ทำงานในรูปแบบของบอร์ด เช่นเดียวกับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยอาจมีการแจ้งข้อกล่าวหากับ กรรมการ ศอฉ.นั้นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายข้าราชการประจำ” นายวิชากล่าว
ส่วนคดีการเสียชีวิต 6 ศพ ในวัดปทุมวนาราม นายวิชา กล่าวว่า คำสั่งของศาลเรื่องไต่สวนการตายคดี 6 ศพวัดปทุมฯ แตกต่างกับคดีนายพันหรือ ด.ช.คุณากร เพราะศาลระบุว่า ในคดี 6 ศพวัดปทุมฯ มีการยิงปะทะกันในบริเวณโดยรอบ