พบหลักฐาน"ธพส."ยกอำนาจให้"คนนอก"ดูแลศูนย์อาหาร -จี้ผู้บริหารสอบด่วน
เปิดเอกสาร "ลับ" ยัน “ผอ.อ๊อด” มีส่วนเกี่ยวข้องปมจัดตั้งบุคคลเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลศูนย์อาหารของศูนย์ราชการ คน ธพส. ข้องใจ ไม่เปิดรับสมัครทางการ -แข่งขันตามขั้นตอนปกติ จี้ผู้บริหารตรวจสอบด่วน!!
กรณี นางจิรสา วงศ์ธรรมสรณ์ หรือ “ผอ.อ๊อด” ผู้ช่วยกรรมการสายนโยบาย ของ บริษัท ธนารักษ์ พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.) ถูกระบุจากผู้ประกอบการร้านอาหาร ในศูนย์ราชการ ที่กำลังประสบปัญหาความขัดแย้งในการดำเนินธุรกิจอยู่ในขณะนี้ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งบุคคลเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลศูนย์อาหารของศูนย์ราชการ
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2556 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับแจ้งข้อมูลจากคนภายใน ธพส. ว่า นางจิรสา วงศ์ธรรมสรณ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งบุคคลที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ดูแลศูนย์อาหารของศูนย์ราชการ ปรากฏรายละเอียด ในเอกสารมีใจความดังนี้
ฝกต./ กุมภาพันธ์ 2555
ขออนุมัติจัดตั้งคณะทำงานบริหารศูนย์อาหาร
เรียนกรรมการผู้จัดการ
1.ความเป็นมา
ตามที่ บริษัท ฟู้ด การ์เด้นท์ จำกัด และบริษัทอาหารชุมนุม จำกัด ได้ยุติการจำหน่ายอาหารศูนย์อาหาร 1/FOOD COURT และศูนย์อาหาร 2/FOOD CENTER ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 เป็นต้นมา จึงจำเป็นต้องจัดหาผู้ประกอบการร้านอาหารเข้ามาขายเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้ข้าราชการได้มีอาหารรับประทาน ประกอบกับขณะนั้น เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขังสูงในพื้นที่โดยรอบศูนย์ราชการฯ ฝ่ายการตลาดได้ติดต่อให้นางสาวมะลิวัลย์ ผริตเดชศิริกุล เข้ามาจำหน่ายอาหารได้เพียงรายเดียว โดยเปิดศูนย์อาหารด้านทิศตะวันออก ( ศูนย์อาหาร 3 ) ให้ขายตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 จนกระทั่งปลายเดือนพฤศจิกายน 2554 ระดับน้ำท่วมขังลดลงสามารถเดินทางเข้า-ออกได้สะดวก ผู้ประกอบการร้านอาหารในศูนย์อาหารเดิมได้ทยอยเข้ามาติดต่อขอจำหน่ายอาหารต่อไป
2.สาระสำคัญของเรื่อง
2.1 ตามบันทึกที่ ฝกต.645/2554 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2554 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์เปิดพื้นที่ขายอาหาร กรรมการผู้จัดการเห็นชอบให้นางสาวมะลิวัลย์ ผริตเดชศิริกุล เข้ามาขายอาหารและจัดหาร้านอาหารเข้ามาขายให้ครบจำนวน 16 ร้าน โดยเปิดศูนย์อาหารใหม่ ( ศูนย์อาหาร 3 ) ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 และเห็นชอบให้นายธีระวัจน์ กัณหา พร้อมด้วยผู้ประกอบการร้านในศูนย์อาหารเดิม แต่มีความประสงค์จะเข้ามาขายอาหารตามเดิม โดยเปิดศูนย์อาหารด้านทิศตะวันออก (ศูนย์อาหาร 4) ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2554 โดยกำหนดราคาอาหารทุกร้านจานละ 25-30 บาท ปริมาณอาหารต้องไม่แพง ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เอง ทั้งนี้ ฝ่ายการตลาดจะกำกับดูแลการบริหารจัดการ และให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจส่วนวิเคราะห์การตลาด ทำการประเมินผลความพึงพอใจเมื่อครบ 3 เดือน ตามนโยบายของอธิบดีกรมธนารักษ์และรายงานให้กรรมการผู้จัดการทราบเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
2.2 การดำเนินการของศูนย์อาหาร 3 โดยนางสาวมะลิวัลย์ ผริตเดชศิริกุล และศูนย์อาหาร 4 โดยนายธีระวัจน์ กัณหา ทั้งสองรายนี้เป็นผู้ได้ขายร้านน้ำดื่ม น้ำหวาน และทำหน้าที่แทน ธพส. ในการจัดหาร้านอาหาร ดูแลความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในศูนย์ฯ รวมทั้งการจัดเก็บเงินค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม) ตามที่ ธพส.วางบิลเรียกเก็บแต่ละร้าน แล้วนำส่ง ธพส. ภายในกำหนด ทั้งนี้ ได้มีการเรียกเก็บเงินมัดจำประกันความเสียหายจากร้านค้า ร้านละ 15,000 บาท จะคืนให้เมื่อเลิกขายและไม่มีทรัพย์สินของศูนย์อาหารเสียหาย ในระหว่างนี้ได้นำเงินที่เรียกเก็บดังกล่าวไปจัดซื้อจาน ชาม ช้อน ฯลฯ เพื่อมาใช้งานร่วมกัน ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนกลางมีค่าคนงานเก็บ/ล้างจาน ชาม ทำความสะอาด วัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ บวกค่าบริหารใช้วิธีหารเฉลี่ย เรื่องนี้มีปัญหาขลุกขลักอยู่บ้าง ต้องรีบแก้ไข
2.3 ฝ่ายการตลาด ได้ติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการศูนย์อาหาร 3 และศูนย์อาหาร 4 มาโดยตลอดซึ่งในปัจจุบันศูนย์อาหารทั้งสองสามารถรองรับข้าราชการที่มีอยู่ได้เพียงพอ อีกทั้งยังมีร้านค้าย่อยในร้อยร้านมาร์เช่ขายอาหารประเภทข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ในลักษณะเดียวกับในศูนย์อาหารอีกประมาณ 10 ร้าน และจากการสำรวจโดยการสอบถามปรากฏว่าข้าราชการส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ ปริมาณอาหารในจานที่ได้รับมากขึ้น ราคาอาหารอยู่ที่ 25-30 บาท อาจมีบางเมนูราคาสูงกว่า 30 บาทแต่ก็ยอมรับได้ รสชาติอาหารความสะอาดอยู่ในเกณฑ์ดี
2.4 ที่ประชุมคณะกรรมการ ธพส. เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554 ( ครั้งที่ 20/2554) มีข้อเสนอแนะเรื่องศูนย์อาหารว่า ควรมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ให้มีหน้าที่ในการคัดเลือกร้านค้า ควบคุมดูแลราคา คุณภาพ รสชาติ และความสะอาดของอาหาร
3.ความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายการตลาดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ศูนย์อาหารทั้งสองได้เปิดดำเนินการมาเป็นระยะเวลาใกล้ครบ 3 เดือนแล้ว จึงเห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะทำงานศูนย์อาหารเข้ามาทำหน้าที่ในการพิจารณานำเสนอแนวทางบริหารและกำกับดูแลการบริหารจัดการศูนย์อาหาร เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยต่อไป จึงเสนอแต่งตั้งคณะทำงาน ดังนี้
1) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ประธานคณะทำงาน
2) ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบอาคาร คณะทำงาน
3) ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารอาคารและสถานที่ คณะทำงาน
4) ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี คณะทำงาน
5) ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน คณะทำงาน
6) ผู้จัดการส่วนอาชีวอนามัย ฝ่ายบริหารอาคารและสถานที่ คณะทำงาน
7) ผู้จัดการส่วนจัดสรรและบริหารพื้นที่ธุรกิจ เลขานุการคณะทำงาน
8) เจ้าหน้าที่อาวุโส ส่วนจัดสรรและบริหารพื้นที่ธุรกิจ ผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงาน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งคณะทำงานศูนย์อาหาร
(นางจิรสา วงศ์ธรรมสรณ์)
ผู้อำนวยการสำนักกรรมการผู้จัดการ
รักษาการ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด
แหล่งข่าวจาก ธพส. กล่าวยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า การบริหารจัดการศูนย์อาหารตามปกติแล้ว ศูนย์อาหารของหน่วยงานราชการหรือศูนย์อาหารโดยทั่วไปจะมีการเปิดรับสมัครร้านอาหารที่ประสงค์จะเข้ามาให้บริการ โดยมีการปิดประกาศหรือแจ้งให้สาธารณะทราบโดยทั่วกัน เพื่อให้แต่ละร้านได้มีโอกาสแข่งขันกันอย่างเท่าเทียมและได้รับการตรวจสอบเรื่องรสชาติ ความสะอาด สุขอนามัย และคุณสมบัติต่างๆ ว่าเหมาะสมและผ่านเกณฑ์การประเมินของศูนย์อาหารนั้นๆ หรือไม่
“ในกรณีศูนย์อาหารของ ธพส. แม้ร้านอาหารในศูนย์อาหาร 1 และ 2 สมัครเข้ามาและได้รับการคัดเลือกจากผู้ได้รับสัมปทานเช่าพื้นที่ขณะนั้นให้ผ่านการประเมินตามขั้นตอนดังกล่าว แต่ภายหลังเมื่อศูนย์ 1 และ 2 ปิดตัว และมีผู้ประกอบการรายเดิมบางส่วนได้รับอนุมัติจากนางจิรสาให้จำหน่ายอาหารต่อไปในศูนย์อาหาร 4 โดยมีนายธีระวัจน์ กัณหาเป็นผู้ดูแล ขณะที่โซน 3 มีนางมะลิวัลย์ เป็นผู้ดูแลนั้น ใช้เกณฑ์ใดเป็นหลักประเมินแต่ละร้าน และได้เปิดให้มีการสมัครและแข่งขันอย่างเป็นธรรมหรือไม่”
แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ แม้ในเอกสารจะมีใจความตอนหนึ่งระบุว่า การจัดหาผู้ประกอบการร้านอาหารจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วนในช่วงเกิดวิกฤติน้ำท่วม แต่ภายหลังวิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว เหตุใดจึงไม่มีการประกาศรับสมัครให้สาธารณะได้รับทราบโดยทั่วกันเพื่อให้แต่ละร้านที่สมัครเข้ามาได้มีโอกาสแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม
“ธพส. คือรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นมากที่สุด องค์กรของเราเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ ธพส. ไม่ใช่บริษัทเอกชน ต้องทำทุกอย่างให้โปร่งใส ดังนั้น ตามที่มีการอ้างถึงความจำเป็นในการจัดหาร้านอาหารอย่างเร่งด่วนว่าเนื่องจากวิกฤติน้ำท่วมในปี 2554 แต่หลังจากช่วงวิกฤติน้ำท่วมผ่านพ้นไปแล้ว จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีการดำเนินการจัดหาร้านอาหารผ่านการรับสมัครตามขั้นตอน ไม่มีการประกาศให้สาธารณชนรับทราบโดยทั่วกันเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม” เจ้าหน้าที่ ธพส. ยืนยันกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา
นอกจากนี้ แหล่งข่าวรายนี้ตั้งคำถามด้วยว่ากรณีเก็บค่าส่วนกลางจากผู้ประกอบการในศูนย์อาหาร 250 บาทนั้น เจ้าหน้าที่ ธพส.เคยได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการเช่นกันว่าเงินจำนวนนี้ถูกนำไปใช้อะไรบ้าง มีการจัดทำบัญชีโดยละเอียดหรือไม่ ที่ผู้ดูแลบอกว่านำไปจ่ายค่าน้ำยาล้างจาน ค่าถุงขยะ ค่าน้ำยาถูพื้น หรือค่าพนักงานทำความสะอาดนั้น พนักงานทำความสะอาดมีทั้งสิ้นกี่คน เหล่านี้มีการจัดทำบัญชีหรือไม่ และเหตุใดนางสาวมะลิวัลย์ ผริตเดชศิริกุลและนายธีระวัจน์ กัณหา จึงได้รับสิทธิ์ในการบริหารดูแลและจัดหาร้านอาหาร และเหตุใดจึงต้องมีการตั้งผู้ดูแลที่มิใช่เจ้าหน้าที่ของ ธพส. ให้เป็นผู้เก็บค่าเช่าที่รายวัน
แหล่งข่าว จาก ธพส. กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราด้วยว่า “บอร์ดของ ธพส. รับทราบรายละเอียดหรือกระบวนการขั้นตอนในการจัดหาร้านอาหารของศูนย์อาหารหรือไม่ หากพบว่าไม่มีการเปิดรับสมัครและไม่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมแล้ว ทำไมจึงไม่มีการตรวจสอบเรื่องนี้ ” เจ้าหน้าที่ ธพส.รายหนึ่งระบุ
ด้านนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์ พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ( ธพส.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า "จะขอสอบเอกสารดังกล่าวอย่างละเอียด หากพบว่า ไม่ถูกต้องจะดำเนินการอย่างยุติธรรม"