เลขาฯ สบอช.โบ้ยถาม ‘พรรคการเมือง’ ตอบท่าทีรบ.ปมค้านเขื่อนแม่วงก์
เลขาฯ สบอช.ยอมรับสร้างเขื่อนแม่วงก์กระทบป่า เตรียมระดมวิธีแก้ตามหลักวิชาการ อธิบดีกรมชลชี้ผ่าน ‘อีเอชไอเอ’ แล้ว ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างเสมอ คุยโวเปรียบโครงการเป็นปราการน้ำกันคนรุกทำลายทรัพยากร
ภายหลังนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินเท้าจากพื้นที่ลานนกยูง แหล่งก่อสร้าง ‘โครงการอ่างเก็บน้ำแม่วงก์’ (เขื่อนแม่วงก์) มุ่งหน้าสู่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อคัดค้านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment:EHIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. 2556 จนถึงวันนี้ (19 ก.ย.2556) นับเป็นวันที่ 10 แล้ว ซึ่งตลอดเส้นทางมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์มาให้กำลังใจและร่วมเดินเท้าตลอดเส้นทาง
ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้าราชการ นักการเมือง หรือผู้ผลักดันนโยบายบริหารจัดการน้ำ รับรู้ถึงสิ่งเหล่านี้หรือไม่
นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(สบอช.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โดยปฏิเสธ ที่จะออกความเห็นท่าทีของรัฐบาลต่อการเดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ที่นำโดยนายศศิน และเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมระบุเพียงว่า เรื่องนี้ต้องสอบถามพรรคการเมือง
เลขาธิการสบอช. กล่าวถึงการคัดค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์จากหลายภาคส่วนนั้น อาจได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งส่วนนี้กรมชลประทานจะเป็นผู้ชี้แจงว่าจะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่หากผู้คัดค้านตั้งธงแล้วว่า "ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์" อย่างเดียวก็อาจจะตอบยาก
"หากเปรียบพื้นที่ป่าในประเทศเป็นโต๊ะ เขื่อนแม่วงก์จะมีขนาดเล็กกว่าเหรียญสลึง ซึ่งเมื่อมีการก่อสร้างภาครัฐจะเข้าไปช่วยเหลือจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้แก่ชาวบ้านที่โดนเวนคืนที่ดินอย่างดี ส่วนต้นไม้ที่ถูกน้ำท่วมนั้นจะมีขั้นตอนการจัดการตามแผนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกรมชลประทาน ภายใต้งบประมาณที่รับจัดสรร เพราะหากไม่มีแผนรับมือผลกระทบดังกล่าว รายงานอีเอชไอเอก็จะไม่ผ่าน" นายสุพจน์ กล่าว และยอมรับว่า การสร้างเขื่อนย่อมส่งผลกระทบต่อสังคม ชีวิต ทรัพย์สิน และอื่น ๆ ดังนั้นจึงต้องมีวิธีการแก้ไขตามหลักวิชาการ
ขณะที่นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เขื่อนแม่วงก์ถูกบรรจุอยู่ในงบประมาณบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาล ซึ่งกรมชลประทานได้ศึกษา สำรวจ และออกแบบเสร็จแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอีเอชไอเอ ก่อนจะส่งต่อให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ดำเนินการในอนาคต
เมื่อถามถึงความคืบหน้ารายงานอีเอชไอเอ นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า ขณะนี้ "จะพูดว่าไม่ผ่านไม่ได้" เพียงแต่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ยังมีคำถามเกี่ยวกับรายงานฉบับดังกล่าวที่ต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม อยากสร้างความเข้าใจว่า การศึกษาอีเอชไอเออยู่ในส่วนของการศึกษา ไม่ควรนำมารวมกับขั้นตอนการก่อสร้าง
“เราศึกษาเพื่อได้คำตอบว่า เมื่อสร้างเขื่อนแม่วงก์แล้วจะแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างไร มิเช่นนั้นจะไม่มีคำตอบ ทั้งนี้ ไม่ควรลงความเห็นว่า ทุกครั้งที่มีการศึกษาอีเอชไอเอจะต้องเกิดการก่อสร้างเสมอ เพียงแต่ต้องการทราบจากการศึกษาว่า ก่อสร้างแล้วจะเกิดผลดีหรือไม่ และควรมีวิธีการแก้ไขปัญหาที่ตามมาอย่างไร” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว และว่า การพัฒนาทุกอย่างย่อมเกิดการสูญเสีย แต่ก่อนหน้านี้เราสูญเสียในลักษณะอื่นมากมายที่ไม่ได้ผลตอบแทน แต่กรณีเขื่อนแม่วงก์จะพยายามให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่ใหญ่หลวง
นายเลิศวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ในอดีตอาจจะออกแบบเขื่อนเสร็จแล้วก่อสร้างเลย แต่ปัจจุบันแตกต่างมาก เพราะทุกครั้งที่จะก่อสร้างจะต้องหาทางเพื่อรับมือกับสิ่งที่กำลังจะสูญเสียไป ยกตัวอย่าง น้ำท่วมป่า 1 หมื่นไร่ จะต้องปลูกป่าทดแทน 2 หมื่นไร่ หรือเร่งอพยพสัตว์ป่าออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ อยากให้ทุกฝ่ายคิดในแง่ที่ว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้นสามารถช่วยปิดช่องทางป้องกันคนเข้าไปทำลายป่า เสมือนมีด่านปราการน้ำขึ้นมาไม่ให้เข้าออกได้ง่าย
"กรมชลประทานมีหน้าที่ช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชน สิ่งใดที่แก้ไขได้จะพยายามดำเนินการให้ดีที่สุด"
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ ‘นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกบอ.’ ทางโทรศัพท์ ซึ่งครั้งแรกเลขานุการรับสาย พร้อมระบุว่าประธานกบอ.ติดสัมภาษณ์อยู่ จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปใหม่อีกครั้ง เเต่ไม่สามารถติดต่อได้
ซึ่งเมื่อตรวจสอบเฟซบุ๊คส่วนตัวของนายปลอดประสพ ก็พบว่า มีการโพสต์ถึงเหตุผลอีกด้านก่อนค้านแม่วงก์ ไว้เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2556 นายปลอดประสพ ระบุว่า การคัดค้านการสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์มีมาตั้งแต่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว แต่เมื่อ 15 ปีก่อน วัตถุประสงค์ของการสร้างเขื่อนมีไว้เพื่อเก็บน้ำใช้ในการชลประทาน มาถึงวันนี้เรื่องเขื่อนแม่วงก์ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ในอีกจุดประสงค์หนึ่ง ในครั้งนี้เขื่อนแม่วงก์มีไว้เพื่อป้องกันน้ำท่วม บรรเทาภาระของเขื่อนชัยนาท บรรเทาน้ำท่วมในที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้แก่ ปทุมธานี สิงห์บุรี อ่างทอง และ อยุธยา ซึ่งเป็นคนละมุมมองกับเมื่อ15 ปี ก่อนอย่างสิ้นเชิง
สำหรับบรรดานักสิ่งแวดล้อมหลายคนกังวลถึงพื้นที่ป่าที่เชื่อมกับพื้นที่ป่าตะวันตก พื้นที่ป่าตะวันตกมีสัตว์ป่าจำนวนมากนั้น นายปลอดประสพ ระบุว่า ในฐานะอดีตอธิบดีกรมป่าไม้ที่เป็นผู้ประกาศตั้งผืนป่าตะวันตก ก็ขอชื่นชมในความรักป่า รักสัตว์ป่า
"แต่พื้นที่ป่าที่จะเสียไป มันได้คืนความชื้นคืนมา ได้น้ำคืนมา ไม่มีต้นไม้หรือสัตว์ที่ไม่ชอบน้ำ และตามโครงการก็จะปลูกป่าทดแทนที่เสียไป คนรักธรรมชาติต้องเป็นคนมีความเป็นธรรม มีความเป็นกลาง ต้องเคารพความเห็นของทุกคน สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีคนรักธรรมชาติมากมาย ผมอยากให้ทุกคนเคารพประสบการณ์ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และบริษัทที่ปรึกษา พวกเขามี discipline มีมาตรฐานในการทำงานของเขา ถ้าผลลัพธ์ออกมาไม่พอใจก็มานั่งคุยกัน มาถกเถียงกันด้วยหลักวิชาการ ด้วยเหตุผล และให้ข้อมูลกับสังคมที่ถูกต้องอย่างตรงไปตรงมา
คุณจะทำเพื่อต้นไม้หรือคุณจะทำเพื่อสัตว์ ผมซาบซึ้งในน้ำใจและขอบคุณในฐานะอดีตอธิบดีกรมป่าไม้ แต่ในตอนนี้ ผมต้องทำเพื่อคนไทย ต้องทำให้คนไม่ถูกน้ำท่วม ไม่บาดเจ็บล้มตาย มาคุยถึงความสำคัญและความจำเป็นกันด้วยเหตุผลดีกว่า”
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้สัมภาษณ์ผ่านโทรศัพท์ส่วนตัว ‘ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี’ โดยมีเลขานุการรับสาย พร้อมระบุว่าไม่สะดวกให้ข้อมูล เนื่องจากติดประชุมทั้งวัน
ขณะที่ ‘ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ’ ก็ติดภารกิจที่จ.ราชบุรี ไม่สะดวกให้ความเห็นที่กิจกรรมการเดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์
ที่มาภาพ: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1346647707
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=vinitsiri&month=13-07-2013&group=250&gblog=106
: เฟชบุค Sasin Chalermlarp