เผยคนไทยสวมหมวกนิรภัย 43 % เสียชีวิตเฉลี่ย 30 คนต่อวัน – ติดอันดับ 6 โลก
มูลนิธิไทยโรดส์-เครือข่ายเฝ้าระวังความปลอดภัยทางถนน เผยผลสำรวจอัตราสวมหมวกนิรภัยปี 55 คนไทยใส่หมวก 43 % - วัยรุ่นประมาท ชี้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 30 คน – ติดอันดับ 6 ของโลก
มูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยผลการสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ปี 2555 จากจำนวนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั่วประเทศกว่า 1.5 ล้านราย รวมจำนวนจุดสำรวจการสวมหมวกนิรภัยกว่า 3,200 แห่ง ใน 77 จังหวัด พบว่า การสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ไม่แตกต่างจากเดิมที่เคยสำรวจในปี 2553 และ 2554 มากนัก แม้จะมีการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100% กันอย่างหนักนับตั้งแต่ประกาศ “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา
นายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมหาศาล โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 1 แสนคน หรือเฉลี่ยวันละ 30 คน โดยร้อยละ 70 - 80 เกิดอุบัติเหตุกับผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ โดยสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต คือ การบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง เนื่องจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ตามข้อบังคับของกฎหมายพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2539
ดร.ดนัย เรืองสอน ประธานมูลนิธิไทยโรดส์ เปิดเผยว่า ในภาพรวมยังมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์เพียงร้อยละ 43 ที่สวมหมวกนิรภัย โดยผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 52 ในขณะที่ผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัยร้อยละ 20 เท่านั้น โดยในกลุ่มผู้ใหญ่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 49 ในขณะที่วัยรุ่นสวมหมวกนิรภัยน้อยกว่า คือ ร้อยละ 28 และในกลุ่มเด็กที่นั่งโดยสารรถจักรยานยนต์ พบว่าสวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 7 และหากจำแนกเป็นรายภูมิภาค พบว่า ภาคกลางมีผู้สวมหมวกนิรภัยในภาพรวมสูงที่สุด คือ ร้อยละ 54 แบ่งออกเป็นผู้ขับขี่สวมหมวกร้อยละ 64 และผู้โดยสารสวมหมวกร้อยละ 25
สำหรับจังหวัดที่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 80 ตามมาด้วย ภูเก็ต นนทบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ในขณะที่จังหวัดมีอัตราการสวมหมวกนิรภัยต่ำที่สุด 5 อันดับ คือ บึงกาฬ ลำพูน ชัยภูมิ นราธิวาส และนครพนม มีการสวมหมวกนิรภัยไม่ถึงร้อยละ 20 นอกจากนั้น ผลการสำรวจยังบ่งชี้ให้เห็นความแตกต่างของการสวมหมวกนิรภัยในเขตเมืองและ เขตชุมชนชนบท โดยผลการสำรวจในเขตเมือง ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่เทศบาลนครหรือเทศบาลเมืองในอำเภอเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด พบว่า มีผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยสูงถึงร้อยละ 74 ในขณะที่บริเวณพื้นที่เทศบาลตำบลในพื้นที่ชุมชนชนบทที่มีประชาชนน้อยกว่า กลับพบว่ามีการสวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 28 เท่านั้น
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ กล่าวว่า สถานการณ์ของประเทศไทยจัดว่าอยู่ในขั้นรุนแรง สอดคล้องกับความกังวลขององค์การอนามัยโลกที่มีต่อปัญหานี้ เพราะคนในประเทศกำลังพัฒนามีการใช้รถจักรยานยนต์เป็นรถครอบครัว รถขนของมากที่สุด ประกอบกับมาตรฐานของพาหนะแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน จึงเป็นเหตุว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตทั่วทั้งโลก 23% มาจากจักรยานยนต์ ระดับอายุของผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 15-44 ปี สำหรับประเทศไทยมีความน่าเป็นห่วงเมื่ออันดับการเสียชีวิตขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 6
“เมื่อดูที่คะแนนด้านต่างๆ ของไทยไม่ได้ดีขึ้นเท่าใดนักอย่างผลการจำกัดความเร็วประเทศเรามีกำหนดอยู่ที่ 80 กม.ต่อชั่วโมง แต่การบังคับใช้กฎหมายกลับได้ 3 เต็ม 10 คะแนน แปลว่า “ตก” การกำหนดเรื่องปริมาณแอลกอฮอล์ ไทยมีคะแนนการบังคับใช้กฎหมายอยู่ที่ 5 เรียกว่า “คาบเส้น” ส่วนการบังคับใช้กฎหมายกับเรื่องเข็มขัดนิรภัยในรถยนต์กับการสวมหมวกนิรภัยได้ 6 คะแนนเท่ากัน เทียบให้คิดกันเล่นๆ เฉพาะเรื่องหมวกนิรภัย สิงคโปร์ เวียดนาม ได้ 9 คะแนน อินโดนีเซีย ลาว ได้ 8 คะแนน ส่วน
กัมพูชา มาเลเซีย เมียนม่าร์ พอๆ กันกับไทย คือ อยู่ที่ 5-6 คะแนน คงต้องฝากกันคิดหาวิธีดำเนินการปรับพฤติกรรมคนไทยให้หันมาสวมหมวกนิรภัย มีวินัยเคารพกฎหมายกันให้ได้” นพ.วิทยากล่าว
ที่มาภาพ ::: http://www.weekendhobby.com/board/photo/shtml/16800.shtml