โครงการปรับปรุงห้องเรียนรับ AEC ส่อทุจริต-หักหัวคิว 45%
โครงการปรับปรุงห้องเรียนรับ AEC ส่อทุจริต สตง.ชง ป.ป.ช. สพฐ. สอบด่วน พบยอดหักหัวคิวพุ่ง 45% แบ่งจ่ายล่วงหน้า 30% ผู้ประสานงานรับ 5-15%
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งหนังสือด่วน ถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตรวจสอบปัญหาการทุจริตโครงการปรับปรุงห้องเรียน AEC หลังได้รับแจ้งเบาะแส มีการหักหัวคิวดำเนินการสูงถึง 45% แบ่งจ่ายล่วงหน้า 30% ผู้ประสานงานรับ 5-15% ต้อนรับการพัฒนานักเรียนไทย สู่ประชาคม ASEAN 2015 หรือ AEC (Asean Economic Community) ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2554 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือด่วนมาก ที่ ตผ 0019/464 แจ้งไปถึงเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อตรวจสอบข้อมูลการดำเนินการจัดซื้อในโครงการปรับปรุงห้องเรียน ASEAN School Online เพื่อให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน ก้าวสู่โรงเรียนมาตรฐานสากล พัฒนานักเรียนสู่ประชาคม ASEAN 2015 (WORLD-CLASS STANDARD SCHOOL & ASEAN CENTER SCHOOL 2015) และโครงการห้อง E-Classroom หรือโครงการห้อง E-Library และห้องเรียนอื่นๆ ที่มีลักษณะหลายรายการรวมกันเป็น 1 ห้องเรียน มีราคาห้องเรียนละประมาณ 5 แสนบาทเศษ, 8 แสนบาทเศษ , 1 ล้านบาท และ 2.5 ล้านบาท รวมทั้งรายการครุภัณฑ์การเรียนรู้ระดับชั้นอนุบาลราคาชุดละ 6 หมื่นบาทเศษ ระดับชั้นประถมศึกษาราคาชุดละหกหมื่นบาทเศษ ระดับชั้นมัธยมศึกษาราคาชุดละ 7 หมื่นบาทเศษ
หลังได้รับข้อมูลว่า ในการจัดหาพัสดุอุปกรณ์ตามโครงการดังกล่าว จะมีการหักค่าใช้จ่ายไว้เป็นการล่วงหน้าในอัตราร้อยละ 30 % ของวงเงินแต่ละโครงการ และจ่ายให้กับผู้ประสานงานอีกร้อยละ 5 -15 รวมทั้ง ได้มีการกำหนดตัวผู้ประกอบการ (ผู้ขาย) ไว้เพื่อการนี้แล้ว ซึ่งหากเรื่องนี้เป็นจริงตามข้อมูลที่ สตง.ได้รับ อาจจะเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม มีการล็อกสเปก และเข้าข่ายกระทำที่เข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ในหนังสือดังกล่าว สตง. ระบุว่า โครงการดังกล่าวมีการตั้งราคาวัสดุ ค่าครุภัณฑ์ที่มีจำนวนสูงเกินกว่าราคาในท้องตลาดค่อนข้างมาก และยังมีการจัดสรรงบประมาณค่าครุภัณฑ์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องฉายภาพ เครื่องพิมพ์ เลเชอร์ โต๊ะเก้าอี้ เครื่องปรับอากาศ ชุดเครื่องเสียง (ลำโพงพร้อมไมโครโฟน) ชุดโต๊ะสำหรับวงเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์กล้องวงจรปิด ชุดครุภัณฑ์การเรียนรู้ และอื่น ๆ รวมอยู่ในโครงการด้วย ซึ่งการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว อาจเป็นการจัดสรรงบประมาณซ้ำซ้อนกับครุภัณฑ์ของโรงเรียนที่มีอยู่แล้ว จึงเป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณในลักษณะฟุ่มเฟือยและก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ
“ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการจัดหาสื่อการเรียนการสอน เช่น วัสดุ อุปกรณ์ครุภัณฑ์ต่างๆ นั้น ควรให้หน่วยงานหรือโรงเรียนที่มีความขาดแคลน มีความต้องการ และมีความพร้อมที่จะให้พัสดุเป็นผู้ของบประมาณ สำหรับโปรแกรมสื่อการเรียนการสอนควรมีการจัดหาต่างหาก ซึ่งไม่น่าจะมีราคาสูงมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการ E-Learning เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 80 โรงเรียนทั่วไทยของมูลนิธิ 5 ธันวาคมมหาราช ซึ่งมีราคาเพียงชุดละ 35,000 บาท”
สตง. ระบุว่า เพื่อเป็นการป้องกันและป้องปรามการกระทำผิดที่อาจเกิดขึ้นโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้การปฏิบัติที่เรียบร้อย ถูกต้องโปร่งใส ลดการรั่วไหล การสิ้นเปลือง หรือเป็นการป้องกันการกระทำที่อาจไม่สุจริต หรือเป็นการป้องกันการคอรัปชั่นที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง ของให้ สพฐ.ดำเนินการดังนี้
1. กำหนดมาตรการควบคุมและแจ้งเวียนสำนักงานเขตพื้นฐานที่การศึกษาประถมศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และโรงเรียนในสังกัดถือปฏิบัติเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
2. พิจารณาสั่งการให้มีการตรวจสอบรายละเอียดค่าครุภัณฑ์แต่ละรายการ ว่ามีความเหมาะสมคุ้มค่าหรือไม่
3. ให้จัดส่งรายชื่อโรงเรียนที่ได้รับจัดสรรทีได้ดำเนินการไปแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการให้สตง.เป็นการด่วน
ทั้งนี้ การดำเนินการทุกข้อ ขอให้แจ้งผลให้ สตง.ทราบภายใน 60 วัน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า นอกเหนือจากการแจ้งข้อมูลให้ สพฐ. ตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการปรับปรุงห้องเรียน ASEAN School Online แล้ว สตง. ยังได้จัดส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าตรวจสอบข้อมูลด้วย