ป.ป.ช.เชือดอดีต‘ดีดี-บิ๊กการบินไทย’จัดซื้ออุปกรณ์ติดห้องนักบินเอื้อเอกชนสูญ 147 ล.
ป.ป.ช. ฟันอาญา-วินัยร้ายแรงอดีต ‘ดีดี-บิ๊กการบินไทย’ ทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์-กล้องวงจรปิดติดห้องนักบินปี 49 เอื้อประโยชน์เอกชน ทำสัญญาโดยไม่ระบุวิธีจัดซื้อ-ไม่ผ่านมติบอร์ด ทำรัฐสูญเงิน 147 ล้านเศษ
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2563 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงข่าวถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดผู้บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กรณีการจัดซื้ออุปกรณ์ห้องนักบินเอื้อประโยชน์เอกชนโดยมิชอบ ทำรัฐสูญเสีย 147 ล้านบาท ว่า คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนโดยมี พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน
โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2549 กรมการขนส่งทางอากาศส่งข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 65 ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยในบริเวณส่วนของผู้ประจำหน้าที่ภาคอากาศให้แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะต้องจัดให้มีวิธีการที่สามารถตรวจตราพื้นที่ด้านนอกประตูที่แบ่งเป็นส่วนของผู้ประจำหน้าที่ภาคอากาศโดยรอบทั้งหมดได้จากบริเวณปฏิบัติงานของนักบินแต่ละคน เพื่อพิสูจน์ทราบบุคคลที่ขอเข้าและเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมที่น่าสงสัยหรือเหตุที่อาจเป็นอันตราย โดยที่ประชุมฝ่ายบริหารบริษัท การบินไทยฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2549 ได้รับทราบ และเห็นว่า ในส่วนของอุปกรณ์ในห้องนักบินเพื่อรองรับข้อมูลปฏิบัติการบินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบกล้องวงจรปิดสำหรับตรวจสอบบริเวณห้องนักบิน (EFB/CDSS) เป็นเรื่องที่บริษัท การบินไทยฯ ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน
โดยคณะกรรมการบริหารบริษัท การบินไทยฯ มีมติเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2549 อนุมัติในหลักการให้ฝ่ายปฏิบัติการ (DO) ไปดำเนินการจัดหาโครงการ EFB/CDSS โดยเร็ว โดย เรืออากาศโทณรุจ โกมลารชุน (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2) ขณะดำรงตำแหน่ง ผอ.ฝ่ายทดสอบและพัฒนาการบิน (OE) และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.ภารกิจพิเศษฝ่ายปฏิบัติการ สังกัดฝ่ายปฏิบัติการบินระดับรองผู้อำนวยการใหญ่ มีหนังสือถึง เรืออากาศเอกประสาท ขุนอินทร์ (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3) เสนอแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดคุณสมบัติของระบบโครงการ EFB/CDSS ส่วนคณะกรรมการจัดซื้อและคณะกรรมการตรวจรับให้ฝ่ายช่าง (DT) เป็นผู้รับผิดชอบ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2549 เรืออากาศโทอภินันทน์ สุมนะเศรณี (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1) ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทยฯ ลงนามอนุมัติแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดคุณสมบัติของระบบ EFB/CDSS
อย่างไรก็ดีฝ่ายช่าง (DT) ยังไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อ และยังไม่มีการอนุมัติจัดซื้อกับคณะกรรมการบริหารบริษัท การบินไทยฯ แต่เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2550 เรืออากาศโทณรุจ กลับมีอีเมล์ถึงบริษัท Global Airworks Inc. แจ้งว่าได้รับการคัดเลือกให้เตรียมทำสัญญาและให้เริ่มดำเนินการโดยเร็ว ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2550 เรืออากาศเอกประสาท ลงนามสัญญาซื้อขายกับบริษัท Global Airworks Inc. โดยไม่ระบุว่าเป็นการจัดซื้อโดยวิธีใด ดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดซื้อและได้รับอนุมัติจัดซื้อจากผู้มีอำนาจจัดซื้อตามระเบียบบริษัท การบินไทยฯ หรือไม่ แต่ เรืออากาศเอกประสาท กลับเห็นชอบ และ เรืออากาศโทอภินันทน์ ลงนามในสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2550 และเมื่อมีการทำสัญญาแล้ว บริษัท การบินไทยฯ ได้ตรวจรับ และชำระเงินให้แก่บริษัท Global Airworks Inc. เป็นเงิน 147,395,028 บาท แต่ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 บริษัท การบินไทยฯ จึงเลิกสัญญากับบริษัทแห่งนี้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติชี้มูลความผิด เรืออากาศโทอภินันทน์ และ เรืออากาศโทณรุจ มีมูลความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และ 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ส่วน เรืออากาศเอกประสาท มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/