- Home
- Isranews
- ข่าว
- 'กก.-ผู้ถือหุ้น' กลุ่มเดียวกัน! เปิดข้อมูล3 บ.ขายน้ำยางทำถนนพาราฯ -กยท.ยันไม่มีล็อคสเปค
'กก.-ผู้ถือหุ้น' กลุ่มเดียวกัน! เปิดข้อมูล3 บ.ขายน้ำยางทำถนนพาราฯ -กยท.ยันไม่มีล็อคสเปค
เปิดข้อมูล 3 เอกชน ขายน้ำยางทำถนนพาราซอยซีเมนต์ รบ.บิ๊กตู่ พบแจ้งที่อยู่บริเวณใกล้เคียง 'กก.-ผู้ถือใหญ่' คนเดียวกัน ด้านกยท.ยันไม่มีล็อคสเปค การันตีเอกชนมีมาตรฐานตรงตามหลักเกณฑ์ทุกประการ ผ่านคกก.เห็นชอบ -รับรองโปรงใส
สืบเนื่องจากการทำโครงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่ใช้งบประมาณวงเงินนับหมื่นล้านบาทของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยการสนับสนุนให้มีการนำยางไปทำถนน หรือที่เรียกว่า ถนนพาราซอยซีเมนต์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการกำหนดให้หน่วยงานท้องถิ่นต้องรับซื้อยางจากบริษัทเอกชน 3 ราย ซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกันเท่านั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า บทบาทหน้าที่ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในการดำเนินงานโครงการนี้ คือ การรับรองเอกชนผู้ผลิตสารผสมที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานในการนำน้ำยางพาราไปผสมสาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพาราซอยซีเมนต์ เพื่อให้น้ำยามีคุณสมบัติที่ดีนำไปใช้ราดถนน ก่อนที่จะขายให้ผู้ผลิตพาราซอย นำไปใช้ในการทำถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างทำโครงการถนน เป็นอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน กยท. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจุบัน มีผู้ผลิตสารผสม ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน แค่จำนวน 3 ราย เป็นบริษัทที่มีน้ำยางพาราผสมเพิ่มเติมถูกตรงตามหลักเกณฑ์ทุกประการ และ กยท.ประกาศชื่อรับรองเป็นทางการไปแล้ว ประกอบไปด้วย 1. บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด 2. บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ 3. บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด ส่วนอีก 2 รายกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงเพื่อให้ได้มาตรฐานตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณณ์ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุผลิตภัณฑ์ที่มีผลงานเป็นมาตรฐานที่ยอมรับโดยทั่วกัน ไม่ได้มีการบังคับให้ที่หน่วยงานใดจะต้องมาซื้อกับบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการชุดนี้เท่านั้น
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นบริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย พบว่า บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2534 ทุนปัจจุบัน 25,000,000 บาท
แจ้งที่ตั้ง 75/1-7 หมู่ที่ 5 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
ประกอบธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก
ปรากฎชื่อ นาย ชัยอรุณ วุฒิชาญ นางสาว กัญญารัตน์ เกิดประดิษฐ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 เมษายน 2562 นาย ชัยอรุณ วุฒิชาญ ถือหุ้นใหญ่สุด 70% มูลค่า 17,500,000 บาท นาย รุ่งเรือง ชูชาติ 29.8% มูลค่า 7,450,000 บาท นาง จันทรา ชูชาติ 0.2% มูลค่า 50,000 บาท
บริษัท สยามนวกรรม จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2535 ทุนปัจจุบัน 125,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 71/30-31 หมู่ที่ 5 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
แจ้งประกอบธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก รับจ้างผสมเคมี
ปรากฎชื่อ นาย รุ่งเรือง ชูชาติ นางสาว สรัญญา อรรถปภัศร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 เมษายน 2562 นาง บุษยาพร วิริยะศิริ ถือหุ้นใหญ่สุด 50.0001% มูลค่า 62,500,100 บาท นาย รุ่งเรือง ชูชาติ 40% มูลค่า 50,000,000 บาท นาง จันทรา ชูชาติ 9.9999% มูลค่า 12,499,900 บาท
บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 21 กรกฎาคม 2549 ทุนปัจจุบัน 25,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 71/29 หมู่ที่ 5 ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
แจ้งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากยางพาราและพลาสติก
ปรากฎชื่อ นาง ลักขณา รักษ์บงกชกุล นางสาว ชนม์นาถ วุฒิชาญ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 เมษายน 2562 นางสาว ชนม์นาถ วุฒิชาญ ถือหุ้นใหญ่สุด 70% มูลค่า 17,500,000 บาท นาย ธัมม์ วุฒิชาญ 24% มูลค่า 6,000,000 บาท นาง ลักขณา รักษ์บงกชกุล 6% มูลค่า 1,500,000 บาท
จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย แจ้งที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน ขณะที่กรรมการผู้ถือหุ้น บางบริษัทเป็นกลุ่มเดียวกัน เช่น นางสาว ชนม์นาถ วุฒิชาญ กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด มีนามสกุลเดียวกับ นาย ชัยอรุณ วุฒิชาญ กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด เป็นต้น
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามติดต่อบริษัทเอกชน ทั้ง 3 ราย ตามเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้ในฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว แต่ยังไม่สามารถติดต่อไป
อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า กยท. ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้บัญชาการทหารบก (กรมการทหารช่าง) ลงวันที่ 17 กันยายน 2561 ว่า กยท.ขอความอนุเคราะห์ให้หน่วยงานและผู้รับจ้างของหน่วยงานได้ตรวจสอบว่า สถาบันเกษตรกรนั้นๆ ว่า มีศักยภาพหรือความสามารถในการผลิตยางที่เป็นวัตถุดิบได้ตามจำนวนที่ต้องใช้งานหรือไม่ในเบื้องต้นก่อน เพราะโครงการส่งเสริมการใช้ยางภาครัฐ โดยฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กยท.จะตรวจสอบย้อนหลังในเรื่องนี้อีกครั้ง (อ้างอิงข่าวส่วนนี้จาก ไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/news/politic/1624380)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
เปิดแผนงานกองทัพ ใช้งบ 2.5 พันล. ทำถนนยางพารา-ให้กยท.ประมูลก่อนขายต่อ อปท.