- Home
- Isranews
- ข่าว
- ร้อง 'อิศรา' ช่วยสอบร้านอาหารดังคิด VAT 7% ปัดเศษสตางค์ทศนิยมเป็น1บ. หวั่นถูกเอาเปรียบ
ร้อง 'อิศรา' ช่วยสอบร้านอาหารดังคิด VAT 7% ปัดเศษสตางค์ทศนิยมเป็น1บ. หวั่นถูกเอาเปรียบ
ผู้บริโภคร้องช่วยตรวจสอบ ทานอาหารร้านดังจ่าย VAT 7% ถูกปัดเศษสตางค์ทศนิยมเป็น 1 บาท หวั่นถูกเอาเปรียบ 'อิศรา' ตามพิสูจน์พบพฤติการณ์ลักษณะนี้จริง เผยสรรพากรเคยเเจงป้องกันปัญหาทอนเงินผู้ซื้อ ให้ผู้ประกอบการตั้งราคาขายสินค้า รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เเล้ว ถ้าทศนิยมตัวที่ 3 มีค่าไม่ถึง 5 ให้ปัดทิ้ง
การทอนเงินค่าอาหารบวกค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ให้กับลูกค้าที่เข้ามารับประทานอาหาร ของ ร้านอาหารชื่อดังแห่งหนึ่ง ที่มีจำนวนกว่า 20 สาขา ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด กำลังถูกจับตามอง
เมื่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการร้องเรียนจากลูกค้ารายหนึ่งที่เข้าไปใช้บริการในสาขาปั๊มน้ำมันย่านประชาอุทิศ ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เข้าไปสั่งเย็นตาโฟมารับประทาน 1 ชาม ในราคา 98 บาท เมื่อรับประทานเสร็จเรียบร้อยก็สั่งเช็คบิลค่าอาหารตามปกติ
แต่หลังจากที่ตรวจสอบใบเสร็จค่าอาหารที่ได้รับมา พบข้อสังเกตว่า ในใบเสร็จค่าอาหารที่ทางร้านออกให้ ซึ่งมี 2 รายการหลัก ที่ทางร้านเรียกเก็บเงิน คือ ค่าอาหาร กับค่าภาษีมูลค่าเพิ่มผู้บริโภค (VAT) 7 % นั้น ในส่วนของค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% มีการระบุตัวเลขทศนิยมเศษสตางค์ไว้ด้วย แต่เมื่อนำมาคำนวณยอดรวมค่าอาหารที่ลูกค้าต้องจ่าย กลับไม่มีตัวเลขเศษสตางค์รวมอยู่ด้วย ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เศษสตางค์ จากค่า VAT 7% ไปไหน และเมื่อคำนวณค่าอาหารใหม่ด้วยตนเอง โดยนำค่าอาหารมาบวกกับค่าVAT 7% ก็พบว่า ทางร้านได้ใช้วิธีการปัดเศษสตางค์ค่า VAT 7% ขึ้นไปเป็น 1 บาท ภายหลังจากที่นำไปรวมกับค่าอาหารแล้วนั้นเอง
"อธิบายง่ายๆก็คือ เมื่อคุณไปสั่งเย็นตาโฟร้านนี้มาทาน 1 ชาม ในราคา 98 บาท เมื่อรวมกับค่า VAT 7% ที่ทางร้านคำนวณมาที่ตัวเลข 6.87 บาท ลูกค้าจะต้องจ่ายเงินรวมทั้งหมด 104.87 บาท แต่ในใบเสร็จที่ทางร้านออกให้ราคาที่ลูกค้าจะต้องจ่ายกลับอยู่ที่ตัวเลข 105 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ปัดเศษสตางค์ .87 บาท ขึ้นไป นั้นเอง" (ดูใบเสร็จค่าอาหารประกอบ)
ลูกค้ารายนี้ ยังระบุด้วยว่า "อยากให้สำนักข่าวอิศราเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย เพราะมองว่าเป็นวิธีการของร้านค้าในการเอาเปรียบผู้บริโภคที่ไม่สมควรเกิดขึ้น ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เศษสตางค์เพียงไม่เท่าไร แต่ลองคิดดูวันหนึ่งร้านค้าที่ทำแบบนี้ ค่าอาหารได้เป็นจำนวนหลายร้อยชาม ทางร้านจะได้เงินจากคิดเงินแบบนี้ไปเท่าไร"
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ภายหลังจากได้รับแจ้งข้อร้องเรียนเรื่องนี้ ได้ทดลองเข้าไปรับประทานอาหาร จากร้านอาหารชื่อดังแห่งนี้ สาขาในห้างสรรพสินค้าแถวถนนศรีนครินทร์ โดยรับประทานอาหาร คิดเป็นราคาสุทธิทั้งสิ้น 195 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบใบเสร็จค่าอาหาร พบว่า ทางร้านคิดค่าภาษีผู้บริโภค VAT 7% เป็นเงินอยู่ที่ 13.67 บาท ซึ่งตามจริงราคาค่าอาหารและVAT 7% ที่ต้องจ่ายนั้นจะอยู่ที่ 208.67 บาท แต่ราคาค่าอาหารและVAT 7% ที่เรียกเก็บครั้งนี้ถูกปัดเศษสตางค์ขึ้นเป็น 1 บาท อยู่ที่ตัวเลข 209 บาท (ดูรูปภาพประกอบ)
เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา สอบถามกับพนักงานผู้คิดเงิน ได้รับคำตอบว่า "หลักการคิดเงินภาษีผู้บริโภคของร้านนั้น ถ้าหากคิดคำนวณเปอร์เซ็นต์ภาษีแล้วปรากฎว่ามูลค่าภาษีมีทศนิยมมากกว่า 50 สตางค์ ทางร้านจะปัดเศษขึ้นไปเป็นหนึ่งบาทโดยตลอด"
จากนั้นพนักงานรายนี้ ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมอีก
ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร ให้ความเห็นสำนักข่าวอิศรา ว่า การปัดเศษสตางค์ค่า VAT ในใบเสร็จค่าอาหาร ขึ้นไปอีกหนึ่งบาท ของร้านอาหารดังกล่าว ต้องดูว่า เงินเศษสตางค์ส่วนเกินหลังปัดเศษเพิ่มขึ้นไป มีการนำส่งเป็นรายได้ให้สรรพากรทั้งหมดหรือไม่ ถ้าไม่นำส่ง คำถามคือรายได้ส่วนนี้ไปอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นรายได้ที่นำเข้าร้านอาหารโดยตรงก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
"นอกจากนี้ รูปแบบใบเสร็จที่ร้านอาหารออกให้ ก็มีข้อสังเกตอยู่ตรงที่ ถ้าเป็นใบเสร็จที่ออกผ่านเครื่องคิดเงินที่มีการลงทะเบียนกับกรมสรรพากร จะมีการระบุคำว่า TAX INVOICE (ABB) ไว้ด้วย จะมีการบันทึกข้อมูลไว้ให้กรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบข้อมูลภาษีย้อนหลังด้วย แต่ใบเสร็จของทางร้านอาหารแห่งนี้ กลับไม่พบคำว่า TAX INVOICE (ABB) ด้วย ดังนั้นจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่สรรพากรตามที่ออกใบเสร็จหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้คงจะต้องมีการเข้าไปตรวจสอบข้อมูลกันอีกครั้ง" แหล่งข่าวระบุ (ดูภาพประกอบ)
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์กรมสรรพากร พบว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการสอบถามเกี่ยวกับวิธีการคำนวณภาษีเพิ่มที่มีจุดทศนิยม โดยถามว่า บริษัทเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดทำบัญชีโดยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งระบบ บริษัทมีนโยบายคำนวณภาษีขายให้สอดคล้องกับการคำนวณราคาสินค้า คือ ไม่มีเศษสตางค์ โดยการปัดขึ้นเป็น 1 บาท การกระทำดังกล่าวถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ เเละผู้ซื้อสามารถนำใบกำกับภาษีดังกล่าวมาถือเป็นเครดิตภาษีซื้อทั้งจำนวนได้หรือไม่
กรมสรรพากร ตอบว่า ด้านผู้ออกใบกำกับภาษี
ใบกำกับภาษีเเบบเต็มรูปที่ผู้ประกอบการปัดเศษสตางค์ของภาษีมูลค่าเพิ่มให้เป็นจำนวนเต็ม เพื่อไม่ให้มีปัญหาเกี่ยวกับการทอนเงินให้กับผู้ซื้อ ทำให้ภาษีขายเกิน ผู้ประกอบการควรตั้งราคาขายสินค้าโดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เเล้ว ทั้งนี้ ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยปรากฎทศนิยม ถ้าเศษซึ่งเป็นจำนวนเงินตัวที่ 3 หลังจุดทศนิยมมีค่าไม่ถึง 5 ให้ปัดเศษทิ้ง ถ้ามีค่าตั้งเเต่ 5 ให้ปัดเศษขึ้น
ด้านผู้ได้รับใบกำกับภาษี
ใบกำกับภาษีดังกล่าว ผู้ซื้อนำไปใช้ เป็นหลักฐานในการขอหักภาษีซื้อไม่ได้ เพราะถือว่าขอเครดิตเกินไป ผู้ซื้อสามารถขอให้ผู้ขายออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องได้ โดยยกเลิกฉบับเดิมตามข้อ 24 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542ฯ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/