- Home
- Isranews
- ข่าว
- เจาะระบบแอปนับคะแนนเลือกตั้งปรับปรุง 4 ครั้ง-กก.TOR ปี59 แจงไม่เกี่ยวข้องปัญหาปัจจุบัน
เจาะระบบแอปนับคะแนนเลือกตั้งปรับปรุง 4 ครั้ง-กก.TOR ปี59 แจงไม่เกี่ยวข้องปัญหาปัจจุบัน
เจาะข้อมูลแอปพลิเคชั่น 'Rapid Report' รายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. พบ กกต.ผู้ผลิต ต้องใส่ Username-Password ถึงเข้าได้ เนื้อในดูรายละเอียดเรื่องคะแนนได้ทั้งหมด ปรับปรุงระบบรวม 4 รอบ 'อิศรา' โทรเช็คบริษัทเอกชน 3 แห่งที่ถูกสืบราคากลางแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ - ด้านกก.กำหนดทีโออาร์ปี 59 แจงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานปีปัจจุบันที่เป็นปัญหาอยู่
จากกรณีเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นระบบผลการนับคะแนนเลือกตั้งแรพพิด รีพอร์ต (Rapid Report) ที่รายงานตัวเลขคลาดเคลื่อนบ่อยครั้ง ขณะที่นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ยอมรับว่า ระบบดังกล่าวเคยล่มมาแล้ว 3 ครั้ง รวมถึงในวันนับคะแนนเลือกตั้งด้วย คาดว่าเกิดสาเหตุเกิดจากการถูก Hack และ Human Error (ความผิดพลาดของคน) เนื่องจากผู้ที่ป้อนข้อมูลเข้ามาเป็นชาวบ้านที่ทำงานให้ กกต. ประจำหน่วย เป็นผู้ป้อนข้อมูล ทั้งนี้ ก่อนเริ่มทำงานใช้ระบบ Rapid Report อย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมาระบบเคยล่ม 3 ครั้ง (อ่านประกอบ : 9 พ.ค.ประกาศผลเลือกตั้งทางการ! กกต. ยันระบบนับคะแนนล่ม เหตุโดนแฮ็ค-คนทำผิดพลาด)
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า สำหรับระบบ Rapid Report นั้น ถูกใช้ตั้งแต่สมัยการลงคะแนนเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 โดยขณะนั้น สำนักงาน กกต. จ้างพัฒนาระบบงานตามโครงการพัฒนานวัตกรรมการเลือกตั้ง และการออกเสียงประชามติ กิจกรรมการเตรียมระบบ ECT Rapid Report (จัดทำแอปพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟน เพื่อรายงานผลคะแนนออกเสียงประชามติ) โดยประกาศราคากลางอยู่ที่ 197,950 บาท อ้างอิงแหล่งที่มาราคากลางจาก 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท พงษ์อุดม อินโนเวชั่น ซิสเต็มส์ จำกัด บริษัท สยามซอฟแวร์ โซลูชั่น จำกัด และบริษัท มินพินอินเตอร์แอคชั่น จำกัด แต่ไม่มีข้อมูลประกาศชัดเจนว่า บริษัทเอกชนรายใดเป็นผู้ชนะการประกวดราคางานโครงการนี้
ขณะที่จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพิ่มเติม พบว่า สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลแล้ว) ดำเนินโครงการจ้างพัฒนานวัตกรรมการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ กิจกรรมการพัฒนาระบบการรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2560 โดยบริษัท สยามซอฟแวร์ โซลูชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ด้วยวงเงิน 2.7 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2560 (อ่านประกอบ : ก่อนระบบล่ม! กกต.ร่วม สนง.พัฒนา รบ. ดิจิทัล ปรับปรุงแอปนับคะแนน-เอกชนได้งาน 2.7 ล.)
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พยายามติดต่อบริษัทเอกชน ทั้ง 3 แห่ง เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้องตามเบอร์โทรศัพท์บริษัทที่ปรากฎในฐานข้อมูลออนไลน์ แต่ยังไม่ได้รับคำชี้แจงจากทั้ง 3 บริษัทแต่อย่างใด โดย บริษัท สยามซอร์ฟแวร์ โซลูชั่น จำกัด เจ้าหน้าที่บริษัทฯ แจ้งว่า ไม่ทราบรายละเอียด ให้ฝากเรื่องไว้และจะดำเนินการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องติดต่อกลับมาชี้แจงข้อมูล ส่วน บริษัท พงษ์อุดม อินโนเวชั่น ซิสเต็มส์ จำกัด เจ้าหน้าที่บริษัทฯ แจ้งว่า จะรับเรื่องไว้และจะดำเนินการให้ผู้เกี่ยวข้องติดต่อกลับมาชี้แจงข้อมูล ขณะที่ บริษัท มินพินอินเตอร์แอคชั่น จำกัด ไม่สามารถติดต่อได้
อย่างไรก็ดี ในส่วนของ บริษัท สยามซอร์ฟแวร์ โซลูชั่น จำกัด และ บริษัท พงษ์อุดม อินโนเวชั่น ซิสเต็มส์ จำกัด แต่จนถีงช่วงเย็นวันที่ 27 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับมาชี้แจงข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
จากการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับ Rapid Report เพิ่มเติมระบบ ECT Rapid ใน App Store พบว่า ในรายละเอียดของแอปพลิเคชั่น ระบุว่า "Rapid Report เป็นแอปพลิเคชั่น ผลิตโดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งใช้งานบน Smart Phone ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อใช้ติดตามควบคุมการปฏิบัติงานและรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการ
โดยการจะเข้าใช้งานต้องใส่ Username และ Password ซึ่งจะได้รับเฉพาะสื่อที่ร่วมลงขันจ่ายเงินให้กับ กกต. ประมาณหลักแสนบาทเท่านั้น (อ่านประกอบ : เปิดทีโออาร์ระบบ Rapid Report กกต.ช่วงลงเสียงประชามติ59 ก่อนเลือกตั้งปี 62 เจอปัญหาเพียบ)
ภายในแอปพลิเคชั่น แบ่งย่อยเป็น การบันทึกข้อมูล ทั้งวันอบรมการใช้งาน วันรับมอบวัสดุอุปกรณ์ และวันเลือกตั้ง ในส่วนของวันเลือกตั้งนั้น เปิดเผยข้อมูลในส่วนการเปิด/ปิดการลงคะแนน รายงานผลการลงคะแนน และรายงานการประกาศงดการลงคะแนน/นับคะแนน
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบพบว่า มีการระบุประวัติการแก้ไขเวอร์ชั่นทั้งหมด 4 ครั้ง จากเวอร์ชั่น 1.0.0 , 1.0.1 , 1.0.2 , 1.0.3 ถึง 1.0.4 ตามลำดับ โดยระบุว่า “แก้ไขข้อผิดพลาดและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของโปรแกรม” เหมือนกันทั้ง 4 ครั้ง (ดูภาพประกอบท้ายข่าว)
ล่าสุดในช่วงเย็นวันที่ 28 มี.ค. 2562 สำนักข่าวอิศรา ได้รับการติดต่อจากหนึ่งในกรรมการที่เป็นผู้กำหนดร่างขอบเขตงาน (TOR) ของระบบ Rapid Report ที่ใช้ในการทำประชามติปี 2559 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้
โดยกรรมการรายนี้ ยืนยันว่า เกี่ยวกับปัญหาในระบบ Rapid Report ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นงานในส่วนปีปัจจุบัน ไม่เกี่ยวข้องกับงานในช่วงปี 59 แต่อย่างใด ซึ่งงานในส่วนปี 59 เป็นการหยั่งเสียงทำประชามติ ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีไม่มีปัญหาอะไร
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
9 พ.ค.ประกาศผลเลือกตั้งทางการ! กกต. ยันระบบนับคะแนนล่ม เหตุโดนแฮ็ค-คนทำผิดพลาด
ก่อนระบบล่ม! กกต.ร่วม สนง.พัฒนา รบ. ดิจิทัล ปรับปรุงแอปนับคะแนน-เอกชนได้งาน 2.7 ล.