10 ปีโดนร้องทุจริตเพียบ! เบื้องหลังมาตรการ ป.ป.ช.ชง ครม.แก้เงินรายได้อุทยานรั่ว
เบื้องหลัง! มาตรการ ป.ป.ช. ชง ครม. แก้ปัญหาการจัดเก็บเงินรายได้บำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พบ 10 ปีที่ผ่านมา มีการรั่วไหล ถูกร้องเรียนทุจริตเพียบ มีช่องทาง-เสี่ยงแสวงหาผลประโยชน์อื้อ ขาดความโปร่งใส
จากกรณีเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาตรการและข้อเสนอแนะป้องกันการทุจริตในการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ เช่น การปรับปรุงการจัดเก็บรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ การพิจารณาและอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ และปัญหาด้านการบริหารจัดการ โดยมีมาตรการตอนหนึ่งให้ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่ง เนื่องจากที่ผ่านมาพบปัญหาฝ่ายการเมืองแทรกแซง หรือไม่ก็ถูกฝ่ายบริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติโยกย้ายตลอด ทำให้ไม่มีผู้มีประสบการณ์จริงเข้ามาทำงาน จนขาดบุคลาการที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการจัดเก็บเงินรายได้บำรุงของอุทยานแห่งชาตินั้น (อ่านประกอบ : โดนการเมืองแทรกแซงตลอด! ป.ป.ช.ชง ครม.ปรับปรุงคัด หน.อุทยานแห่งชาติ ป้องเงินรั่วไหล)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องออกมาตรการดังกล่าว เนื่องจากอุทยานแห่งชาติ เป็นพื้นที่คุ้มครองในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจุบันมีทั้งหมด 154 แห่ง โดยจัดตั้งตามกฎหมายแล้ว 131 แห่ง และอยู่ระหว่างเตรียมประกาศจัดตั้งอีก 23 แห่ง รวมเนื้อที่กว่า 43 ล้านไร่ คิดเป็น 43.06% ของป่าไม้ทั้งหมดในประเทศ แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก แม้ว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวจะมีประโยชน์มหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ตามมาคือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลรักษาพื้นที่อนุรักษ์ การจัดเก็บรายได้จากกิจกรรมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อนุรักษ์เป็นหลักการของผู้ใช้เป็นผู้จ่าย โดยผู้ใช้ประโยชน์พื้นที่อนุรักษ์ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม และค่าบริการ หรือชำระเงินให้กับพื้นที่อนุรักษ์ ดังนั้นรายได้เหล่านี้จึงมีความสำคัญในการเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อกลับไปบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ ปัจจุบันเงินรายได้นี้เป็นเงินนอกงบประมาณ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
อย่างไรก็ดีปัญหาการจัดเก็บเงินรายได้เพื่อบำรุงอุยานแห่งชาติ เป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน พบว่า ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีข้อเท็จจริงเรื่องการรั่วไหลของการจัดเก็บเงินรายได้ มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตและพฤติกรรมการแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด และสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวจากหน่วยงานต่าง ๆ ไม่สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในอุทยาน ปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
กระทั่งปี 2558 มีการเข้าไปตรวจสอบโดยคณะทำงานด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเล สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยสอบเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี พบว่า ตัวเลขการนำส่งเงินรายได้เพิ่มสูงอย่างผิดปกติ กล่าวคือ จำนวนเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานเพิ่มสูงหลายเท่าตัว แตกต่างจากก่อนการตรวจสอบเป็นอย่างมาก เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่สังคม และการเสนอข่าวต่อเนื่องของสื่อมวลชน ทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีความเข้มข้นในการจัดเก็บเงินรายได้มากขึ้น จนทำให้เงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติหลายแห่งเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้ภาพรวมอุทยานแห่งชาติในประเทศเก็บเงินรายได้มากกว่า 2 พันล้านบาท/ปี ขณะที่ในอดีตเก็บได้เพียง 600 ล้านบาท/ปี เท่านั้น
ข้อมูลดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของกระบวนการจัดเก็บรายได้ และการรั่วไหลของเงินรายได้เป็นจำนวนมหาศาล โดยมีช่องทางและความเสี่ยงในการทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์จากการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมในส่วนของบัตรค่าบริการนักท่องเที่ยว แม้ว่าปัจจุบันจะสามารถเก็บเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติได้เพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อทำการศึกษาการจัดเก็บเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติทั้งระบบ พบว่า ยังคงใช้ระบบการจัดเก็บในรูปแบบเดิม และเป็นการแก้ไขปัญหา ที่ปลายเหตุเท่านั้น กระบวนการจัดเก็บรายได้ยังคงมีช่องว่าง และความเสี่ยงต่อการทุจริตให้เจ้าหน้าที่แสวงหาประโยชน์ได้ ขณะที่ต่างประเทศมีการแก้ไขปัญหาโดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการป้องกันการทุจริต และมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับขีดความสามารถที่รองรับของอุทยานแห่งชาติ
นอกจากนี้ยับพบประเด็นปัญหาด้านการพิจารณา และอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ โดยพบว่า มีช่องทางการพิจารณาให้ใช้จ่ายเงินรายได้ที่ขาดการมีส่วนร่วม และการขออนุมัติในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอาจขาดความโปร่งใส และประเด็นปัญหาด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ ปัญหาด้านการบริหารงานบุคคล และการสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการทุจริตเกี่ยวกับเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ
คณะทำงานฯของ สำนักงาน ป.ป.ช. ผู้จัดทำมาตรการดังกล่าว สรุปในช่วงท้ายว่า ผลกระทบจากการรั่วไหลของเงินรายได้ ส่งผลให้ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณและโอกาสในการเงินรายได้จากการท่องเที่ยวกลับคืนเพื่อฟื้นฟูและบำรุงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในเขตอุทยานแห่งชาติเป็นจำนวนหลายล้านบาทต่อปี
ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งระบบ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นควรกำหนดให้มีมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ เพื่อเสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามนัยมาตรา 19 (11) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage