ขาดเจ้าภาพหลัก-หน่วยงานรัฐไม่ร่วมมือ! ป.ป.ช.เผยจุดอ่อน-เบื้องหลังคะแนน CPI ไทยลด
เบื้องหลัง! สาเหตุคะแนน CPI ไทยลดเหลือ 36 ตกมาอยู่อันดับ 99 โลก เหตุปี’61 ป.ป.ช.เคยศึกษาวิเคราะห์ทำข้อเสนอแนะ 4 ด้านเพื่อยกระดับ มอบ ป.ป.ท. แม่งาน แต่ข้อเสนอเป็นภาพกว้าง ขาดความชัดเจน จุดอ่อนหลักคือหน่วยงานรัฐอื่นไม่ร่วมมือ ขาดเจ้าภาพขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม
จากกรณีองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2018 ระบุว่า ประเทศไทยได้ 36 คะแนน เต็ม 100 อยู่อันดับ 99 จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยคะแนนตกจากเมื่อปี 2017 ที่ได้ 37 คะแนน อยู่อันดับ 96 ของโลก ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หน่วยงานหลักด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของไทย ระบุว่า แหล่งข้อมูลที่ TI นำไปวิเคราะห์รวม 9 แหล่งนั้น มี 6 แหล่งที่ได้คะแนนเท่าเดิม โดยเฉพาะคะแนนด้านนิติธรรม ส่วนอีก 3 แหล่งที่คะแนนลดลงไป เป็นเพราะที่ผ่านมาไทยยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง ขาดการประชาสัมพันธ์กฎหมายป้องโกงใหม่ให้นักธุรกิจทราบ รวมถึงมีการชี้มูลความผิดอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทำให้ต่างชาติตื่นตัวนั้น (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ยันค่า CPI ตกแต่คะแนนนิติธรรมไม่ลด-เชื่อการเลือกตั้งปัจจัยสำคัญให้คนเชื่อมั่น, ประกาศดัชนีรับรู้การทุจริต 2018 ไทย 36 คะแนน อยู่ที่ 99 ของโลก ตกจากเดิม 3 อันดับ)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ก่อนหน้านี้ช่วงปี 2561 สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อศึกษาวางแผนวิเคราะห์ข้อมูลดำเนินงาน ต้องการยกระดับคะแนน CPI ของไทยให้สูงขึ้น โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี สั่งการให้สำนักงาน ป.ป.ท. เป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะจากสำนักงาน ป.ป.ช. ไปดำเนินการ แบ่งเป็นข้อเสนอแนะ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบาย ด้านเศรษฐกิจ ด้านกระบวนการยุติธรรม และด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน
สำหรับคะแนน CPI สำนักงาน ป.ป.ช. ถือว่ามีความสำคัญมาก และถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายหลักตั้งแต่ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556-2560) จนมาถึงระยะที่ 3 (พ.ศ. 2561-2564) โดยกำหนดเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์คือ ระดับคะแนน CPI สูงกว่าร้อยละ 50 นอกจากนี้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ยังกำหนดเป้าหมายเพิ่มคะแนน CPI ให้สูงขึ้น และกำหนดตัวชี้วัดคือ ระดับคะแนน CPI สูงกว่าร้อยละ 50 เมื่อจบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 คือหลังปี 2564 ด้วย
สำนักงาน ป.ป.ช. ติดตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจากสำนักงาน ป.ป.ท. มีประเด็นข้อสังเกตว่า การจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนน CPI ของสำนักงาน ป.ป.ช. เอง มีลักษณะเป็นภาพกว้าง ข้อเสนอแนะจำนวนมาก และหลากหลาย อาจขาดความชัดเจนในแง่ของการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นปัญหา หรือประเด็นที่ต้องทำเร่งด่วน รวมถึงการกำหนดบทบาท หน้าที่ และแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานรัฐว่า หน่วยงานใดควรดำเนินการอย่างไร หรือประเด็นที่มีข้อเสนอแนะหน่วยงานใดควรรับเป็นเจ้าภาพดำเนินการ
นอกจากนี้จากรายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ พบว่า การดำเนินการส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการของสำนักงาน ป.ป.ท. เป็นหลัก โดยมีผลการดำเนินการของหน่วยงานอื่นทีเกี่ยวข้องน้อยมาก แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานต่าง ๆ ยังขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน และขาดระบบการติดตามประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องดังกล่าวถือเป็นจุดอ่อนประการหนึ่งในการยกระดับคะแนน CPI ดังนั้นการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนน CPI ของ ป.ป.ช. ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจัดให้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบถึงปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ อันจะนำมาสู่แนวทางการขับเคลื่อนการยกระดับคะแนน CPI ของไทยต่อไป
นอกจากนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนการยกระดับคะแนน CPI พบว่า ในไทยยังไม่มีหน่วยงานใดขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงคณะกรรมการนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมและประสานงานการประเมินดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น เช่น คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตขอไงทย ที่มีประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน มีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งของ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. เป็นผู้ศึกษาวิเคราะห์ในเรื่องดังกล่าว แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนเป็นเจ้าภาพหลักโดยตรง ประกอบกับเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ มีความเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ดังนั้น การจัดหาหน่วยงานที่มีความพร้อมด้านบุคลากร และงบประมาณ เพื่อกำกับติดตามและผลักดันให้มีการยกระดับค่าคะแนน CPI จึงมีความจำเป็นยิ่ง
ที่สำคัญการยกระดับคะแนน CPI มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐทุกแห่ง มิใช่เพียงแต่หน้าที่ของรัฐบาล ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. ดังนั้นเมื่อมีการจัดทำแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานภาครัฐที่ชัดเจนแล้ว ควรกำหนดให้การปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานรัฐด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/