ปธ.ป.ป.ช.เตือนคนลง ส.ส.ต้องมีเจตจำนงต้านโกง-ลั่นปราบทุจริตไม่สำเร็จจะพิจารณาตัวเอง
ปธ.ป.ป.ช. เผยรับเรื่องร้องเรียนทุจริตตก 500 เรื่อง/เดือน ยอมรับถ้าอีกหลายปีต่อไปมีมากกว่านี้ ต้องพิจารณาตัวเอง ทำงานประสบความสำเร็จหรือไม่ ระบุผู้สมัคร ส.ส. ต้องมีเจตจำนงทางการเมืองต้านทุจริต ตั้งเป้าปี 2564 ได้คะแนนดัชนีชี้วัดความโปร่งใสถึง 50 คะแนน จากเดิมได้แค่ 37 คะแนน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดกิจกรรม ‘วัคซีนต้านทุจริต ปลุกจิตสำนึก คนไทยไม่โกง’ โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘การป้องกันการทุจริต ภารกิจของคนไทยทั้งชาติ’ ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. รับเรื่องกล่าวหาใหม่เดือนละประมาณ 500 เรื่อง ปีหนึ่งประมาณ 6,000 เรื่อง แต่ศักยภาพการทำงานของ ป.ป.ช. ทุกวันนี้รับเรื่อง และทำเสร็จในอัตราเท่ากัน บางทีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังมากกว่าเรื่องที่ทำเสร็จ เพราะถ้าประชาชนเชื่อมั่นมาก ก็ร้องเรียนมาก ถ้าไม่เชื่อมั่น ก็ไม่ร้องเรียน อย่างไรก็ดีจะทำอย่างไรให้เรื่องเข้าสู่ระบบน้อยกว่าเรื่องที่ทำเสร็จ มิฉะนั้นการทำงานของ ป.ป.ช. ไม่ประสบความสำเร็จ มีแต่เรื่องเก่า ทั้งที่ต้องพยายามทำเรื่องใหม่ เพื่อจะเป็นการป้องปรามว่า อย่าทำ ถ้าทำแล้วติดคุก ต้องรับโทษทางอาญา
“จะทำอย่างไรให้เรื่องมันเข้ามาน้อย ถ้าเกิด 3 ปี 5 ปี 10 ปี ต่อจากนี้ เรื่องร้องเรียนจากเดิมเดือนละ 500 เรื่อง กลายเป็น 700 เรื่อง หรือเพิ่มขึ้น ผม และกรรมการ ป.ป.ช. ท่านอื่น ๆ ต้องทบทวนตัวเองว่า ทำงานประสบความสำเร็จหรือไม่ และต้องพิจารณาตัวเอง สิ่งที่บอกว่าประสบความสำเร็จคือเรื่องกล่าวหาน้อยลง และต่อไปอาจไม่มี ป.ป.ช. ในมิติด้านการปราบปราม แต่เปลี่ยนเป็นมิติป้องกัน ดังนั้นการทำงานของ ป.ป.ช. จึงเป็นเรื่องสำคัญ” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ว่า ในไม่กี่วันข้างหน้าจะมีคนไทยจำนวนมากที่อาสาจะมาเป็นตัวแทนประชาชนชาวไทยทั้งชาติ มาบริหารปกครองประเทศ ออกกฎหมายเพื่อจะทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง ผู้ที่อาสาเหล่านี้ต้องมีเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้ไทยใสสะอาดได้
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า การจะแก้ไขปัญหาทุจริตสำคัญยิ่ง ไม่ใช่เรื่องการปราบปรามเจ้าหน้าที่รัฐไปสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเดียว แต่ถ้าจะชนะปัญหาได้อย่างยั่งยืน การป้องกัน หรือการให้การศึกษา เพื่อสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะเห็นว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อความเป็นอยู่ของประชาชน สังคม ระบบเศรษฐกิจ ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้น
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ถ้าดูจากดัชนีข้อมูลขององค์กรที่สำคัญในโลก ที่เกี่ยวกับกระบวนการทุจริต องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ ITA ทุกปีจะจัดอันดับดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น โดยปี 2017 ไทยได้ 37 คะแนน ถ้าไม่คิดอะไรมาก ดัชนีตัวชี้วัดดังกล่าว ชี้ให้เห็นความน่าเชื่อถือ ต่างประเทศมองเรา สะท้อนสถานการณ์เร่งด่วน เราได้คะแนน 37 จาก 100 เราต้องมาแก้ไขปัญหา เราจะทำอย่างไรปรับสร้างภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ให้เทียบเท่าสากล
“ไม่ต้องตระหนกว่า ไทยได้คะแนนน้อย ประเทศไทยในโลก 2 ใน 3 จาก 186 ประเทศ ล้วนค่าคะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน ประเทศเราพยายามอย่างยิ่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเข้มข้น เราพยายามแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ มีเป้าหมายทำให้คะแนนของเราให้ได้คะแนนประมาณ 50 ในปี 2564 ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ชาติของ ป.ป.ช. ระยะที่ 3 ป.ป.ช. มุ่งหวังว่า อีก 5 ปีข้างหน้า ไทยจะมีมาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม เป็นสังคมมิติใหม่ ที่ประชาชนไม่เพิกเฉยต่อการทุจริตทุกรูปแบบ แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากฝ่ายการเมือง หน่วยงานรัฐ ตลอดจนประชาชน ในการพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ให้ไทยมีเกียรติ และศักดิ์ศรี ทัดเทียมนานาอารยประเทศ และสิ่งที่พูดท้าทายมากสำหรับประชาชนคนไทยทั้ง 67 ล้านคน ในการที่กำหนดวิสัยทัศน์เพื่อเดินไปสู่วิสัยทัศน์ที่เราอยากให้เป็น สิ่งเหล่านี้สำคัญ และเรียนว่าท้าทาย เพราะว่าต้องพยายามก้าวข้ามค่านิยมที่สังคมไทยถูกตราหน้าว่า เราเป็นสังคมที่มีค่านิยมอุปถัมภ์ และเป็นสังคมในระยะที่ผ่านมาเพิกเฉยต่อการทุจริตประพฤติมิชอบ วันนี้เราต้องรณรงค์ก้าวข้าวค่านิยมตรงนี้ให้ได้ ต้องมีไปสู่สิ่งที่เรียกว่า เจตจำนงทางการเมืองของประชาชนที่ตอ้งการสร้างชาติที่สะอาด ปราศจากการทุจริต
“แม้ยุทธศาสตร์ชาติของ ป.ป.ช.ระยะ 3 เดินได้ระยะหนึ่ง ยังไม่ถึงจุดที่อยากให้ดีที่สุด คิดแม้กระทั่ง อยากอยู่ท็อป 20 ของโลก แต่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากยิ่งขึ้นไปอีก เราคิดว่าได้ซัก 50 คะแนนในปี 2564 ก่อน การไปสู่วิสัยทัศน์ตรงนั้น กำหนดพันธกิจที่สำคัญที่ต้องร่วมกันเดินคือ สร้างวัฒนธรรม ต่อต้านการทุจริต เรามีวัฒนธรรมชาติไทยที่ยิ่งใหญ่ ทั่วโลกชื่นชม เราอยากมีวัฒนธรรมส่วนหนึ่ง เป็นการต่อต้านการทุจริต ยกระดับธรรมาภิบาล ในการบริหารจัดการทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ และปฏิรูปกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งระบบให้มีมาตรฐานสากล” ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/