- Home
- Isranews
- ข่าว
- 44 รายการ 18.6 ล.! ปปง.ยึดทรัพย์ครั้งที่ 16 ‘เหว่ยเซียะกัง’ ห้างหุ้นส่วนฯ - 4 คนใกล้ชิด
44 รายการ 18.6 ล.! ปปง.ยึดทรัพย์ครั้งที่ 16 ‘เหว่ยเซียะกัง’ ห้างหุ้นส่วนฯ - 4 คนใกล้ชิด
คดีเจ้าพ่อค้ายาเสพติด ‘ชาญชัย ชีวินนิติปัญญา-เหว่ยเซียะกัง’ ยังไม่จบ ปปง.ยึดทรัพย์ ครั้งที่ 16 อีก 44 รายการ 18.6 ล. แก้วแหวนเงินทอง หน่วยลงทุน ในชื่อ ห้างหุ้นส่วนสามัญพลอยแดง - 4 คนใกล้ชิด
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 12 ธ.ค.2561 คณะกรรมการธุรกรรมในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งที่ ย. 235 /2561 ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) ราย นายประสิทธิ์ หรือชาญชัย ชีวินนิติปัญญา หรือเหว่ย เซี้ยะกัง ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ กับพวก จำนวน 44 รายการมูลค่า 18,619,900 บาท
โดยเป็นทรัพย์สินที่มีชื่อนางวิไล ไชยวรศิลป์ จำนวน 1 รายการ ,นางชนิกานต์ หรือ วารีย์ กระฎุมพร 1 รายการ ,ห้างหุ้นส่วนสามัญ พลอยแดง 40 รายการ (เครื่องประดับ) ,นางแสงทอง กมลรัตน์ 1 รายการ เงินที่ได้จากหน่วยลงทุนกองทุนรวมบัวหลวงทุนทวี มูลค่า 9 ล้านบาท และ นายพิทักษ์ ชัยจำรูญพันธ์ เงินที่จากหน่วยงทุนกองทุนรวมบัวหลวงทุนทวี มูลค่า 9 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2544-2545 นายประสิทธิ์ หรือชาญชัย ชีวินนิติปัญญา หรือเหว่ย เซี้ยะกัง ถูก ปปง.อายัด 15 ครั้ง ได้แก่ คำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ ย. 151/2544 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2544 ,คําสั่งที่ ย. 152/2544 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2544 , คําสั่งที่ ย. 154/2544 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2544 , คําสั่งที่ ย. 11/2545 ลงวันที่ 14 มกราคม 2545 ,คําสั่งที่ ย. 15/2545 ลงวันที่ 22 มกราคม 2545
คําสั่งที่ ย. 18/2545 ลงวันที่ 29 มกราคม 2545 ,คําสั่งที่ ย. 22/2545 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 , คําสั่งที่ ย. 23/3545 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 , คําสั่งที่ ย. 32/3545ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 ,คําสั่งที่ ย. 35/2545 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545
คําสั่งที่ ย. 37/2545ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 , คําสั่งที่ ย. 48/2545 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2545 ,คําสั่ง ที่ ย. 153/2544 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2544 , คําสั่งที่ ย. 7/2545 ลงวันที่ 10 มกราคม 2545 , และคําสั่งที่ ย. 19/2545 ลงวันที่ 30 มกราคม 2545
คำสั่งระบุว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดําเนินการตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมซองบุคคล รวมทั้งผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์ กับผู้กระทําความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินในคดีดังกล่าว พบข้อมูลเพิ่มเติมว่านายประสิทธิ์ หรือชาญชัย ชีวินนิติปัญญา หรือเว่ยเซียะกัง หรือเหว่ยเซียะกัง หรือไท่เซิง แซ่เหว่ย กับพวก เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือมีสิทธิ ครอบครองในทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก จํานวน 44 รายการ ได้แก่ เงินที่ได้จากหน่วยลงทุน กองทุนรวมบัวหลวงทุนทวี และเครื่องประดับ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าว นายประสิทธิ์ หรือชาญชัย ชีวินนิติปัญญา หรือเว่ยเซียะกัง หรือเหว่ยเซียะกัง หรือไท่เซิง แซ่เหว่ย กับพวก ได้มาในระหว่างที่มีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิดในคดีนี้เป็นสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินที่ได้จากหน่วยลงทุน กองทุนรวมบัวหลวงทุนทวี อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย และสังหาริมทรัพย์ประเภทเครื่องประดับ อันเป็นทรัพย์สินที่ไม่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียน โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองสามารถโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคําสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้น ทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายประสิทธิ์ หรือซาญชัย ชีวินนิติปัญญา หรือเว่ยเซี้ยะกัง หรือเหว่ยเซียะกัง หรือไท่เซิง แซ่เหว่ย กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิดและอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 21/2561 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 44 รายการ พร้อมดอกผล มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) กล่าวคือ มีคําสั่งให้ยึดทรัพย์สิน จํานวน 42 รายการ ได้แก่ รายการที่ 1 ถึงรายการที่ 42 นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ และมีคําสั่งให้อายัดทรัพย์สิน จํานวน 2 รายการ ได้แก่ รายการที่ 43 ถึงรายการที่ 44 นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฏตามบัญชี ทรัพย์สินแนบท้ายคําสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ในกรณีผู้ซึ่งถูกยึดและอายัดทรัพย์สินตามคําสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าว ประสงค์จะขอให้มีการเพิกถอนคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคําขอต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัด ดังกล่าวนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือทราบคําสั่งนี้
อนึ่ง การยักย้าย ทําให้เสียหาย ทําลาย ซ่อนเร้นเอาไปเสีย ทําให้สูญหายหรือทําให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดินอาจมีความผิดทางอาญา และต้องระวางโทษตามนัยมาตรา 65 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 สั่ง ณ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2561
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/