‘สุรพงษ์’ ชี้กะเหรี่ยงบางกลอย ยังมีหวังสิทธิคืนถิ่นเดิม
ตีความคำพิพากษาศาลปค.สูงสุด คดีกะเหรี่ยงบางกลอย -ใจแผ่นดิน ‘สุรพงษ์ กองจันทึก’ ชี้วินิจฉัยไร้เอกสาร ไม่เกี่ยวบุกรุกป่า เผยชาวบ้านยังมีสิทธิอาศัยถิ่นเดิม รอรัฐออกเอกสารสิทธิ์ยืนยัน ขณะที่นักวิชาการกฎหมาย เผยเป็นบรรทัดฐานคุ้มครองคนไทย ต่อไปนี้ห้ามใครทำลายบ้าน ต่อให้ผิดหรือถูก
วันที่ 8 ม.ค. 2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน กับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ณ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อกลางปี 2561 ในคดีหมายเลขดำที่ ส.58/2555 หมายเลขแดงที่ ส.660/2559 ระหว่างนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน ผู้ฟ้องคดี กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ผู้ถูกฟ้องคดี ประเด็นหลัก ศาลฯ แก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีกรณีรื้อถอน เผาทำลายบ้านและยุ้งฉาง และไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปอาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมได้ เนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานการได้รับอนุญาตจากราชการให้ครอบครองการทำประโยชน์ชอบด้วยกฎหมาย
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวตอนหนึ่งถึงคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้ระบุชาวบ้านทำผิดกฎหมายใดบ้าง แต่ระบุชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่กระทำผิดกฎหมาย 4 ข้อ ได้แก่
1.เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าว จากการเผาบ้านและยุ้งฉาง ซึ่งเจ้าหน้าที่รู้ว่าเป็นบ้านปลูก แต่ยังเผา ดังนั้น จะมาอ้างว่าไม่รู้เผาบ้านใครหรือเผาบ้านร้างไม่ได้
2.เป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นไม่สมควรแก่เหตุ ซึ่งประวัติศาสตร์ของไทยไม่เคยมีการเผาบ้านของชาวบ้านเลย ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นจึงเป็นครั้งแรก
3.ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการใช้อำนาจของพนักงาน เจ้าหน้าที่ ตามาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งเนื้อหาในมาตราดังกล่าว หลัก ๆ เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปดำเนินการกรณีพบบุกรุกเพื่อคืนสู่สภาพป่าเหมือนเดิมได้ แต่การใช้อำนาจของเจ้าหน้าต้องปฏิบัติตามหลักปฏิบัติขั้นตอนของระเบียบ
4.ไม่ปฏิบัติตามมติครม.เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนการจัดการทรัพยากร ที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์
ส่วนกรณีที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาอนุญาตให้ชาวบ้านกลับเข้าไปในพื้นที่เดิม ทั้งที่ยอมรับว่า เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุศาลน่าจะรอกระบวนการรัฐเพิกถอนพื้นที่ให้แก่ชาวบ้าน ออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้าน เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันตนเองกลับไปสู่พื้นที่เดิมได้ แต่ยังไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อคำพิพากษายอมรับเป็นชุมชนดั้งเดิม นั่นหมายความว่า มีสิทธิแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องรอเอกสาร เนื่องจากเอกสารเป็นเพียงการรับรองเท่านั้น แต่สิ่งที่มีอยู่แล้วใช้ได้
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยแตกต่างกับศาลปกครองชั้นต้น โดยศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยชัดเจนว่า ชาวบ้านผิดกฎหมาย บุกรุกป่า แต่ศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้วินิจฉัยว่าชาวบ้านบุกรุกป่า เพียงแต่วินิจฉัยว่า ยังไม่มีเอกสาร จึงเห็นว่า ยังเน้นเรื่องเอกสารอยู่ ขณะที่ชาวบ้านไม่มีความผิด
นายสุรพงษ์ กล่าวถึงคำพิพากษาให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ จ่ายค่าเสียหาย ซึ่งให้เฉลี่ย 5 หมื่นบาท/คน เห็นว่า ยังไม่เชื่อในสิทธิตามรัฐธรรมนูญและขัดแย้ง มีการให้สิทธิชุมชน ขณะเดียวกันกลับไม่ให้สิทธิในทรัพย์สิน ตามรัฐธรรมนูญ และไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง หลายเรื่องมีคุณค่ามาก ย่าม เสื้อ ของชาวบ้าน ตีค่าไม่ได้ เช่น เสื้อผ้าของปู่คออี้ ซึ่งแม่ทำให้ ใช้เงิน 1 ล้าน หรือ 100 ล้าน ก็ทำไม่ได้ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ ถูกตีคุณค่าคนอยู่ในป่าว่า ปลูกบ้านด้วยไม้ไผ่ หาง่าย ๆ เมื่อตีความคิดง่าย ๆ ก็ตีคุณค่าคนง่าย ๆ จึงเป็นความกังวลในการมองคนไม่เท่าเทียมกัน
ด้านผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กลายเป็นบรรทัดฐานคุ้มครองคนไทยทุกคนว่า ต่อไปนี้จะไม่มีใครมาเผาหรือทำลายบ้านเราได้ ต่อให้ผิดหรือถูกก็ตาม ส่วนชื่นชมน้อย คือ คำพิพากษาชี้ว่า เป็นชุมชนดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง แต่ที่น่าประหลาด กลับไม่มีสิทธิในพื้นที่นั้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/