หวั่นลาม ส.ส.!พีเน็ตปูดมีผู้สมัคร ส.ว.ห้อยป้ายหาเสียง-คนใช้โทรศัพท์ในสถานที่
พีเน็ต ปูด 2 ปมผู้สมัคร ส.ว. ห้อยป้ายหาเสียงในวันเลือกตั้ง-มีคนใช้โทรศัพท์ในสถานที่ ชี้เข้าข่ายผิดระเบียบชัดแต่ กกต. ไม่ทำอะไร หวั่นลามถึงเลือก ส.ส. เรียกร้องทุกฝ่ายให้เข้ามาตรวจสอบ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2561 มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ออกแถลงการณ์ถึงข้อสังเกตจากการเลือก ส.ว. สู่การเลือกตั้ง ส.ส. สรุปสาระสำคัญว่า ในการเลือก ส.ว. เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา มูลนิธิองค์กรกลางประชาธิปไตย (พีเน็ต) ได้ส่งอาสาสมัครจากหลายจังหวัดเข้าร่วมสังเกตการณ์การลงคะแนนของผู้สมัครที่ผ่านการเลือกในระดับจังหวัดจำนวน 2,746 คน จาก 10 กลุ่ม และพบเหตุการณ์ผิดปกติที่อาจจะเสี่ยงต่อการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภาฯ ใน 2 กรณี และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) การตรวจสอบ ดังนี้
กรณีที่ 1 อาสาสมัครสังเกตการณ์สังเกตเห็นผู้สมัครคนหนึ่งที่สมัครด้วยตนเองในกลุ่มที่ 6 ได้จัดทำป้ายขนาดประมาณ A4 ด้วยการถ่ายขยายสำเนา 4 สี บัตรประจำตัวผู้สมัคร แล้วห้อยแขวนไว้ด้านหลังเสื้อของผู้สมัคร แสดงให้เห็นชื่อนามสกุล หมายเลข และกลุ่มของผู้สมัครอย่างชัดเจน โดยผู้สมัครดังกล่าวเดินไปทั่วบริเวณสถานที่ลงคะแนนตั้งแต่ก่อนเปิดให้เข้ารายงานตัว กระทั่งเข้าแถวรอรายงานตัว และได้เดินทักทายพูดคุยกับผู้สมัครคนอื่น ๆ และสื่อมวลชนหลายคน ส่อเจตนาหาเสียงในวันเลือก ส.ว. ในสถานที่เลือกซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อาจขัดกับระเบียบการแนะนำตัวตามที่ กกต. กำหนด ผู้ประสาบงานอาสาสมัครสังเกตการณ์จึงได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของ กกต. แต่กลับไม่มีการดำเนินการห้ามปรามการกระทำของผู้สมัครดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า เป็นพฤติกรรมที่ยังไม่น่าเข้าข่ายความผิดตามระเบียบกฎหมายอย่างชัดเจน
กรณีที่ 2 เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. มีผู้สมัครหญิงไม่ทราบชื่อ และหมายเลข ลักลอบใช้โทรศัพท์มือถือภายในห้องน้ำในสถานที่เลือก ซึ่งขัดกับกฎหมายที่กำหนดห้ามมิให้ผู้สมัครใดนำเครื่องมือสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดเข้าไปในที่เลือก เพื่อป้องกันการทุจริต การฮั้ว และการล็อบบี้ พฤติกรรมดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง สมควรจะต้องดำเนินการให้มีการตรวจสอบเพื่อนำผู้ฝ่าฝืนกฎหมายมาลงโทษอย่างจริงจัง
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 2 กรณี ประกอบกับการร้องเรียนของผู้สมัครที่ชี้ว่ามีพฤติกรรมหลายอย่างส่อว่าจะมีการทุจริตการเลือก ส.ว. ดังปรากฎเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ พีเน็ตขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ กกต. ควรปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดในการกำกับดูแลให้ผู้สมัคร และทุกคนที่เกี่ยวข้องทำตามกฎระเบียบข้อบังคับอย่างเคร่งครัด และใช้อำนาจตามหน้าที่ในการยับยั้งการกระทำที่สงสัยว่าอาจขัดต่อกฎหมายในทันที นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อเอาผิดกับผู้ฝ่าฝืนอย่างจริงจังจะเป็นแบบอย่างป้องปรามการกระทำผิดที่อาจเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังจะมีขึ้น ดังเคยมีการหาเสียงในคูหาเลือกตั้งมาแล้ว
“พีเน็ตขอให้ กกต. ให้ความสำคัญกับการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในช่วงก่อนและวันเลือกตั้ง เพื่อให้รู้เท่าทันกลไกโกงทุกรูปแบบที่ผู้สมัครหรือบุคคลใดจะนำมาใช้ในการเลือกตั้ง และพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ยับยั้งการกระทำหรือพฤติกรรมที่ส่อว่าอาจเป็นการกระทำทุจริตผิดกฎหมาย ดังนั้นพีเน็ตขอให้ทุกฝ่ายทีเกี่ยวข้องดำเนินการเลือก ส.ว. ซึ่งเป็นกระบวนการเข้าสู่อำนาจที่มีความสำคัญที่พึงดำเนินการตามระเบียบกฎหมายด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อให้ได้ ส.ว. ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ มีความรู้ประสบการณ์ที่หลากลาย มีสัดส่วนของหญิงชาย และมาจากทุกภูมิภาคของประเทศ” แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุ
แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุอีกว่า ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังจะมีขึ้นตามมาภายหลังการเลือก ส.ว. เห็นว่า การเตรียมความพร้อมของ กกต. ทีมีขั้นตอนตามระยะเวลา กฎระเบียบ และข้อกำหนดที่ชัดเจน โดยเฉพาะกับวันเลือกตั้ง ได้มีการประกาศกำหนดในวันที่ 24 ก.พ. 2562 มาก่อนหน้านี้ จะเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อความเชื่อมั่นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมลงสู่สนามแข่งขันที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรม ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งหวังว่าจะเห็นผู้สมัครพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับการรักษากฎกติกาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นการเลือกตั้งทีได้รับการยอมรับทั้งจากภายในประเทศ และต่างประเทศ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/