นำเข้านับร้อยครั้ง! พิธีกรดังร้อง ป.ป.ช. สอบเลขาฯ อย.ปมปล่อยเอกชนขายยากันยุงอันตราย
พิธีกรดังร้อง ป.ป.ช. สอบ เลขาธิการ อย.-พวก อาจเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ปมปล่อยให้เอกชนนำเข้าผลิตภัณฑ์ยากันยุงมีสารอันตราย ปูด อย.รู้เรื่องตั้งแต่ปี’58 แต่เพิ่งมาแบนปี ปล่อยให้นำเข้ามานับร้อยครั้ง แต่ดำเนินคดีกับแค่ครั้งเดียว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2561 นายเกษมสันต์ วีระกุล นักวิชาการอิสระ และพิธีกรชื่อดัง ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กับพวก อาจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีปล่อยให้เอกชนผู้นำเข้ายาจุดกันจุง เรนเจอร์ สเก้าท์ เข้ามาจำหน่ายในประเทศ และ อย.ใช้อำนาจออกคำสั่งเพิกถอนทะเบียนวัตถุอันตรายโดยไม่ชอบ เป็นคำสั่งที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชน และไม่คุ้มครองความปลอดภัยของประชน
นายเกษมสันต์ ระบุว่า ตามที่ปรากฎเป็นข่าวตามสื่อ กรณีผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง เรนเจอร์ สเก้าท์ ทะเบียนเลขที่ 537/2555 ได้แอบใช้สารที่ไม่ตรงกับทะเบียนและใช้สารที่เป็นอันตราย โดยมีการตรวจพบจากคณะกรรมการอาหารและยาในหลายครั้ง ตนได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวตามที่ปรากฏในสื่อเพื่อความปลอดภัยให้กับประชาชนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ จนในที่สุดคณะกรรมการอาหารและยาได้เพิกถอนทะเบียนและใบอนุญาตผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง เรนเจอร์ สเก้าท์ ให้ผู้นำเข้าเรียกเก็บคืนผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง เรนเจอร์ สเก้าท์ รวบรวมส่งคืนไปยังประเทศผู้ผลิต อย่างไรก็ดีพบความไม่ชอบมาพากลในการปฎิบัติหน้าที่ของเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากับพวก อาจละเว้นการปฎิบัติหน้าที่
นายเกษมสันต์ ระบุอีกว่า อย.เก็บตัวอย่างยาจุดกันยุง เรนเจอร์ สเก้าท์ ส่งตรวจวิเคราะห์ตั้งแต่ปี 2558-2561 พบสารmeperfluthrin ที่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้กับทาง อย. และต่อมายังตรวจพบ heptafluthrin ตัวเดียวกันกับที่ตรวจพบในยาจุดกันยุงก็อตซิลล่า (GODZILLA) ที่ทำให้หมาตาย 3 ตัวตามที่เป็นข่าว แต่ อย. มีการดำเนินคดีกับบริษัทฯเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในปี 2558 ต่อจากนั้นไม่มีการดำเนินคดีกับบริษัทฯอีกเลย และยังอาจละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการนำเข้ามานับครั้งไม่ถ้วนทั้ง ๆ ที่รู้ว่า บริษัทฯ แอบใช้สารที่ไม่ตรงกับทะเบียนและใช้สารที่เป็นอันตราย ซึ่งในทางปฏิบัติ อย. ต้องดำเนินคดีการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ เมื่อ อย. ได้ตรวจพบผลิตภัณฑ์นำเข้าไม่ถูกต้องตามกฏหมายหรือพบว่าแอบใช้สารไม่ปลอดภัย การนำเข้าในครั้งต่อไปด่านอาหารและยาต้องกักผลิตภัณฑ์ที่นำเข้า พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ หากผลการตรวจวิเคราะห์ตรงตามที่ขึ้นทะเบียนจึงจะปล่อยให้นำเข้ามาจำหน่ายได้ แต่ อย. กลับปล่อยผลิตภัณฑ์ให้นำเข้ามาจำหน่ายจำนวนมากมาย จากตัวเลขการนำเข้า ณ ด่านศุลกากรเป็นร้อย ๆ ครั้ง ในขณะที่ด่านอาหารและยาให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น (เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ตามรายงานผลการทดสอบ ที่ สธ 0602/2065 วันที่ 7 สิงหาคม 2560) และไม่มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์อีกเลย จึงอาจเป็นการละเว้นหรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ
“นอกจากนี้ อย. ได้อนุมัติให้บริษัทฯขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายใหม่ในชื่อ ยาจุดกันยุง เรนเจอร์ สเก้าท์ที ซึ่งการอนุญาตมีความผิดปกติ และด่านอาหารและยาไม่เคยมีการเก็บตัวอย่างยาจุดกันยุง เรนเจอร์ สเก้าท์ที ส่งตรวจวิเคราะห์ทั้งที่รู้ว่ายาจุดกันยุงจากประเทศจีนมีปัญหา จึงอาจเป็นการละเว้นการปฏิบัติที่โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย” นายเกษมสันต์ ระบุ
พิธีกรชื่อดัง ระบุด้วยว่า ขณะเดียวกัน อย.มีคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ 478/2561 ลงวันที่ 21 กันยายน 2561 ให้เพิกถอนทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง เรนเจอร์ สเก้าท์ ทะเบียนเลขที่ 537/2555 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แต่การที่ อย. ออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 52 เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากบทบัญญัติมาตรา 41 กำหนดว่า “.............ให้นำมาตรา 52 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ตามกฏหมายวัตถุอันตรายเมื่อเหตุแห่งการเพิกถอนทะเบียนวัตถุอันตรายกรณีพบสารที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ไม่ปลอดภัยในการใช้ ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ กฎหมายให้เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งตามมาตรา 52 วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่เท่านั้น นั่นคือในส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้ อย. เพื่อการทำลายโดยให้ผู้นำเข้าเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการทำลาย ส่วนผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในท้องตลาด ให้ผู้มีไว้ในครอบครอง ส่งมอบให้ อย.เพื่อการทำลาย และหากผู้ครอบครองได้รับความเสียหายให้ฟ้องเรียกค่าเสียหายกับผู้นำเข้า แต่ในคำสั่งเพิกถอนใช้อำนาจตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง โดยให้ผู้นำเข้าส่งผลิตภัณฑ์ที่ฝ่าฝืนกฏหมายและเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ กลับคืนผู้ผลิตต่างประเทศภายใน 6 เดือน จึงเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย และยังสั่งให้ผู้ขาย (ร้านค้า) และผู้ครอบครองขายคืนร้านค้าที่ซื้อมาหรือขายคืนผู้นำเข้าเพื่อให้ผู้นำเข้าส่งคืนผู้ผลิตต่างประเทศต่อไป ซึ่งในทางปฏิบัติมิได้มีการควบคุม ดูแลให้มีการขายคืน ปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยยังคงมีขายในท้องตลาด และในกรณีนี้ อย.ออกคำสั่งโดยไม่มีกฏหมายรองรับให้ทำได้ จึงเป็นคำสั่งที่เอื้อประโยชน์กับบริษัทฯ โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน
“ปัจจุบันบริษัทฯ ยังมีการโฆษณาว่ายาจุดกันยุง เรนเจอร์ สเก้าท์ ปลอดภัยให้ร้านค้าขายได้ และมีโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ โดย อย.ไม่มีมาตราการในการดำเนินการใดๆ ทำให้ผู้ขาย ผู้บริโภคสับสน เข้าใจว่าสินค้าดังกล่าวขายได้ ปลอดภัยในการใช้ อย.ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ผมจึงใคร่ขอให้ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำการสอบสวนเลขาธิการ อย. กับพวก อาจละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีดังกล่าว” นายเกษมสันต์ ระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ : อย.เพิกถอนทะเบียนยาจุดกันยุง 2 ยี่ห้อดัง พบสารอันตราย-ไม่ผ่านประเมินความปลอดภัย