- Home
- Isranews
- ข่าว
- บ.สหไทยน้ำมันพืช ร้องผู้ตรวจการฯโดนยึดที่ปลูกปาล์ม6พันไร่ ไม่เป็นธรรม - ส.ป.ก.ยันทำตามกม.
บ.สหไทยน้ำมันพืช ร้องผู้ตรวจการฯโดนยึดที่ปลูกปาล์ม6พันไร่ ไม่เป็นธรรม - ส.ป.ก.ยันทำตามกม.
บ.สหไทยน้ำมันพืช ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน สปก. ลุอำนาจ สนธิกำลังทหาร เข้ายึดคืนที่ดิน 6 พันไร่ แจกชาวบ้าน ไม่เป็นธรรม แถมปล่อยขโมยผลผลิตปาล์ม ยันถือครองถูกต้อง ได้รับข้อยกเว้นตามเงื่อนไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้านหน่วยงานรัฐ โต้ ทำตามกม.รักษาผลประโยชน์ราชการ แจ้งเตือนหลายครั้งจงใจไม่ปฏิบัติตาม
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทนจากบริษัท สหไทยน้ำมันพืช จำกัด ได้เข้าร้องเรียนข้อความเป็นธรรมต่อสำนักข่าวอิศรา กรณีถูกสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยอ้างคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 36/2559 เรื่อง มาตรการการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เข้ายึดพื้นจำนวน 6,083 ไร่ ของบริษัทซึ่งใช้เป็นที่ปลูกปาล์มใน จ.ชุมพร และยังปล่อยให้ชาวบ้านเข้ามาขโมยผลผลิตปาล์มที่บริษัทได้ปลูกเอาไว้จนทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งที่ บริษัทได้ถือครองที่ดินดังกล่าวถูกต้องตามข้อยกเว้นในเงื่อนไขของคำสั่ง คสช.ดังกล่าวแล้ว
โดยเบื้องต้น เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา บริษัทได้มอบอำนาจให้ตัวแทน เข้าร้องเรียนต่อสํานักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ป.ก. และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องจำนวน 4 ราย ระบุว่า บริษัทเป็นเจ้าของครอบครองที่ดินของกรมป่าไม้ โดยการเช่าที่ดิน ตามหนังสือ อนุญาตให้เข้าทําประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่ารับร่อ-สลุย ในท้องที่ ตําบลสลุย (ปัจจุบันคือตําบลหงษ์เจริญ) อําเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เพื่อประโยชน์ปลูกสร้างสวนปาล์มน้ํามันเป็นการชั่วคราวภายในเนื้อที่ 21,562.50 ไร่ จนถึงวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ลงนามโดยอธิบดีกรมป่าไม้
ทั้งนี้ บริษัทฯ ระบุสาเหตุที่ได้เช่าที่ดินของกรมป่าไม้เพื่อทําประโยชน์หรืออยู่อาศัยโดยการปลูกสร้างวนปาล์มน้ำมัน เป็นเพราะทางราชการในขณะนั้นมีความประสงค์ให้ภาคเอกชนปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อประโยชน์เศรษฐกิจของประเทศ โดยบริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุน จากหน่วยงานของทางราชการซึ่งมีหน้าที่ เสริมการลงทุน คือ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
ต่อมาเมื่อหนังสืออนุญาตให้เข้าทําประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฉบับลง วันที่ 6 มิ.ย. พ.ศ. 2522 ครบกําหนดในวันที่ 5 มิ.ย. พ.ศ. 2552 บริษัทได้ขอต่อสัญญาเช่า เป็นรายปี ตลอดมาจนถึงปี พ.ศ. 2559 ทั้งนี้เนื่องจากได้มีการประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ 16 กําหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการแผ้วถางป่า บริษัทจึงได้ดําเนินกิจการสวนปาล์มน้ํามันต่อไป และเมื่อใบอนุญาตแผ้วถางป่าสิ้นสุดในวันที่ 10 ต.ค. พ.ศ. 2559 บริษัทได้ยื่นคําขออนุญาตเข้าทําประโยชน์ในเขตป่าตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 โดย อาศัยอํานาจตาม กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทําประโยชน์ในเขตป่า พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 10 ส.ค. พ.ศ. 2558
อย่างไรก็ดี ก่อนที่หนังสืออนุญาตแผ้วถางป่าของผู้ร้องกับกรมป่าไม้จะสิ้นสุดลง ในวันที่ 10 ต.ค. พ.ศ. 2559 ปรากฏว่า ได้มีหนังสือจาก ส.ป.ก. ถึง อธิบดีกรมป่าไม้ เรื่อง การตรวจสอบการ ครอบครองที่ดินของบริษัท สหไทยน้ำมันพืช จํากัด เนื้อที่ประมาณ 6,400 ไร่ โดยมีสาระสําคัญซึ่ง ระบุไว้ในตอนท้ายของหนังสือดังกล่าวว่าให้กรมป่าไม้ระงับการต่ออายุอนุญาตสัมปทานให้บริษัทสหไทย น้ำมันพืช จำกัด เข้าทำประโยชน์ เพื่อนําที่ดินดังกล่าวมาจัดให้กับเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทํากินต่อไป โดยมีการอ้างคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติที่ 36/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อ เกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ในคำสั่งคสช.ดังกล่าว ไม่มีข้อใดเกี่ยวข้องกับที่ดินของผู้ร้องแต่ประการใด จึงไม่มีเหตุที่จะนําไปสู่การตรวจยึดที่ดินที่พิพาทแต่อย่างใด ดังนั้น จึงถือว่าบริษัทได้ครอบครองที่ดินพิพาทจํานวน 6,083-0-67 ไร่ โดยชอบด้วยกฎหมายตลอดมา (อ่านประกอบ:คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559) จากนั้นหน่วยงานรัฐก็มีการนำเรื่องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่อยมา แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
จนกระทั่งในช่วงเดือนมิ.ย.2561 ที่ผ่านมา ได้มีหนังสือของ ส.ป.ก. ส่งไปที่สํานักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชุมพร ระบุข้อความว่า ขอเชิญสื่อมวลชนร่วมทําข่าวประชาสัมพันธ์ในการที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดชุมพรที่จะนํากําลังเข้ายึดคืนพื้นที่ในวันอังคารที่ 19 มิ.ย. พ.ศ. 2561 เวลา 09.30 น โดยสนธิ กําลังตํารวจทหารและอาสาสมัครเข้าทําการยึดสํานักงานบริษัท ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินพิพาทดังกล่าว รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆของผู้ร้อง ต้นปาล์มมีอยู่ ประมาณ 130,000 ต้น และพืชผลอื่นๆ ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีการใช้รถแบ็คโฮตัดถนนเป็นร่องขนาดใหญ่เพื่อมิให้มีการสัญจรในพื้นที่พิพาท อีกทั้งยังปล่อยให้มีการลักขโมยผลปาล์มซึ่งเป็นของบริษัทไปเป็นจํานวนมาก บริษัทจึงได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้ความเป็นธรรมกับบริษัทที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานรัฐดังกล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวจากส.ป.ก. ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า การยึดที่ดินปลูกปาล์มของบริษัท สหไทยน้ำมันพืช จำกัด เป็นการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 36/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา ส.ป.ก. ได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ ออกจากพื้นที่ดังกล่าว พร้อมทั้งดำเนินการรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินมาหลายครั้งแล้ว เป็นบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตาม ชี้ให้เห็นว่า บริษัทฯ มีพฤติการณ์ไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่ง จงใจ ฝ่าฝืนและยังได้ปักป้ายแสดงสิทธิในที่ดินโดยอ้างว่าได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ ทั้งที่ ได้มีการวินิจฉัยเรื่องอำนาจในที่ดินเป็นที่ยุติแล้ว ดังนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ และเพื่อให้ภารกิจการนำพื้นที่เป้าหมายไปดำเนินการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรตามนโยบายรัฐบาลเป็นไปตามแผนปฏิบัติการ จึงต้องดำเนินการรื้อถอนทรัพย์สินของบริษัทออกจากพื้นที่ ส่วนบริษัทฯ จะโต้แย้งอำนาจการดำเนินการของราชการอย่างใด ก็เป็นสิทธิของบริษัท แต่ยืนยันว่า ส.ป.ก. ดำเนินการเรื่องนี้ตามขั้นตอนทางกฎหมาย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/