- Home
- Isranews
- ข่าว
- กสทช.สั่งเรียกเงินเยียวยาพร้อมดิจิตอลโฟน4.2 พันล.-ทรู ไม่เห็นด้วยโวยตัวเลขสูงเกินจริง
กสทช.สั่งเรียกเงินเยียวยาพร้อมดิจิตอลโฟน4.2 พันล.-ทรู ไม่เห็นด้วยโวยตัวเลขสูงเกินจริง
กสทช. แพร่มติเรียกเงินรายได้เยียวยาผู้ใช้บริการทรูมูฟ- ดิจิตอลโฟน 4,251.46 ล้าน นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน พร้อมนัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปกรณีดีแทคขอใช้สิทธิเยียวยาคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz วันที่ 12 ก.ย. 61 นี้ -ด้านกลุ่มทรู แจ้งตลท.ไม่เห็นด้วย โวยตัวเลขสูงเกินจริง พร้อมเดินหน้าทางกม.ต่อไป
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2561 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เผยแพร่ผลการประชุม กสทช. มีมติเรียกเงินรายได้ช่วงระยะเวลาเยียวยาผู้ใช้บริการจากทรูมูฟ 3,381.95 ล้านบาท และจากดิจิตอลโฟน 869.51 ล้านบาท รวมสองบริษัทเป็นเงิน 4,251.46 ล้านบาท เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน พร้อมนัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปเรื่องดีแทคขอใช้สิทธิเยียวยาคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ในวันพุธที่ 12 ก.ย. 61
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (5 ก.ย. 2561) ที่ประชุม กสทช. พิจารณาผลการพิจารณาตรวจสอบรายได้แผ่นดินนำส่งคลังในช่วงระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ กรณีคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยที่ประชุม กสทช. มีมติ ดังนี้
1. รับทราบผลการพิจารณาของคณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาความคุ้มครองผู้ใช้บริการ และสำนักงาน กสทช. ต่อรายงานผลการพิจารณาเกณฑ์การตรวจสอบรายได้แผ่นดินนำส่งคลังของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
2. เห็นชอบเกณฑ์และผลการพิจารณาตรวจสอบรายได้แผ่นดินนำส่งคลังในช่วงระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการกรณีคลื่นความถี่ 1800 MHz ตามที่คณะทำงานตรวจสอบฯ และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงาน กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคมเสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.1 กรณีบริษัท ทรู มูฟ จำกัด
(1) เห็นชอบให้บริษัท ทรู มูฟ จำกัด นำส่งเงินรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 จนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ (16 ก.ย. 2556 ถึงวันที่ 3 ธ.ค. 2558) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,381,958,336.14 บาท
(2) โดยที่ กทค. ได้เคยมีคำสั่งตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 17/2558 ให้บริษัทฯ นำส่งรายได้ช่วงที่ 1 (16 ก.ย. 2556-17 ก.ค. 2557) ไปแล้ว เป็นจำนวน 1,069,983,638.11 บาท ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้บริษัทฯ จะต้องนำส่งเงินรายได้เพิ่มเติมเป็นจำนวน 2,311,974,698.03 บาท พร้อมนำส่งดอกผลและดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้น มายังสำนักงาน กสทช. เพื่อที่สำนักงาน กสทช. จะได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
2.2 กรณีบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด
(1) เห็นชอบให้บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด นำส่งเงินรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 จนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ (16 ก.ย. 2556 ถึงวันที่ 25 พ.ย. 2558) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 869,512,486.51 บาท
(2) ) โดยที่ กทค. ได้เคยมีคำสั่งตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 17/2558 ให้บริษัทฯ นำส่งรายได้ช่วงที่ 1 (16 ก.ย. 2556-17 ก.ค. 2557) ไปแล้ว เป็นจำนวน 627,636,136.84 บาท ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้บริษัทฯ จะต้องนำส่งเงินรายได้เพิ่มเติมเป็นจำนวน 241,876,349.67 บาท พร้อมนำส่งดอกผลและดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้น มายังสำนักงาน กสทช. เพื่อที่สำนักงาน กสทช. จะได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
2.3 กรณีบริษัท กสท โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน)
(1) เห็นชอบค่าใช้จ่ายของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่เกิดจากการใช้โครงข่ายในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศมาตรการคุ้มครองฯ พ.ศ. 2556 จนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz เป็นจำนวนเงิน 2,300,772.59 บาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด (ตั้งแต่ 16 ก.ย. 2556 ถึงวันที่ 3 ธ.ค. 2558) เป็นจำนวนเงิน 1,875,043.24 บาท และค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด (ตั้งแต่ 16 ก.ย. 2556 ถึงวันที่ 25 พ.ย. 2558 เป็นเงินจำนวน 425,729.35 บาท)
(2) โดยที่ กทค. ได้เคยมีมติในการประชุมครั้งที่ 17/2558 และมติในการประชุมครั้งที่ 23/2558 เห็นชอบค่าใช้จ่ายของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ช่วงที่ 1 (16 ก.ย. 2556-17 ก.ค. 2557) ไปแล้ว เป็นจำนวน 788,960.13 บาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด เป็นเงินจำนวน 594,352.99บาท และค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด เป็นเงินจำนวน 194,634.14 บาท ดังนั้น จึงเห็นชอบค่าใช้จ่ายของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพิ่มเติมเป็นจำนวน 1,511,812.46 บาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด เป็นเงินจำนวน 1,280,717.25 บาท และค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด เป็นเงินจำนวน 231,095.21 บาท
อนึ่ง หากมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าผู้ให้บริการยังคงมีเงินรายได้ที่ต้องนำส่งตามประกาศมาตรการคุ้มครองฯ พ.ศ. 2556 เพิ่มเติมอีก กสทช. จะพิจารณาเรียกเก็บเพิ่มเติมต่อไป
3. เห็นควรมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำส่งเกณฑ์และผลการพิจารณาตรวจสอบรายได้แผ่นดินนำส่งคลังในช่วงระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ กรณีคลื่นความถี่ 1800 MHz ดังกล่าวให้ สตง. ทราบด้วย
นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ยังได้พิจารณากรณีบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ขอทบทวนมติที่ประชุม กสทช. เรื่อง แผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการ สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ในย่าน 850 MHz โดยขอให้ผู้ใช้บริการได้รับความคุ้มครองตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกัน บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ส่งเอกสารถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งความคืบหน้าที่สำคัญถึงกรณีที่ประชุมกสทช.ได้มีมติเรียกให้ทรูมูฟนำส่งเงินรายได้ช่วงระยะเวลาเยียวยาผู้ใช้บริการ และกรณีข้อพิพาทกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) โดยระบุว่า บริษัทไม่เห็นด้วยกับมติของที่ประชุมกสทช. วันนี้ (5 ก.ย. 2561) ที่ให้ทรูมูฟนำส่งเงินรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800MHz ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศ กสทช. จำนวน 3,381.95 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง นอกจากนี้ สำหรับกรณีข้อพิพาทกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในเรื่องการเรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) ซึ่งบริษัทฯ ได้รับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวานนี้ (4 ก.ย. 2561) ให้บริษัทฯ ต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนั้น บริษัทฯ ขอเรียนให้ทราบว่า คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด และบริษัทจะดำเนินการอุทธรณ์ตามขั้นตอนทางกฎหมาย เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวต่อไป