- Home
- Isranews
- ข่าว
- เภสัช มหิดล ค้านร่างพ.ร.บ.ยา ชี้ยิ่งแก้ยิ่งแย่ผิดหลักสากล-เจรจาสธ. กลุ่มวิชาชีพตกลงกันได้
เภสัช มหิดล ค้านร่างพ.ร.บ.ยา ชี้ยิ่งแก้ยิ่งแย่ผิดหลักสากล-เจรจาสธ. กลุ่มวิชาชีพตกลงกันได้
เภสัช มหิดล ค้าน (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย. ชี้ปล่อยคลอดออกมาใช้โดยไม่แก้ไข จะก่อให้เกิดผลเสียอย่างรุนแรงต่อระบบยา ทำให้ความเสี่ยงของผู้บริโภคสูงขึ้น ขณะที่ผลการประชุมร่วม 3 ฝ่าย สรุปปมให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาผู้ป่วยเฉพาะรายได้ในมาตรา 22 นั้น ให้กลับไปใช้นิยามตาม พ.ร.บ. ยา พ.ศ.2510
วันที่ 4 กันยายน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับชมรมศิษย์เก่าเภสัชมหิดล และสโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาหัวข้อ ผ่า (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย. ทันสมัยและคุ้มครองประชาชนจริงหรือ ? ผ่านมุมมองนักวิชาการในฐานะผู้ผลิตเภสัชกรในประเทศไทย ณ ห้องประชุม 302 อาคารเทพรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายในงานมีการแสดงจุดยืนของวิชาชีพเภสัชกรรมคัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย. เช่นเดียวกับคณะเภสัชศาสตร์สถาบันอื่นๆ และเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมทั่วประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย. มีข้อบกพร่องร้ายแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อความไม่ปลอดภัยในการใช้ยาหลายประการ และยังขัดกับหลักสากล แม้ก่อนหน้านี้จะมีการแสดงความเห็นจากหลายภาคส่วนให้ปรับปรุงแก้ไขจุดสำคัญที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับประชาชน แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขในประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วง
“ยาทุกชนิดมีอันตรายหากใช้ไม่เหมาะสม ทุกวันนี้ประเทศไทยประสบปัญหาอย่างหนักด้านการใช้ยาไม่เหมาะสม ปัญหาเชื้อดื้อยา การใช้ยาฟุ่มเฟือย และการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด”
รศ.ดร.ภญ.สุวัฒนา กล่าวอีกว่า จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขปี 2560 พบการขายยาที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านในชุมชนสูงถึงร้อยละ 67 ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย รวมถึงมีการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคที่ไม่จำเป็นสูงมาก เหล่านี้แสดงถึงความจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านยาและส่งเสริมการใช้ยาอย่างเหมาะสม ลดปัญหาการดื้อยา ลดค่าใช้จ่ายด้านยาซึ่งพบว่ามีสัดส่วนมากเป็นครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศ
“ยุคสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าทำให้มีการจำหน่ายยาในรูปแบบใหม่ๆ เช่น E-commerce, Tele-Pharmacy ซึ่ง(ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย.ไม่ได้มีเนื้อหาที่ชัดเจนในการควบคุมและแก้ปัญหาดังกล่าว ฉะนั้นทางออกอย.ต้องระงับการเสนอ(ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้แล้วนำมาทบทวนใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมาประชุมหารือในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา โดยยึดหลักความปลอดภัยของผู้ป่วย และคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสำคัญ”
จากนั้น คณบดี ประธานชมรมศิษย์เก่า และนายกสโมสรนักศึกษา เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมอ่านแถลงการณ์ คัดค้าน (ร่าง) พระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับ กรกฎาคม 2561)
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะองค์กรหนึ่งในวิชาชีพเภสัชกรรม ซึ่งมีพันธกิจหลักในการผลิตบัณฑิตทางเภสัชศาสตร์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากล และเป็นศูนย์กลางให้บริการทางวิชาการด้านเภสัชศาสตร์แก่สังคม ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นสถาบันการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ที่มีมาตรฐานระดับสากล สู่การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน” ร่วมกับชมรมศิษย์เก่าเภสัชมหิดล และสโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางเภสัชกรรม การให้ความรู้ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาต่อประชาชน อันมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ ทุกภาคส่วนจึงตระหนักถึงความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพเภสัชกรรมอย่างมีมาตรฐาน ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุดตามที่ประชาชนได้ให้ความไว้วางใจ และเป็นไปตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมที่จะประกอบวิชาชีพด้วยเจตนาดี และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยหรือผู้บริโภค
เนื่องจาก (ร่าง) พระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับ กรกฎาคม 2561) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยานำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนี้มีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาแก้ไขปรับปรุงหลายประการ อาทิ ความไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพในระยะ 5-10 ปี ที่จะมีdigital health เกิดขึ้น การแบ่งประเภทของยาที่ไม่เป็นไปตามสากล อีกทั้งความไม่ชัดเจนในการส่งเสริมให้มีการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นอิสระต่อกัน แต่สามารถสอบทานกันได้ตามความเชี่ยวชาญของแต่ละวิชาชีพ โดยทำงานร่วมกันในลักษณะสหสาขาวิชาชีพ เหล่านี้จึงมีผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ทั้งในด้านการเข้าถึงยา และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา อันเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ประชาชนมีสุขภาพกาย สุขภาพจิต และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถสร้างผลิตภาพให้แก่ประเทศในระยะยาวในฐานะที่เป็นทุนมนุษย์ของประเทศ
ดังนั้น หากพระราชบัญญัติยาฉบับนี้มีผลบังคับใช้โดยไม่แก้ไข จะก่อให้เกิดผลเสียอย่างรุนแรงต่อระบบยา ทำให้ความเสี่ยงของผู้บริโภคสูงขึ้น เกิดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากขึ้น และส่งผลเสียสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชมรมศิษย์เก่าเภสัชมหิดล และสโมสรนักศึกษา เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ถอน (ร่าง) พระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับ กรกฎาคม 2561) จากการเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนำมาปรับปรุงใหม่ให้มีความเป็นสากล และเอื้อต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งสามารถตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันได้มากขึ้น เพื่อให้เป็น (ร่าง) พระราชบัญญัติยา ที่มีความเป็นสากล ทันสมัย และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นัดชี้แจงกลุ่มคัดค้านร่างกฎหมายยาฉบับใหม่
ขณะที่ผลการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข อย. เเละเครือข่ายเภสัชกรวันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบใน 3 ประเด็น คือ 1.กำหนดให้ยาเเบ่งเป็น 3 ประเภท ได้เเก่ ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่จ่ายโดยเภสัชกร และยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขรับเรื่องไปหารือร่วมกันต่อ 2.นิยามยาสามัญประจำบ้าน ใช้นิยามตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 เเละ 3.ปัญหาเกี่ยวกับให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายได้ในมาตรา 22 นั้น ให้กลับไปใช้นิยามตาม พ.ร.บ. ยา พ.ศ.2510 ทั้งหมด
ที่มาภาพ:เพจคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล