- Home
- Isranews
- ข่าว
- มีหน้าที่เล่นงานวินัย-ไม่ต้องสอบซ้ำ!กฤษฎีกาชี้คดีทุจริตตกแต่งตึกสนง.ข่าวกรองแห่งชาติ
มีหน้าที่เล่นงานวินัย-ไม่ต้องสอบซ้ำ!กฤษฎีกาชี้คดีทุจริตตกแต่งตึกสนง.ข่าวกรองแห่งชาติ
‘กฤษฎีกา' ตอบข้อหารือ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ คดีปรับปรุงตกแต่งอาคารสนง.ปี 54 หลังถูกสตง.สอบพบขรก.-จนท.พฤติการณ์เข้าข่ายทุจริตชัด ชี้ไม่ต้องตั้งกก.สอบข้อเท็จจริงซ้ำ ดำเนินการทางวินัยได้ทันที เตือนไม่ดำเนินการระวังป.ป.ช.เล่นงาน เข้าข่ายละเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ช่วยเหลือผู้กระทําความผิด
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อหารือสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กรณีการดำเนินการตามกฎหมาย ภายหลังได้รับแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการดำเนินการทางวินัยและทางอาญาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ที่ปรากฏพฤติการณ์น่าเชื่อว่ากระทำการทุจริตในโครงการจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ตามรายงานผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยยืนยันว่า เมื่อปรากฏผลการตรวจสอบถึงพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการทุจริต ระบุชัดเจนถึงตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทําผิด พร้องทั้งพยานหลักฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับการกระทำความผิด สํานักข่าวกรองแห่งชาติ มีหน้าที่ต้องดําเนินการทางวินัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงอีก แต่หากไม่ดำเนินการอาจเข้าข่ายละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นความผิดทางอาญาหรือเป็นการช่วยเหลือผู้กระทําความผิดอันอาจเป็นความผิดทางวินัย ซึ่ง สตง.อาจแจ้งให้สํานักงาน ป.ป.ช. ดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจกับสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติได้
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในการหารือข้อกฎหมายเรื่องนี้ สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ได้หารือ 2 ประเด็นหลัก คือ 1. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ จำเป็นต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ ภายหลังจากได้แจ้งผลการตรวจสอบจากสตง. เนื่องจากตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 กำหนดให้เมื่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตรวจสอบพบว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตหรือใช้อำนาจโดยมิชอบให้ คณะกรรมการฯ แจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ สตง.ในการร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ได้กำหนดให้หน่วยรับตรวจจะต้องไปดำเนินการร้องทุกกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนอีก 2. การที่ สตง. ส่งหนังสือแจ้งรายการผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเห็นควรให้ดำเนินการทางวินัยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ นั้น สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สามารถเลือกที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงก่อนที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้หรือไม่
เบื้องต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทน สตง. และผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช.เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย ก่อนจะมีความเห็นทางกฎหมายว่า ข้อหารือทางกฎหมายประเด็นที่ 1 ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงิน แผ่นดิน พ.ศ.2542 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินพ.ศ. 2561 ไม่ได้กําหนดให้หน่วยรับตรวจที่ได้รับแจ้งผลการตรวจสอบของ สตง. ต้องดําเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเดิมมีเพียงมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ที่กําหนดให้ คตง. แจ้งต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินคดี ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่ามีพฤติการณ์ น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตหรือมีการใช้อํานาจหน้าที่โดยมิชอบเท่านั้นแต่เมื่อปัจจุบัน มาตรา 72 และมาตรา 95 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 กําหนดว่าในกรณีที่ สตง.ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นกรณีทุจริตให้ผู้ว่าฯ สตง.ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป ขณะที่ผู้แทน สตง. ชี้แจงว่ากรณีนี้ ได้แจ้งผลการตรวจสอบไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว จึงเป็นการดําเนินการที่ครบถ้วนตามขั้นตอนที่บทบัญญัติดังกล่าวกําหนดแล้วเมื่อเรื่องอยู่ระหว่างการดําเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่และอํานาจในการไต่สวนและพิจารณาส่งเรื่องให้อัยการดําเนินคดีอาญาจึงไม่มีเหตุให้สํานักข่าวกรองแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยรับตรวจต้องร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินคดีอาญาอีก
ส่วนข้อหารือในประเด็นที่สองการ เลือกที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงก่อนที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้หรือไม่นั้นพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 ไม่มีบทบัญญัติใดกําหนดให้หน่วยรับตรวจต้องดําเนินการทางวินัยโดยผูกพันข้อเท็จจริงตามผลการตรวจสอบของ สตง. การดําเนินการทางวินัยของสํานักข่าวกรองแห่งชาติในกรณีดังกล่าวจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในกรณีนี้ได้แก่ มาตรา 91 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ที่กําหนดว่า ในกรณีที่เห็นว่ามีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทําผิดวินัยโดยมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้วให้ดําเนินการทางวินัยตามมาตรา 92 และมาตรา 93 ต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้ในทุกกรณีต้องสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่าเป็นกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง หากเป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้ว ก็ยอมดําเนินการทางวินัยต่อไปได้ทันที ประกอบกับข้อ 6 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเร่งรัดติดตามเกี่ยวกับกรณีเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต พ.ศ.2546 กําหนดว่า กรณีที่สตง.พบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตและได้ชี้มูลความผิดแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐดําเนินการทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัยแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงอีก
ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าผลการตรวจสอบของสตง.ได้ระบุถึงพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการทุจริต และได้ระบุชัดเจนถึงตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทําผิดว่าได้แก่ผู้ใด พร้อมทั้งพยานหลักฐานในเบื้องต้นเกี่ยวกับการกระทําผิดแล้ว สํานักข่าวกรองแห่งชาติก็ย่อมมีหน้าที่ต้องดําเนินการทางวินัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบ ดังกล่าว โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงอีก
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ปรากฏว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามผลการตรวจสอบของ สตง.ดังกล่าวแล้ว แต่สํานักข่าวกรองแห่งชาติละเลยข้อเท็จจริงนั้นและไม่ดําเนินการทางวินัยตามกฎหมายและระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง ก็อาจเข้าข่ายละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นความผิดทางอาญาหรือเป็นการช่วยเหลือผู้กระทําความผิดอันอาจเป็นความผิดทางวินัย ซึ่งสตง. อาจแจ้งให้ สํานักงาน ป.ป.ช. ดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป
สำหรับกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ถูกสตง.ชี้ว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการทุจริตในการดำเนินงานโครงการจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ประกอบไปด้วย กลุ่มคณะกรรมการกำหนดทีโออาร์ จำนวน 6 ราย กลุ่มคณะกรรมการประกวดราคาจ้าง 6 ราย และข้าราชการอื่นอีก 2 ราย