- Home
- Isranews
- ข่าว
- อ้างมาตรา 36 กม.ป.ป.ช. ‘ดร.เจษฎ์’ หวั่นเป็นช่องโหว่ปกปิดทุกเรื่อง-ย้ำห้ามใช้เพื่อคุ้มครองใครบางคน
อ้างมาตรา 36 กม.ป.ป.ช. ‘ดร.เจษฎ์’ หวั่นเป็นช่องโหว่ปกปิดทุกเรื่อง-ย้ำห้ามใช้เพื่อคุ้มครองใครบางคน
'ดร.เจษฎ์' เชื่อ มาตรา 36 กม.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ เสี่ยงเป็นช่องโหว่อ้างปกปิดทุกเรื่อง หลัง 'อิศรา' พบข้อมูลบัญชีไต่สวนทุจริตถูกถอดจากเว็บไซต์ ย้ำต้องทำตามกรอบกฎหมาย ไม่ใช้เพื่อคุ้มครองใครบางคน
สืบเนื่องจากข้อมูลด้านการปราบปรามคดีทุจริต ในเว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในส่วนของเรื่องกล่าวหาร้องเรียนที่อยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง, เรื่องที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด, เรื่องที่ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป , ผลงานด้านปราบปราม ไม่สามารถเข้าไปดูได้เหมือนที่ผ่านมา โดยอ้างอิงอำนาจตามมาตรา 36 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
(อ่านประกอบ:อ้างอำนาจม.36กม.ใหม่! ป.ป.ช. รีบถอดข้อมูลบัญชีคดีไต่สวนทุจริตเกลี้ยงเว็บ)
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่าความจริงเเล้วกรอบเเนวทางการปกปิดเปิดเผยข้อมูลมีอยู่ โดยจะปกปิดในกรณีที่พิจารณาแล้วว่า อาจส่งผลกระทบในทางลบหรือก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งจำเป็นต้องยึดแนวทางดังกล่าวไว้ เช่น พยาน ผู้มีส่วนชี้เบาะแส หรือผู้รู้เห็น และจะเปิดเผยในส่วนที่จำเป็นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว เมื่อทราบผู้กระทำความผิด กรณีนี้ไม่มีหลักว่าต้องปกปิดใด ๆ
“สมมติมีผู้มาร้อง แต่ยังไม่แน่ใจว่ามีใครเป็นผู้กระทำผิด กรณีนี้อาจยังไม่สามารถนำข้อมูลขึ้นเว็บไซต์หรือเผยแพร่ให้ทราบได้” กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ กล่าว และว่า ยกเว้นเข้าสู่ขั้นตอนการไต่สวนเสร็จแล้ว อาจต้องเปิดเผยออกไป เพราะเมื่อ ป.ป.ช.รับคดี จะโยงกับคำว่า หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งใครจะรู้แล้วว่า คนนั้นเป็นใคร
ส่วนจะเป็นช่องโหว่ให้ ป.ป.ช. อ้างมาตรา 36 ปกปิดทุกเรื่อง รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า เป็นช่องโหว่แน่นอน เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้ดุลยพินิจต้องการปกปิดเพื่อป้องกันความเสียหายหรือผลกระทบในทางลบที่ไม่จำเป็นกับบุคคล ทั้งนี้ ต้องไม่อ้างมาตรา 36 เพื่อใช้ปกป้องคุ้มครองใครบางคน หรือเลือกปกปิดให้หมด เพื่อจะได้ทำงานง่ายขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มาตรา 36 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พนักงานเจ้าหน้าที่ และบุคคลซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใด จะเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีลักษณะเป็นข้อมูลเฉพาะของบุคคล บรรดาที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่มิได้
การเปิดเผยข้อมูลการดําเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในแต่ละขั้นตอน ห้ามเปิดเผยข้อมูล ที่เป็นรายละเอียดของผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส และผู้ซึ่งเป็นพยาน หรือกระทําการใดอันจะทําให้ ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว การเปิดเผยข้อมูลอื่นใดเพื่อให้สาธารณชนได้ทราบ ให้อยู่ภายใต้ เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) ในชั้นก่อนการไต่สวน ห้ามเปิดเผยชื่อผู้ถูกร้อง เว้นแต่มีเหตุอันจําเป็นเพื่อประโยชน์ ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว
(2) เมื่อได้ดําเนินการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้นแล้วมีพยานหลักฐานพอสมควรก่อนที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาวินิจฉัย การเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไข ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด
(3) เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นหรือวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์การกระทํา ความผิด ให้เปิดเผยความเห็นหรือคําวินิจฉัยได้ เว้นแต่จะเปิดเผยชื่อผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแสและ ผู้ซึ่งเป็นพยานมิได้ และต้องไม่กระทบต่อรูปคดีหรือความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ห้ามมิให้มีการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลรายงานและสํานวนการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวน หรือการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือ ไต่สวนเบื้องต้นที่อยู่ระหว่างการดําเนินการจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาและมีมติ ในเรื่องดังกล่าวแล้ว เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นความลับของทางราชการ
อ่านประกอบ:พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561