- Home
- Isranews
- ข่าว
- ผลวิจัย ป.ป.ช.ชี้ สพฐ.เสี่ยงทุจริตมากสุด ได้งบเกินครึ่งก.ศึกษาฯ3แสนล.-คดีร้องเรียนอันดับ1
ผลวิจัย ป.ป.ช.ชี้ สพฐ.เสี่ยงทุจริตมากสุด ได้งบเกินครึ่งก.ศึกษาฯ3แสนล.-คดีร้องเรียนอันดับ1
นยปส. ป.ป.ช. รุ่นที่ 9 จัดสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ “กะเทาะเปลือกกลโกงการศึกษาไทย” 20 ก.ค.นี้ แง้มข้อมูลผลวิจัย 'ยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย' ชี้ สพฐ. น่าเป็นห่วงที่สุด เหตุได้งบมากกว่าครึ่งของก.ศึกษาฯ 303,759 ล้าน บุคลากรกระจายอยู่ทั่วปท.ไม่น้อยกว่า 484,479 คน มีความเสี่ยงสูง หากระบบการตรวจสอบควบคุมภายในไม่ได้ประสิทธิภาพ เผยปรากฏชื่อครองแชมป์หน่วยงานที่มียอดคดีร้องเรียนอับดับหนึ่ง ช่วงปี 58-61
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในวันที่ 20 ก.ค. 2561 สำนักงานคณะการมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะจัดสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “กะเทาะเปลือกกลโกง การศึกษาไทย” ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้การฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 9 ที่ผู้เข้าอบรมมีความสนใจศึกษาและจัดทำเอกสารวิชาการรุ่นเรื่อง “ยุทธศาสตร์ การป้องกันการทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย” เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการทุจริตในแวดวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นช่วงวัยของการเรียนรู้และจดจำค่านิยมต่างๆ จากสภาพแวดล้อมที่ได้รับ ได้แก่ ครอบครัว ครูหรือบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มเพื่อน เป็นต้น นำไปเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตประจำวัน หากเด็กและเยาวชนดังกล่าวได้รับค่านิยมในทางที่ผิด เช่น การวิ่งเต้น แข่งขันทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เข้าโรงเรียนดีเด่นดัง การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อแลกกับได้เข้าเรียน การเอาเปรียบสังคม เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ทำให้การทุจริตเป็นเรื่องธรรมดา ลักษณะดังกล่าวย่อมเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อน “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต”
โดยในการจัดสัมมนาสาธารณะหัวข้อดังกล่าว จะมีการนำเสนอผลการวิจัยศึกษาเรื่องยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาภาพรวมการทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เกิดขึ้นในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงสาเหตุและผลกระทบทั้งภายใน และภายนอกจากการทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เกิดขึ้นในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในงานวิจัยชิ้นนี้ มีการเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นว่า กระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 งบประมาณ 517,077 ล้านบาท ปี 2560 งบประมาณ 513,962 ล้านบาท และปี 2561 ได้รับงบประมาณ 510,962 ล้านบาท นับว่าเป็นงบประมาณสูงสูดเมื่อเทียบกับส่วนราชการอื่น อย่างไรก็ดี ในงบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับดังกล่าว กว่าครึ่งเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวคือ สพฐ. ได้รับงบประมาณ ปี 2559 จำนวน 319,321 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 306,201 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 303,759 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีบุคลากรกระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 484,479 คน ดังนั้น ด้วยงบประมาณที่มีมาก จำนวนบุคลากรที่มาก ย่อมมีความเสี่ยงสูงในการทุจริตหากระบบการตรวจสอบและควบคุมภายในยังไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร
"ด้วยเหตุที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีบุคลากรจำนวนมากถึง 484,479 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบกับโดยภาพรวมได้รับการจัดงบประมาณจำนวนมาก แม้ว่างบประมาณดังกล่าวเมื่อกระจายไปทั่วประเทศจะทำให้ดูเหมือนว่าเม็ดเงินที่แต่ละหน่วยได้รับจะไม่มากนัก แต่ถือได้ว่าด้วยบุคลากรที่มีมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ย่อมมีความเสี่ยงสูง ต่อการกระทำที่อาจไม่ถูกต้องหรือการทุจริต โดยหากมีการทุจริตเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเด็ก เยาวชน ชุมชนและสังคม เพราะบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับของสังคมในการเป็นแม่แบบเบ้าหลอมแห่งความดี อยู่ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ บุคลากรทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างสูงยิ่ง" งานวิจัยชิ้นนี้ ระบุ
งานวิจัยยังระบุด้วยว่า บุคลากรทางการศึกษาของสพฐ. เป็นความคาดหวังสำคัญของสังคม ที่จะช่วยปลูกฝังค่านิยมสุจริตให้แก่คนรุ่นใหม่ แต่ขณะเดียวกันในห้วงเวลาเพียง 2 – 3 เดือน ที่ผ่านมา สถานการณ์ที่บุคลากรทางการศึกษาของสพฐ. ถูกกล่าวหาว่า เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต ปรากฏเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง อันได้แก่ การทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต การทุจริตค่าอาหารกลางวัน และการทุจริตสอบครูผู้ช่วย เป็นต้น
ขณะที่ เรื่องกล่าวหาร้องเรียนที่สำนักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดำเนินการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2561 ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2561 มีเรื่องกล่าวหาร้องเรียนที่อยู่ระหว่างดำเนินการแยกตามหน่วยงานที่อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งเท่ากับ 6,967 เรื่อง อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง 1,655 เรื่อง ในขณะที่อันดับสองรองลงมาคือ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเรื่องที่อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริงมีจำนวนถึง 1,963 เรื่อง และเรื่องที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง 104 เรื่อง
ส่วนข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ซึ่งรับผิดชอบการร้องเรียนของหัวหน้าหน่วยงานระดับผู้อำนวยการลงมา พบว่า การร้องเรียนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการระหว่างปี 2551-2561 รวมเวลา 11 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 2,278 เรื่อง โดยปีที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือ ปี 2559 มีจำนวนถึง 597 เรื่องรองลงมาคือปี 2558 มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 491 เรื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาระดับหน่วยงาน แล้ว พบว่า ระหว่างปี 2558 – 2561 หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีการร้องเรียนผ่านความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ท. คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 469 เรื่อง มากเป็นอันดับสอง รองจากมหาวิทยาลัย ซึ่งมีจำนวน 477 เรื่อง แต่ในปี 2558 และปี 2561 สพฐ.กลับถูกร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
นอกจากนี้ เรื่องที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) ตรวจสอบและมีการรายงาน พบว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 – 2560 มีกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องเข้าไปตรวจสอบสืบสวน การตรวจสอบการดำเนินงานหน่วยงานในสังกัดสพฐ. และปรากฏผลการตรวจสอบพบข้อบกพร่องในการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวกับการบริหารการเงินการคลัง หรือพฤติการณ์ทุจริตในการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน จำนวน 43 แห่ง กล่าวคือปีงบประมาณ 2558 จำนวน 7 แห่ง ปีงบประมาณ 2559 จำนวน 19 แห่ง และปีงบประมาณ 2560 จำนวน 17 แห่ง ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะประการหนึ่งที่สำคัญว่า ข้อบกพร่องจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หรือ สาเหตุที่มีการทุจริตมาจากการที่ไม่มีการจัดระบบการควบคุมภายในให้มีมาตรฐาน และไม่มีการจัดระบบการตรวจสอบภายในอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วน นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า ผลจากการศึกษาดังกล่าว ผู้เข้าอบรมหลักสูตร นยปส.9 มีข้อเสนอวิสัยทัศน์การป้องกันการทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยว่า “การศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ใสสะอาด ไร้ทุจริตภายใน 10 ปี” ภายใต้ 2 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1. ยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านการป้องกัน ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ (1) สร้างกลไกป้องกันการทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2) ปลูกฝังจิตสำนึกให้ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว (3) พัฒนาสื่อออนไลน์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศยุทธศาสตร์ที่ 2 ยุทธศาสตร์ด้านกฎหมายและวัฒนธรรม ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ (1) กลไกด้านกฎหมายและวัฒนธรรม (2) ค่านิยมองค์กร (3) กลไกการป้องกันยับยั้งการทุจริต และหลังจากมีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยนี้แล้ว จะมีการเสนอไปยัง สพฐ.เพื่อพิจารณา และจะมีการนำไปทดลองใช้จริงที่โรงเรียนสตรีวิทยา 2 กรุงเทพมหานคร ด้วย